คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3945/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มอบให้ทนายมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้กู้ เบิกเงินเกินบัญชี และไถ่ถอนจำนองให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่ วันที่ได้รับหนังสือจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าววันที่ 18 สิงหาคม 2522 ถือได้ว่ามีการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดตั้งแต่วันที่ครบกำหนดตามที่ บอกกล่าวคือในวันที่ 17 กันยายน 2522 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเพียงวันที่ 17 กันยายน 2522 ต่อจากนั้นคงคิดได้แต่ดอกเบี้ยตามธรรมดา
ผู้ค้ำประกันย่อมต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเพียงเท่าที่ตนยอมค้ำประกัน ข้อสัญญาที่ผู้รับจำนองค้ำประกันมีสิทธิบังคับจำนองสำหรับหนี้ต้นเงินที่เกินวงเงินจำนองค้ำประกันด้วยนั้น เป็นการให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดเกินกว่าที่ตนยอมค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดในต้นเงินที่เกินกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาค้ำประกัน
จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 30,000 บาทปรากฏตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์ครั้งสุดท้ายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2520 เป็นเงิน 16,031 บาท69 สตางค์โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นตั้งแต่วันนี้ ส่วนวิธีคิดดอกเบี้ยทบต้นเพื่อให้ผู้ค้ำประกันรับผิดนั้นต้องดูรายการที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์เต็มตามวงเงินที่ค้ำประกันเป็นวันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยทบต้น ปรากฏตามรายการบัญชีเดินสะพัดว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2520 เป็นเงิน 43,031 บาท 69 สตางค์ จึงให้ถือเอา วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2520 เป็นวันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยทบต้นในต้นเงิน 30,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 จนถึงวันที่ 17 กันยายน 2522 อันเป็นวันสุดท้ายที่โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น ต่อจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยตามปกติ
การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ ดังนั้นแม้จำเลยที่ 4 จะมิได้ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 4 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทเงินฝากกระแสรายวันไว้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาลำปาง จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในบัญชีเดินสะพัดของจำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นเงิน 30,000 บาท อัตราดอกเบี้ยทบต้นร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีจำเลยที่ 2ได้นำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาจำนองเป็นประกัน จำเลยที่ 1 ได้ขอเพิ่มวงเงินเบิกเกินบัญชีอีก 50,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 3 นำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาจำนองเป็นประกันกับมีจำเลยที่ 4 นำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาจำนองเป็นประกันเป็นเงิน 25,000 บาท จำเลยที่ 1 ขอเพิ่มวงเงินเบิกเกินบัญชีอีก 20,000 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ขอกู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งหมด 100,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คเบิกเงินเกินบัญชีและนำเงินเข้าบัญชีหักทอนหนี้ตลอดมาจนถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2521 จำเลยที่ 1 ไม่นำเงินเข้าบัญชีหักทอนหนี้อีกเลย จนถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2522 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ตามบัญชีเดินสะพัดเป็นเงิน 461,780 บาท 54 สตางค์ โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้จำนวนดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ยจนถึงวันชำระเสร็จภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยทั้งสี่ได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว ก็ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือน นับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2519 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 เริ่มเป็นหนี้โจทก์จนถึงวันที่ 17 กันยายน 2522 อันเป็นวันครบกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวของโจทก์ ซึ่งถือว่าเป็นวันสิ้นสุดบัญชีเดินสะพัดต่อกันเป็นเงินทั้งสิ้น 471,699 บาท 43 สตางค์ ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ภายในวงเงินไม่เกิน50,000 บาท จำเลยได้รับหนังสือจากทนายโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองภายใน 30 วัน เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2521 อันถือได้ว่าเป็นการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2521 เป็นต้นไปนับแต่วันเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัด โจทก์จะคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกไม่ได้คงคิดได้เพียงดอกเบี้ยธรรมดา ฯลฯ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 1 ที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 468,248 บาท 44 สตางค์พร้อมด้วยดอกเบี้ย ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 34,111 บาท 55 สตางค์ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 58,631 บาท 15 สตางค์ กับดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 2,934 บาท 48 สตางค์ กับดอกเบี้ย

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้ให้โจทก์496,705 บาท 95 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกาข้อแรกว่า โจทก์เคยแจ้งให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองตามหนังสือลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2521จำเลยที่ 3 ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 5 เดือนเดียวกัน ถือว่าเป็นการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดตั้งแต่วันนั้นส่วนโจทก์ตั้งประเด็นในคำแก้ฎีกาว่า บัญชีเดินสะพัดเลิกกันเมื่อครบกำหนดบอกกล่าวคือวันที่ 17 กันยายน 2522

ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงเมื่อจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ฉบับลงวันที่ 10 สิงหาคม 2522 จากโจทก์นั้น จำเลยมิได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ การที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2521 จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 และเห็นว่าตามหนังสือของทนายโจทก์ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2522 ที่บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีและให้ไถ่ถอนจำนองให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าวเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2522 จึงครบกำหนดในวันที่ 17 กันยายน 2522 จึงต้องถือว่าวันที่ 17 กันยายน2522 เป็นวันเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 259 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเพียงแค่วันที่ 17 กันยายน 2522 ระยะเวลาต่อจากนั้นโจทก์จะคิดได้เฉพาะดอกเบี้ยตามปกติ

