คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3950/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บุตรโจทก์เกิดกับท. สามีซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสท.ตายแล้วแม้โจทก์ได้ตกลงยินยอมให้บุตรอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของจำเลยแต่อำนาจปกครองก็ยังคงอยู่กับโจทก์ซึ่งเป็นมารดาเมื่อโจทก์ประสงค์จะอุปการะเลี้ยงดูบุตรเองย่อมมีอำนาจกระทำได้เพราะโจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตรกรณีไม่จำต้องพิจารณาว่าได้มีการผิดข้อตกลงกันหรือไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องเรียกบุตรผู้เยาว์สามคนคืนจากจำเลย อ้างว่าเป็นบุตรของโจทก์เกิดแต่นายเท่งเชียง แซ่ลิ้ม โดยมิได้จดทะเบียนสมรส และนายเท่งเชียง แซ่ลิ้ม ถึงแก่กรรมไปแล้ว
จำเลยให้การว่า โจทก์ตกลงยกเด็กทั้งสามคนให้จำเลยอุปการะเลี้ยงดู โดยจำเลยยอมให้เงินแก่โจทก์กับยอมยกหนี้ที่บิดาโจทก์เป็นหนี้จำเลยอยู่ให้ด้วย ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดชี้สองสถาน จำเลยแถลงรับว่าผู้เยาว์ทั้งสามคนเป็นบุตรของโจทก์จริง
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วพิพากษาให้จำเลยคืนบุตรผู้เยาว์ทั้งสามแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่แล้วพิพากษาไปตามรูปคดี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้อง คำให้การและคำแถลงรับของจำเลยว่า เด็กชายสิงห์หา แซ่ลิ้ม เด็กหญิงหงษ์หยกแซ่ลิ้ม และเด็กหญิงรุ้งดาว แซ่ลิ้ม เป็นบุตรโจทก์ซึ่งเกิดกับนายเท่งเชียง แซ่ลิ้ม สามีที่มิได้จดทะเบียนสมรส เมื่อนายเท่งเชียงแซ่ลิ้ม ถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์ได้ตกลงยินยอมให้บุตรทั้งสามคนอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของจำเลย ปัญหามีว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องให้จำเลยส่งบุตรทั้งสามคนมาอยู่ในความปกครองของโจทก์หรือไม่เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 บัญญัติว่าเด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น มาตรา 1566 วรรคท้าย บัญญัติว่า อำนาจปกครองอยู่กับมารดาในกรณีที่บุตรเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายและยังมิได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 และมาตรา 1567บัญญัติว่า ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ (1) กำหนดที่อยู่ของบุตรและ (4) เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกับบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมายดังนั้น แม้โจทก์จะได้ตกลงยินยอมให้จำเลยเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสามคนนั้นก็ตาม แต่อำนาจปกครองไม่ได้อยู่กับจำเลย อำนาจปกครองยังคงอยู่กับโจทก์ผู้เป็นมารดา เมื่อโจทก์ประสงค์จะให้ความอุปการะเลี้ยงดูบุตรของโจทก์เองย่อมมีอำนาจกระทำได้ เพราะโจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตร กรณีไม่จำต้องพิจารณาว่าได้มีการผิดข้อตกลงกันหรือไม่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่แล้วพิพากษาไปตามรูปคดีนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share