คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3959/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ประกาศวันนัดไต่สวนตามระเบียบแล้ว การคัดค้านของผู้คัดค้านเป็นการร้องขอเข้ามาในคดีเดิม แม้จะร้องขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกด้วย ก็ไม่จำต้องมีคำสั่งให้ประกาศซ้ำอีก

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2531 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายสำรอง ชัยชนะ ผู้ตาย

ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นมารดาของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 2เป็นน้องสาวร่วมมารดาเดียวกันกับผู้ตายและยังเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินทรัพย์มรดกตามน.ส.3 ก. เลขที่ 2467 เนื้อที่ประมาณ 36 ไร่ อยู่ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนผู้ร้องไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้คัดค้านทั้งสองทราบ หลังจากผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกก็ได้จำหน่ายทรัพย์มรดกโดยไม่แบ่งปันให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสองตามสิทธิในกฎหมาย ขอให้สั่งถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก และตั้งให้ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านทั้งสองไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดก เพราะผู้คัดค้านที่ 1 อายุมาก ทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกได้จำหน่ายไปหมดแล้ว ผู้คัดค้านที่ 2มิใช่ทายาทของผู้ตาย ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถอนนางเนือง นาคนวล ผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายสำรอง ชนชนะ ผู้ตายและให้นางสุข สมรูปหรือชนชนะ กับนางเชี้ยน กลิ่นนุ้ยหรือหนูชุม ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อไป

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องในข้อแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกหรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 130/2528 ของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ตายเพียงคนเดียวจึงต้องยุติว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท จึงเข้ามาเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้ เห็นว่า ในคดีดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลฎีกาเอกสารหมาย ร.7 ศาลฎีกามิได้วินิจฉัยถึงผู้คัดค้านที่ 2 โดยมิได้มีการฎีกาในปัญหาของผู้คัดค้านที่ 2 ขึ้นมา จึงไม่อาจรับฟังได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมาโดยจำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า ผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทร่วมกันจริง ผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ สำหรับปัญหาที่ผู้ร้องฎีกาในข้อต่อมาว่า การคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสองมิได้มีการประกาศตามระเบียบในคดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ประกาศวันนัดไต่สวนตามระเบียบแล้วการคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสองเป็นการร้องขอเข้ามาในคดีเดิม แม้จะร้องขอให้ตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกด้วย ก็ไม่จำต้องมีคำสั่งให้ประกาศซ้ำอีก ฎีกาของผู้ร้องในข้อดังกล่าวฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เฉพาะนางเซี้ยน กลิ่นนุ้ย หรือหนูชุม ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อไป

Share