ปัญหาเรื่องความรับผิดของจำเลยผู้ค้ำประกันนั้น ได้ความว่าสัญญาค้ำประกันทั้งสามฉบับมีข้อความอย่างเดียวกัน ได้ระบุเงื่อนไขความรับผิดของผู้ค้ำประกันไว้ว่า นอกจากจำนวนต้นเงินที่ผู้ค้ำประกันตกลงค้ำประกันแล้ว ยังมีหนี้อุปกรณ์คือดอกเบี้ยค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้ ค่าใช้จ่ายและค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนองซึ่งผู้ค้ำประกันยอมชดใช้ต่างหากและยอมให้ทรัพย์ที่จำนองเป็นประกันถึงหนี้อุปกรณ์เหล่านี้ด้วยผู้ค้ำประกันจะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีและนำส่งชำระทุก ๆ เดือนภายในวันสิ้นเดือนเสมอไป ในกรณีมีการผิดนัดไม่ส่งดอกเบี้ยตามบัญชีเดินสะพัด ให้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามประเพณีการค้าของธนาคารพาณิชย์ กล่าวคือนำเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระไปรวมเป็นต้นเงินสมทบเข้ากับต้นเงินที่เป็นต้นเงินที่เป็นหนี้อยู่ในขณะนั้นแล้วคิดดอกเบี้ยต่อไป นอกจากนี้ก็มีข้อความระบุให้ผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับจำนองสำหรับหนี้ต้นเงินที่เกินจำนวนเงินค้ำประกันไปไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ

ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ค้ำประกันย่อมต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเพียงเท่าที่ตนยอมค้ำประกัน ข้อสัญญาที่ให้ผู้รับจำนองค้ำประกันมีสิทธิบังคับจำนองสำหรับหนี้ต้นเงินที่เกินวงเงินจำนองค้ำประกันด้วยนั้นเป็นการให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดเกินกว่าที่ตนยอมค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดในต้นเงินที่เกินกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2519 ในวงเงิน 30,000 บาท จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2519 ในวงเงิน 50,000 บาท แต่ปรากฏตามบัญชีเดินสะพัดของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีหักทอนหนี้หมดและกลับเป็นเจ้าหนี้โจทก์แล้วเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2520 ต่อมาวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2520 จึงได้กลับเป็นลูกหนี้โจทก์อีกเป็นเงิน 16,031 บาท 69 สตางค์ โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นตั้งแต่วันนี้ ดอกเบี้ยที่ทบเข้ากับต้นเงินนั้นถือเป็นต้นเงินต่อไป วิธีคิดดอกเบี้ยทบต้นเพื่อให้ผู้ค้ำประกันรับผิดจึงต้องดูรายการบัญชีเดินสะพัดตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2520 เป็นต้นไป และถือเอารายการที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์เต็มตามวงเงินที่ค้ำประกันเป็นวันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยทบต้นปรากฏตามรายการบัญชีเดินสะพัดว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2520 เป็นเงิน 43,031 บาท 69 สตางค์ จึงให้ถือเอาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2520 เป็นวันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยทบต้นในต้นเงิน 30,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 จนถึงวันที่ 17 กันยายน 2522 อันเป็นวันสุดท้ายที่โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นต่อจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยตามปกติ โดยวิธีเดียวกันนี้ให้คิดดอกเบี้ยทบต้นในต้นเงิน 50,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2520 เป็นต้นไป

ส่วนจำเลยที่ 4 ผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกันแต่มิได้ฎีกานั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคท้ายจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันหนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 4 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 และ 247 โดยให้เริ่มคิดดอกเบี้ยทบต้นในต้นเงิน 25,000 บาทตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2520

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 471,699 บาท 43 สตางค์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปีนับแต่วันที่ 18 กันยายน 2522จนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ ในจำนวนเงินดังกล่าว ให้จำเลยอื่นร่วมรับผิดด้วยดังนี้ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในต้นเงิน 30,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2520 จนถึงวันที่ 17 กันยายน 2522 ต่อจากกันให้คิดดอกเบี้ยตามปกติจากต้นเงินที่รวมดอกเบี้ยทบต้นเข้าด้วยแล้วในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 18 กันยายน 2522 จนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้นำเงินจำนวน 51,835 บาท มาวางศาลเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2523 เพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ ถ้าปรากฏว่าจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเมื่อคำนวณถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2523 ไม่เกินจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2 นำมาวางศาลแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยต่อจากวันที่นำเงินมาวางศาลอีกต่อไป ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในต้นเงิน 50,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2520 จนถึงวันที่ 17 กันยายน 2522 ต่อจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยตามปกติในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในต้นเงิน 25,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนอัตราร้อยละ15 ต่อปีตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2520 จนถึงวันที่ 17 กันยายน 2522 ต่อจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยตามปกติในอัตราร้อยละ15 ต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ไม่ชำระหนี้ ให้นำทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์ ถ้าขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ต้องร่วมรับผิดให้บังคับจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จนกว่าจะครบจำนวนหนี้ที่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share