แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
รายงานชันสูตรบาดแผลนั้นไม่มีกฎหมายบังคับว่า ต้องให้เจ้าพนักงานเป็นผู้ทำ โจทก์จึงต้องนำสืบให้ศาลเห็นว่าผู้ทำเป็นเจ้าพนักงานต่างกับการชันสูตรพลิกศพ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ได้บัญญัติไว้ ซึ่งเมื่อนายแพทย์ได้ทำการชันสูตรพลิกศพด้วยศาลย่อมรับรู้ว่านายแพทย์เป็นเจ้าพนักงาน
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำผิดกฎหมายต่างกรรมต่างวาระกันโดยหมิ่นประมาทใส่ความและหมิ่นประมาทเจ้าพนักงาน ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา ม.326, 136
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยยื่นคำให้การเพิ่มเติมโดยขอถอนคำให้การเดิมบางข้อ รับสารภาพว่าได้กล่าววาจาหมิ่นประมาทโจทก์ตามฟ้อง และจำเลยกับผู้เสียหายได้ประนีประนอมกันผู้เสียหายไม่ติดใจว่ากล่าวเอาความต่อไป ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 เป็นอันระงับแล้วโจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยาน ขอให้ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 หรือไม่
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวมีความหมายไปในทางใส่ความตามประมวลกฎหมายอาญา ม.326 ไม่มีข้อความหรือคำกล่าวใดที่เป็นการดูหมิ่นตาม มาตรา 136 และฟ้องโจทก์มิได้กล่าวให้ชัดว่าถ้อยคำใดเป็นการดูหมิ่นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้ามีบทกฎหมายบัญญัติไว้เช่นการชันสูตรพลิกศพตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 และนายแพทย์ได้ทำการชันสูตรพลิกศพด้วยศาลย่อมรับรู้ว่านายแพทย์เป็นเจ้าพนักงาน ถ้าไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้ แต่นายแพทย์มีหน้าที่โดยเหตุอื่น โจทก์ก็ต้องนำสืบให้ศาลเห็น สำหรับรายงานชันสูตรบาดแผลนั้นไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องให้เจ้าพนักงานเป็นผู้ทำ ผู้อื่นที่เป็นแพทย์มิใช่เจ้าพนักงานก็ทำได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับฟังว่านายแพทย์ประสงค์เป็นเจ้าพนักงานและพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว
จึงพิพากษายืน ให้ยกฎีกาของโจทก์