แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จำเลยที่ 1 จะขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูง แต่ทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ด้วยความเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ประกอบกับมีรอยห้ามล้อของรถยนต์ก่อนถึงจุดชนเป็นระยะทางประมาณ 6 เมตร ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้พยายามหยุดรถยนต์เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดการชนกันขึ้น แต่สาเหตุที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นก็เนื่องจากจำเลยที่ 2 ได้ขับรถจักรยานยนต์เลี้ยวตัดหน้ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับในระยะกระชั้นชิดจนเหลือวิสัยที่จำเลยที่ 1จะหยุดรถได้ทัน กรณีจึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่บุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 1 ไม่อาจหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ การที่รถทั้งสองคันเกิดชนกันจึงหาได้เกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300, 390, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 64
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ เฉพาะจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในข้อหาขับรถจักรยานยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานขับรถจักรยานยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. 2522 มาตรา 64 ปรับ 400 บาท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 200 บาท และผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 90 จำคุก 1 ปีปรับ 3,000 บาท รวมจำคุก 1 ปี ปรับ 3,200 บาท แม้จำเลยที่ 2อายุ 17 ปีเศษ ไม่ลดมาตราส่วนโทษให้ พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นควรรอการลงโทษ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 และพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43(4) ประกอบมาตรา 157 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 อันเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 1 ปี ปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกเห็นสมควรรอไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่าในวันเวลาที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน 7 ค-7960กรุงเทพมหานคร ไปตามถนนสายหนองหัวปลวก-วังจิก มุ่งหน้าไปทางวังจิก เมื่อถึงบริเวณที่เกิดเหตุได้มีรถจักรยานยนต์ยี่ห้อซูซูกิ หมายเลขทะเบียน พิษณุโลก จ-2129 ซึ่งจำเลยที่ 2 ขับสวนมาแล้วเลี้ยวขวาตัดหน้ารถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับด้วยความประมาทจึงเกิดชนกัน เป็นเหตุให้นางสาวเจียม ศรีปาน ซึ่งนั่งอยู่ในรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับ และจำเลยที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กายส่วนนางสาวสายชล เสรีพงศ์ ซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยที่ 2 ขับได้รับอันตรายสาหัสอีกทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ต่างก็ได้รับความเสียหาย คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดตามฟ้องด้วยหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุและภาพถ่ายซึ่งพนักงานสอบสวนได้จัดทำไว้ว่า จุดที่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ชนกันอยู่บนผิวจราจรในช่องเดินรถของรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 เป็นคนขับ ประกอบกับนายเคียง นิลดา พยานโจทก์ซึ่งเป็นคนกลางที่ไม่มีส่วนได้เสียในคดีก็เบิกความว่าพยานเห็นรถยนต์แล่นมาด้วยความเร็วก็คิดว่าจะเกิดการชนกันขึ้น เนื่องจากรถจักรยานยนต์แล่นตัดหน้าเข้าไปในช่องเดินรถของรถยนต์ พยานยังได้ร้องตะโกนบอกจำเลยที่ 2 ว่ารถเก๋งมา เห็นว่าแม้จำเลยที่ 1จะขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงแต่ในทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1ขับรถยนต์ด้วยความเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด จากคำเบิกความของนายเคียง ประกอบกับมีรอยห้ามล้อรถยนต์ก่อนถึงจุดชนตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเป็นระยะทางประมาณ 6 เมตร ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้พยายามหยุดรถยนต์เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดการชนกันขึ้น แต่สาเหตุที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นก็เนื่องจากจำเลยที่ 2ได้ขับรถจักรยานยนต์เลี้ยวตัดหน้ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับในระยะกระชั้นชิด จนเหลือวิสัยที่จำเลยที่ 1 จะหยุดรถได้ทันนั่นเองกรณีจึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่บุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 1 ไม่อาจหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ การที่รถทั้งสองคันเกิดชนกันจึงหาได้เกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 ไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2