แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์จะเป็นตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไปเกี่ยวกับกิจการในสำนักงานสาขาชลบุรีของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 วรรคหนึ่ง แต่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ก็ไม่ถูกจำกัดอำนาจในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 801 วรรคสอง (5) เพราะหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ระบุให้อำนาจแก่ผู้รับมอบอำนาจ โจทก์ฟ้องคดีไว้โดยชัดแจ้งแล้ว และเป็นการมอบอำนาจทั่วไปให้ดำเนินคดีสำหรับคดีต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นที่สาขาชลบุรีของโจทก์ ไม่ใช่เป็นการมอบอำนาจแต่เฉพาะการตามมาตรา 800 โจทก์จึงไม่ต้องกล่าวในหนังสือมอบอำนาจโดยระบุชื่อนิติบุคคลหรือบุคคลที่จะต้องถูกดำเนินคดีหรือถูกฟ้องมาด้วย และการมอบอำนาจทั่วไปให้ดำเนินคดีดังกล่าวย่อมหมายถึงให้ดำเนินคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสาขาชลบุรีของโจทก์ ไม่ว่าคดีนั้นจะได้เกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันทำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ดังนั้น ป. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ซึ่งมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์โดยสมบูรณ์ในขณะยื่นฟ้องจึงมีอำนาจแต่งตั้ง น. ทนายความยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ได้
ตามคำฟ้องของโจทก์ แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับเงินไทยเท่าใดในวันที่หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระมาโดยชัดแจ้ง แต่โจทก์ก็ได้แนบสำเนาใบแจ้งการครบกำหนดชำระหนี้และสำเนาบัญชีแสดงยอดหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับมาท้ายคำฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องโดยระบุถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันครบกำหนดชำระหนี้แต่ละจำนวนไว้โดยชัดแจ้ง จำเลยที่ 1 สามารถตรวจดูเพื่อสู้คดีให้ถูกต้องได้ คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ถือว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าระยะเวลาที่กำหนดให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นมากน้อยเพียงใดจึงจะเป็นเวลาอันสมควร จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป โจทก์ได้มอบหมายให้ น. ทนายความบอกกล่าวบังคับจำนอง ไปยังจำเลยที่ 1 โดยกำหนดระยะเวลาให้ชำระหนี้ภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับหนังสือบอกกล่าว แม้จำนวนหนี้จำนองที่โจทก์เรียกร้องทวงถามจะสูงถึง 376,479,799.79 บาท แต่หนี้จำนวนดังกล่าวจำเลยที่ 1 ทราบดีว่าจะต้องชำระแก่โจทก์ ณ วันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับก่อนหน้าที่ทนายโจทก์จะมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว และหลังจากนั้นอีก 1 ปีเศษ โจทก์จึงมอบหมายให้ทนายโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองส่งไปให้จำเลยที่ 1 โดยให้เวลาจำเลยที่ 1 ชำระหนี้อันเป็นการไถ่ถอนจำนองได้อีก 15 วันนับแต่วันได้รับหนังสือบอกกล่าว ตามพฤติการณ์ถือได้ว่ากำหนดเวลาบอกกล่าวบังคับจำนองนั้นพอสมควรและชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองได้
ตามสัญญาระบุไว้ว่าจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บได้ตามประกาศของโจทก์นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ดอกเบี้ยตามข้อสัญญาดังกล่าวย่อมหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากลูกค้าที่มิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญากับโจทก์ โดยดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากลูกค้าที่ไม่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขอัตราสูงสุดได้แก่ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อทั่วไปของธนาคาร (จีแอลอาร์) และตามสัญญาได้ระบุไว้ด้วยว่าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ค้างชำระในอัตราตามที่กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้น นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นข้อสัญญาดังกล่าวมีความหมายว่าโจทก์จะคิดดอกเบี้ยอัตราสูงสุดจากจำเลยที่ 1 ได้ในอัตราเดียว คือ อัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อทั่วไปของธนาคาร (จีแอลอาร์) เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อสูงสุดของโจทก์ที่เรียกจากลูกค้าซึ่งปฏิบัติผิดเงื่อนไข (ซีแอลอาร์) ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายปานศักดิ์ รัตนภาสกร ฟ้องคดีจำเลยที่ 1 ได้ขอทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์จำนวน 6 ฉบับ แล้วรับเอกสารจากโจทก์ไปรับสินค้าที่ส่งจากต่างประเทศไปจำหน่าย โดยจำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าสินค้าที่โจทก์ชำระแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อนพร้อมค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาดังกล่าวคืนแก่โจทก์ ในการขอสินเชื่อจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักรไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ทุกประเภททั้งในปัจจุบันและอนาคตของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ โดยตกลงว่าหากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นชำระหนี้จนครบ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ร่วมกันทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ทั้งในปัจจุบันและอนาคตทุกประเภทต่อโจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน383,568,875.76 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 313,637,906.75 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า นายจุลกร สิงหโกวินท์ กับนายประเสริฐ ภัทรประสิทธิ์ (ผู้มอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจท้ายคำฟ้อง) มิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ในขณะมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเท่ากับเงินบาทเป็นจำนวนเท่าใด ณ วันที่หนี้ครบกำหนด จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ตามคำฟ้อง แต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ขอกู้เงินสกุลต่างประเทศจากโจทก์และโจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง กับไม่มีสิทธิคิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 1/8ต่อระยะเวลา 30 วัน โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี การออกหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองให้เวลาที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระหนี้เพียง 15 วัน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์เปลี่ยนเงินกู้จากสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทซึ่งขณะนั้นอัตราแลกเปลี่ยนเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 30 บาท เพื่อจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองแต่โจทก์ไม่ได้ดำเนินการให้ ทำให้จำเลยที่ 1 เป็นหนี้จำนวนมากขึ้นธุรกิจของจำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายอย่างมากขาดความเชื่อถือจากวงการค้า จำเลยที่ 1 ขอคิดค่าเสียหายจากโจทก์เป็นเงิน 300,000,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 300,000,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เพราะเห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระเงินค่าขึ้นศาลสำหรับฟ้องแย้ง และฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม แต่ให้รับคำให้การจำเลยทั้งสี่พร้อมกับให้นัดสืบพยานโจทก์ก่อนโดยเห็นว่าคดีไม่จำต้องมีการชี้สองสถาน
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 383,568,875.76 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 313,637,906.75 บาท นับถัดจากวันฟ้อง(ฟ้องวันที่ 25 พฤษภาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ก็ให้ยึดทรัพย์จำนองคือที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 48049, 69975และ 69261 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างและที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 20007 ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา (บางพระ) จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง กับเครื่องจักร รวม 59 เครื่อง ซึ่งตั้งอยู่ในโรงงานเลขที่ 99/9 หมู่ที่ 10 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์คำพิพากษาและอุทธรณ์คำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยอนุญาตให้โจทก์ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้รับมอบอำนาจโจทก์แทนการซักถามพยานของทนายโจทก์ และที่ให้ถือว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ติดใจถามค้านผู้รับมอบอำนาจโจทก์
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”เห็นสมควรยกปัญหาตามอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสี่ขึ้นวินิจฉัยเสียก่อนว่าที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดำเนินกระบวนพิจารณาโดยอนุญาตให้โจทก์ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานแทนการซักถามพยานต่อหน้าศาลตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ข้อ 29 นั้น เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า โจทก์จะใช้บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานแทนการซักถามพยานไม่ได้เพราะข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ออกโดยมีนายอัครวิทย์สุมาวงศ์ เป็นผู้ลงลายมือชื่อและผู้ลงลายมือชื่อมีตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา มิใช่เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตัวจริง นายอัครวิทย์จะออกข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ในขณะที่มิได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาไม่ได้ ข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 จึงเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบ ไม่มีผลใช้บังคับ เห็นว่า ในตอนท้ายข้อกำหนดดังกล่าวได้ระบุตำแหน่งของนายอัครวิทย์ไว้ว่า “ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาช่วยทำงานในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง”ซึ่งจำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งเป็นอย่างอื่น ดังนั้น จึงฟังได้ว่าที่นายอัครวิทย์ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาไปปฏิบัติราชการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และออกประกาศใช้ข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ. 