แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ในอันที่จะให้ลูกหนี้ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินเริ่มนับตั้งแต่เมื่อเจ้าหนี้ทวงถามเจ้าหนี้ทวงถามเมื่อครบ 1 เดือน นับแต่วันออกตั๋วสัญญาใช้เงินแต่หาได้ดำเนินการฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้จนลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและเพิ่งมาขอรับชำระหนี้เมื่อพ้นกำหนด 3 ปีนับแต่วันที่ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนด สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1001 และต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94(1) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจากประชาชน การชำระคืนวงเงินขั้นต่ำและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมหรือเงินให้กู้ยืมของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ฉบับลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2524 ซึ่งออกตามความในมาตรา 54(7) แห่ง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจเงินทุนฯ ที่กำหนดให้บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ออกเอกสารการกู้ยืมเงินที่มีกำหนดเวลาจ่ายคืนไม่ต่ำกว่า 3 ปี ให้แก่ผู้ให้กู้และต้องมีข้อกำหนดไม่ให้ไถ่ถอนก่อนกำหนดเวลาด้วยนั้น เป็นข้อกำหนดให้บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจากประชาชนโดยเฉพาะ ไม่นำมาบังคับในการกู้ยืมเงินจากบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ด้วยกัน โดยมีการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน.
ย่อยาว
คดีนี้ นายเติมศักดิ์ กฤษณามระ ผู้ชำระบัญชีร้องขอให้บริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัด ลูกหนี้ (จำเลย) ล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทฯ ลูกหนี้ (จำเลย) ไว้เด็ดขาดบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เจริญผล จำกัด เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของบริษัทฯ ลูกหนี้ (จำเลย) โดยอ้างว่า เป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ย
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่า สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่จะให้บริษัทฯ ลูกหนี้ (จำเลย) ชำระหนี้เป็นอันขาดอายุความฟ้องร้องตามมาตรา 1001 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มูลหนี้ดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้ได้รับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1) เห็นควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้นตามมาตรา 107(1) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2526 บริษัทฯ ลูกหนี้ (จำเลย) ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินสองฉบับ ฉบับละ 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน2,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.2, จ.3 ให้แก่เจ้าหนี้โดยบริษัทฯลูกหนี้ (จำเลย) สัญญาจะจ่ายเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี เมื่อทวงถาม คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้ว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้นั้นขาดอายุความแล้วหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำให้การของนางสาวนลิน วิภูษณมังคละ กรรมการคนหนึ่งของเจ้าหนี้ ที่ให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ความชัดแจ้งแล้วว่า หลังจากบริษัทฯ ลูกหนี้ (จำเลย) ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ก็ไม่ชำระดอกเบี้ยเจ้าหนี้ได้ทวงถามเมื่อครบกำหนด 1 เดือน นับแต่วันออกตั๋วสัญญาใช้เงินแล้ว แต่บริษัทฯ ลูกหนี้(จำเลย) ขอผัดผ่อนชำระดอกเบี้ยพร้อมต้นเงินตลอดมา ดังนี้หากเป็นการทวงถามให้ชำระเฉพาะดอกเบี้ยดังที่เจ้าหนี้ฎีกาแล้วก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่บริษัทฯ ลูกหนี้ (จำเลย) จะขอผัดผ่อนชำระต้นเงินด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ได้มีการทวงถามให้ชำระต้นเงินด้วยดังนั้น สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ในอันที่จะให้บริษัทฯ ลูกหนี้(จำเลย) ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทจึงเริ่มนับตั้งแต่เมื่อเจ้าหนี้ทวงถามซึ่งเจ้าหนี้ได้ทวงถามเมื่อครบกำหนด1 เดือน นับแต่วันออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ปรากฏว่าตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 30 กันยายน 2526 อายุความจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2526 เป็นต้นไป แต่เจ้าหนี้หาได้ดำเนินการฟ้องร้องเรียกให้บริษัทฯ ลูกหนี้ (จำเลย) ชำระหนี้แต่ประการใดจนบริษัทฯ ลูกหนี้ (จำเลย) ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2530 และเพิ่งมาขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2530 พ้นกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001 สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงขาดอายุความและต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94(1) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ส่วนที่เจ้าหนี้ฎีกาว่า บริษัทฯ ลูกหนี้ (จำเลย) และเจ้าหนี้จะต้องปฏิบัติตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจากประชาชน การชำระคืนวงเงินขั้นต่ำ และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมหรือเงินให้กู้ยืมของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ฉบับลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2524 ซึ่งออกตามความในมาตรา 54 (7) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ที่กำหนดให้บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ออกเอกสารการกู้ยืมเงินที่มีกำหนดเวลาจ่ายคืนไม่ต่ำกว่าสามปีให้แก่ผู้ให้กู้ และต้องมีข้อกำหนดไม่ให้ไถ่ถอนก่อนกำหนดเวลาไว้ด้วย ดังนั้น สิทธิเรียกร้องรายนี้จะต้องเริ่มขึ้นอย่างเร็วที่สุดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2529 ตามมาตรา 170 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ยังไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าประกาศดังกล่าวเป็นข้อกำหนดให้บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจากประชาชนโดยเฉพาะ หาได้บังคับในการกู้ยืมเงินจากบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ด้วยกัน โดยมีการออกตั๋วสัญญาใช้เงินดังที่พิพาทกันในคดีนี้ไม่…”
พิพากษายืน.