คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3945/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ลูกหนี้ตกลงชำระหนี้งวดแรกตามคำพิพากษาตามยอมในวันที่ 30 สิงหาคม 2528 แต่ลูกหนี้ไม่ชำระ เจ้าหนี้จึงชอบที่จะบังคับ คดีเพื่อรับชำระหนี้ดังกล่าวทั้งหมดได้ ภายในกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2528 เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 ดังนั้น การที่ เจ้าหนี้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องให้ลูกหนี้เป็น บุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2538 ซึ่งอยู่ในกำหนด 10 ปี จึงสามารถกระทำได้ และการฟ้องคดีดังกล่าวมีผลทำให้ อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 19/32 ด้วยเหตุนี้แม้เจ้าหนี้จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ในวันที่ 8 ธันวาคม 2538 ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลา บังคับคดี 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้วก็ตาม ก็ต้องถือว่าคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ยื่นใน ระหว่างอายุความสะดุดหยุดลง ซึ่งไม่เป็นการต้องห้ามมิให้ ได้รับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นคดีหมายเลขแดงที่ 8090/2528 เป็นเงิน 5,879,900.39 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ รายละเอียดตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า หนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ เจ้าหนี้มิได้ร้องขอบังคับภายใน 10 ปี จึงหมดสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1) เห็นสมควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107(1)
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งว่า เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้ว่า คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ขาดอายุความอันต้องห้ามมิให้รับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1) หรือไม่ ปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดแรกตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เจ้าหนี้มีสิทธิขอร้องให้บังคับคดีได้ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2528 เป็นต้นไป ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้ การที่เจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 8 ธันวาคม 2538 ซึ่งเป็นเวลาล่วงพ้นกำหนด 10 ปีแล้ว จึงเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้หมดสิทธิขอให้บังคับคดีต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1) นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีเรื่องนี้หาใช่เจ้าหนี้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีแพ่งไม่ จะนำระยะเวลาการบังคับคดี 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 มาปรับแก่กรณีนี้หาได้ไม่เพราะกำหนดเวลาให้บังคับคดีดังกล่าวมิใช่อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องอันจะอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อปรากฏว่าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมลูกหนี้ได้ตกลงจะชำระหนี้งวดแรกในวันที่ 30 สิงหาคม 2528 การที่ลูกหนี้มิได้ชำระ เจ้าหนี้ก็ชอบที่จะบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ทั้งหมดได้นับแต่วันที่ 31สิงหาคม 2528 เป็นต้นไปภายใน 10 ปี เพราะหนี้เงินดังกล่าวเป็นสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษา ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 บัญญัติให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี เมื่อปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ฟ้องลูกหนี้ให้เป็นบุคคลล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้จำนวนเงินตามคำพิพากษาดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2538 อันเป็นเวลาที่ยังไม่พ้นกำหนด10 ปี เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธินำหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาเป็นมูลฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายได้และมีผลเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 จึงต้องเริ่มนับอายุความโดยเริ่มนับแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง คือถัดจากวันที่เจ้าหนี้ฟ้องคดีนี้ ดังนี้ คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้แม้จะยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2538 ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้วก็ตาม ก็ต้องถือว่าคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ยืนในระหว่างอายุความสะดุดหยุดลง จึงไม่เป็นการต้องห้ามมิให้ได้รับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1) ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของเจ้าหนี้ฟังขึ้น
สำหรับประเด็นที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แก้ฎีกาว่าหากเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ เจ้าหนี้คงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นเงิน 1,997,276.60 บาท พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ 19,000 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ในต้นเงิน 1,914,783.53 บาทนับแต่วันที่ 25 มกราคม 2528 (วันถัดจากวันฟ้อง) ถึงวันที่ 26ตุลาคม 2538 (วันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด) คิดเป็นดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงิน 3,809,238.85 บาท รวมเป็นเงินที่เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ 5,825,515.45 บาท แต่เจ้าหนี้ขอมา 5,879,900.39บาท นั้นเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความปรากฏว่าเจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2528 ตามคดีหมายเลขดำที่ 1449/2528 ของศาลชั้นต้น แล้วลูกหนี้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความยินยอมชำระหนี้ให้เจ้าหนี้เป็นเงิน 1,997,276.60 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ในต้นเงิน 1,914,783.53 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ฉะนั้น เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในวันที่ 26 ตุลาคม 2538 เจ้าหนี้จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ถึงวันที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเท่านั้น คือ วันที่ 26 ตุลาคม 2538 จึงให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แก้ฎีกามา เมื่อคิดคำนวณแล้วรวมเป็นเงินที่เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ทั้งสิ้น 5,825,515.45 บาท ที่เจ้าหนี้ขอเกินมา 54,384.94 บาท ให้ตัดเสีย”
พิพากษากลับ ให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ขอรับชำระหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวนเงิน 5,825,515.45 บาท

Share