2540 ในฐานะผู้พิพากษาอธิบดีศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนั้น เป็นเพราะนายอัครวิทย์ได้รับคำสั่งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งดังกล่าวซึ่งไม่ต่ำกว่าตำแหน่งที่นายอัครวิทย์ดำรงอยู่อันเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะมีคำสั่งเช่นนั้นได้ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. 2521 มาตรา 21 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เมื่อนายอัครวิทย์ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย นายอัครวิทย์ย่อมมีอำนาจหน้าที่ที่จะปฏิบัติราชการในฐานะอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังนั้น นายอัครวิทย์จึงมีอำนาจที่จะออกข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539ได้เมื่อปรากฏว่าข้อกำหนดดังกล่าวได้รับอนุมัติจากประธานศาลฎีกาและได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้โดยชอบแล้ว ข้อกำหนดดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดำเนินกระบวนพิจารณาตามข้อกำหนดดังกล่าวในข้อ 29 โดยอนุญาตให้โจทก์ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้รับมอบอำนาจโจทก์ต่อศาลแทนการซักถามพยานต่อหน้าศาลจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อผู้รับมอบอำนาจโจทก์มาศาลเพื่อเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสี่ แต่ทนายจำเลยทั้งสี่กลับไม่ยอมถามค้านผู้รับมอบอำนาจโจทก์ จึงเป็นความผิดของทนายจำเลยทั้งสี่เองที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปโดยถือว่าทนายจำเลยทั้งสี่ไม่ติดใจถามค้านผู้รับมอบอำนาจโจทก์นั้น จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วเช่นเดียวกัน จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดำเนินกระบวนพิจารณาโดยการสืบพยานคู่ความเสียใหม่ตามที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ และศาลย่อมรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้รับมอบอำนาจโจทก์รวมทั้งเอกสารที่โจทก์ยื่นต่อศาลเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ในคดีนี้ได้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ในข้อแรกว่า นายปานศักดิ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้โดยชอบหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์โดยยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ว่า โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจอันเป็นการตั้งตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 ให้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ดำเนินคดีแทนโจทก์ แต่หนังสือมอบอำนาจหรือหนังสือตั้งตัวแทนดังกล่าวมิได้ระบุว่าให้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่และขณะที่โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2535 โจทก์ยังไม่มีนิติสัมพันธ์ในลักษณะสัญญาทรัสต์รีซีทตามคำฟ้องกับจำเลยที่ 1 รวมทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสี่ยังมิได้มีข้อพิพาทต่อกัน หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงไม่ก่อให้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ได้ เห็นว่า ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งสี่จึงมีสิทธิยกขึ้นอุทธรณ์ได้แม้จะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้มาในคำให้การก็ตาม ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 38 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคสอง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ตรวจดูหนังสือมอบอำนาจแล้ว ปรากฏว่าตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายปานศักดิ์ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาชลบุรีของโจทก์มีอำนาจที่จะดำเนินกิจการของโจทก์ในส่วนที่เป็นกิจการของสาขาชลบุรีของโจทก์ อาทิเช่น การกระทำอันเป็นปกติธุรกิจของโจทก์รับจำนอง ปลดจำนอง รับจำนำ รับค้ำประกันทำสัญญากับบุคคลอื่นในธุรกิจของโจทก์ เรียกร้องทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนรวมทั้งดำเนินคดี ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา และคดีล้มละลายในศาล เป็นต้น เห็นว่า แม้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์จะเป็นตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไปเกี่ยวกับกิจการในสำนักงานสาขาชลบุรีของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 801 วรรคหนึ่ง ดังที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ แต่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ก็ไม่ถูกจำกัดอำนาจในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 801 วรรคสอง (5) เพราะหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ระบุให้อำนาจแก่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ฟ้องคดีไว้โดยชัดแจ้งแล้ว และเป็นการมอบอำนาจทั่วไปให้ดำเนินคดีสำหรับคดีต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นที่สาขาชลบุรีของโจทก์ มิใช่เป็นการมอบอำนาจแต่เฉพาะการตามมาตรา 800 โจทก์จึงไม่จำต้องกล่าวในหนังสือมอบอำนาจโดยระบุชื่อนิติบุคคลหรือบุคคลที่จะต้องถูกดำเนินคดีหรือถูกฟ้องมาด้วย