แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 2และเป็นผู้ควบคุมเรือของจำเลยที่ 2 โดยประมาท ถอยหลังมาชนเรือของโจทก์เสียหายทั้งสองลำ จำเลยที่ 1 กระทำในกิจการของจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์คำฟ้องดังกล่าวเห็นได้ชัดว่า โจทก์มิได้ตั้งข้อหาว่าจำเลยที่ 1เป็นลูกจ้าง และกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หากแต่ตั้งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 ได้กระทำการในกิจการของจำเลยที่ 2 โดยประมาท ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ซึ่งหมายความว่าการควบคุมเรือของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำในกิจการของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1เป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการทำแทนจำเลยที่ 2 ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำเลยที่ 2 จึงมิได้เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2528 จำเลยที่ 1กรรมการของจำเลยที่ 2 ได้ควบคุมเรือประมงของจำเลยที่ 2 ซึ่งเดิมด้วยกำลังเครื่องจักรกลในกิจการของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทถอยหลังชนเรือฉลอมของโจทก์ 2 ลำ ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายจำนวน 248,860 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ควบคุมเรือประมงของจำเลยที่ 2 ในขณะเกิดเหตุ ผู้ควบคุมเรือประมงในขณะเกิดเหตุไม่ใช่ลูกจ้างและไม่ได้ปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1และที่ 2 เหตุที่เรือชนกันมิได้เกิดจากความประมาทของผู้ควบคุมเรือประมง หากแต่เกิดขึ้นเพราะความประมาทของผู้ควบคุมเรือฉลอมทั้งสองลำของโจทก์ ค่าเสียหายของโจทก์ไม่เป็นความจริง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายจำนวน 96,860 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 และเป็นผู้ควบคุมเรือของจำเลยที่ 2 โดยประมาท ถอยหลังมาชนเรือของโจทก์เสียหายทั้งสองลำจำเลยที่ 1 กระทำในกิจการของจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ คำฟ้องดังกล่าวเห็นได้ชัดว่า โจทก์มิได้ตั้งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หากแต่ตั้งข้อหาว่าจำเลยที่ 1เป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 ได้กระทำการในกิจการของจำเลยที่ 2โดยประมาท ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งหมายความว่าการควบคุมเรือของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำในกิจการของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการทำแทนจำเลยที่ 2ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำเลยที่ 2 จึงมิได้เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด
พิพากษายืน