และการมอบอำนาจทั่วไปให้ดำเนินคดีดังกล่าวย่อมหมายถึงให้ดำเนินคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสาขาชลบุรีของโจทก์ ไม่ว่าคดีนั้นจะได้เกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันทำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวด้วย ดังนั้น แม้หนังสือมอบอำนาจจะมิได้ระบุชื่อจำเลยทั้งสี่ว่าเป็นผู้ที่จะต้องถูกฟ้องก็ดี ขณะโจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจจำเลยที่ 1 ยังมิได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์และข้อพิพาทคดีนี้เพิ่งเกิดขึ้นหลังวันทำหนังสือมอบอำนาจก็ดี ก็หาใช่ข้อสำคัญไม่ นายปานศักดิ์ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ซึ่งมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ โดยสมบูรณ์ในขณะยื่นฟ้องจึงมีอำนาจแต่งตั้งนายนพ รัตติธรรม ทนายความยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ได้โดยชอบ
ที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ข้อต่อมาว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมนั้น เห็นว่าในปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่ให้การต่อสู้คดีไว้ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หาได้ให้การต่อสู้คดีไว้ไม่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้เพราะถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้มาในอุทธรณ์ฉบับเดียวกับจำเลยที่ 1 และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งรับเป็นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มาด้วย ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยให้ คงรับวินิจฉัยให้เฉพาะเป็นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เท่านั้นและเห็นว่า แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะยังมิได้มีคำวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ แต่เมื่อคดีได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศแล้ว เพื่อมิให้คดีล่าช้า จึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยก่อน ในปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์มิได้บรรยายว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับเงินไทยจำนวนเท่าใด ณ วันที่หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระ จึงทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ทราบจำนวนหนี้เงินไทยที่โจทก์ฟ้องว่าถูกต้องหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิจารณาแล้ว เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ แม้โจทก์จะมิได้บรรยายว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับเงินไทยเท่าใดในวันที่หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระมาโดยชัดแจ้งดังที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ แต่โจทก์ก็ได้แนบสำเนาใบแจ้งการครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับและแนบสำเนาบัญชีแสดงยอดหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับมาท้ายคำฟ้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องโดยเอกสารดังกล่าวได้ระบุถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันครบกำหนดชำระหนี้แต่ละจำนวนไว้โดยชัดแจ้งแล้ว จำเลยที่ 1 สามารถตรวจดูเพื่อต่อสู้คดีให้ถูกต้องได้ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวได้แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ถือว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ. 2540 ข้อ 6 วรรคหนึ่ง คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 เพราะโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนองเป็นต้นเงินจำนวนสูงถึง 313,637,906.75 บาท กับดอกเบี้ยอีกจำนวน 62,841,893.04 บาท โดยให้ระยะเวลาเพียง 15 วัน ไม่เพียงพอที่จำเลยที่ 1 จะหาเงินจำนวนดังกล่าวมาไถ่ถอนจำนองให้ทันภายในกำหนดได้ระยะเวลา 15 วันดังกล่าว จึงมิใช่เวลาอันสมควร ไม่ชอบที่ศาลจะสั่งให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาด ในปัญหาข้อนี้ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำนองเฉพาะทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็พิพากษาให้บังคับจำนองเฉพาะทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในกรณีนี้ จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในข้อนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในข้อนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะสั่งรับเป็นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มาด้วย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็ไม่รับวินิจฉัยให้ คงรับวินิจฉัยให้เฉพาะเป็นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น และเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 ได้บัญญัติว่า “เมื่อจะบังคับจำนองนั้น ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร…” เห็นได้ว่ากฎหมายมิได้บัญญัติไว้ว่าระยะเวลาที่กำหนดให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นมากน้อยเพียงใดจึงจะเป็นเวลาอันสมควรจึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความจากบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายปานศักดิ์ รัตนภาสกร ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และหนังสือบอกกล่าวว่า โจทก์ได้มอบหมายให้นายนพ รัตติธรรม ทนายความบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 โดยกำหนดระยะเวลาให้ชำระหนี้ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือบอกกล่าวแม้จำนวนหนี้จำนองที่โจทก์เรียกร้องทวงถามจะสูงถึง 376,479,799.79บาท แต่หนี้จำนองจำนวนดังกล่าวจำเลยที่ 1 ก็ทราบดีว่าจะต้องชำระแก่โจทก์ ณ วันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับก่อนหน้าที่ทนายโจทก์จะมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว โดยหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับแรกครบกำหนดชำระหนี้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2540 ส่วนฉบับสุดท้ายครบกำหนดชำระหนี้เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2541 และหลังจากนั้นอีก 1 ปีเศษ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2542 โจทก์จึงมอบหมายให้ทนายโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองส่งไปให้จำเลยที่ 1 โดยให้เวลาจำเลยที่ 1 ชำระหนี้อันเป็นการไถ่ถอนจำนองได้อีก 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือบอกกล่าว ตามพฤติการณ์จึงถือได้ว่ากำหนดเวลาบอกกล่าวบังคับจำนองนั้นพอสมควรและชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองเพื่อยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ สรุปแล้วศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ
แต่อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์จะต้องปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14(2) และตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดหลักเกณฑ์เปลี่ยนแปลงการเรียกดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ใหม่เป็นให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกจากลูกค้าประเภทต่าง ๆ ได้เองตามเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด หลังจากนั้นในระหว่างเดือนธันวาคม 2539 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2542 โจทก์จึงได้ออกประกาศเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเพื่อถือปฏิบัติในการเรียกดอกเบี้ยรวม 26 ฉบับ และโจทก์ได้คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราลอยตัวระหว่างวันที่ 6 มกราคม 2541 ถึงวันฟ้อง ในอัตราร้อยละ 25 ต่อปี 16.25 ต่อปี15.75 ต่อปี 15.50 ต่อปี 14.50 ต่อปี 12 ต่อปี 11 ต่อปี 10.75 ต่อปี 10 ต่อปี 9.50 ต่อปีและ 15 ต่อปี ในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ ตามที่โจทก์ได้แสดงไว้ในบัญชีแสดงยอดหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทของจำเลยที่ 1 และบัญชีภาระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทของจำเลยที่ 1 ซึ่งดอกเบี้ยในช่วงระหว่างวันที่ 6 มกราคม 2541 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 นั้น โจทก์คิดในอัตราร้อยละ 25 ต่อปี ส่วนดอกเบี้ยในช่วงระหว่างวันที่ 1 เมษายน2542 ถึงวันฟ้องคือวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 นั้น โจทก์คิดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นอัตราเดียวกับอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อสูงสุดของธนาคารโจทก์ที่เรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข (ซีแอลอาร์) ตามประกาศธนาคารโจทก์ จึงมีข้อที่ต้องพิจารณาต่อไปว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราดังกล่าวได้หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งหกฉบับในข้อ 4 ได้ระบุไว้ว่า จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ตามรายละเอียดแนบท้ายสัญญาหรือให้คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารเรียกเก็บได้ตามประกาศธนาคารโจทก์นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 เห็นได้ว่า ดอกเบี้ยในข้อนี้ย่อมหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากลูกค้าที่มิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือผิดนัดผิดสัญญากับโจทก์ โดยดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากลูกค้าที่ไม่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขอัตราสูงสุดได้แก่ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อทั่วไปของธนาคาร (จีแอลอาร์) ตามข้อ 5 ของประกาศของธนาคารโจทก์นั่นเอง และตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวในข้อ 7 ได้ระบุว่าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ค้างชำระในอัตราตามที่กำหนดในข้อ 4นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น ตามข้อสัญญาดังกล่าวย่อมมีความหมายว่าโจทก์จะคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดจากจำเลยที่ 1 ได้เช่นเดียวกับอัตราที่ระบุไว้ในข้อ 4 ของสัญญาทรัสต์รีซีท คืออัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อทั่วไปของธนาคาร (จีแอลอาร์) เท่านั้น โจทก์หามีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อสูงสุดของธนาคารที่เรียกจากลูกค้าซึ่งปฏิบัติผิดเงื่อนไข (ซีแอลอาร์) ตามประกาศธนาคารโจทก์ไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ชำระดอกเบี้ยผิดนัดซึ่งเท่ากับอัตราซีแอลอาร์แก่โจทก์จึงเป็นการไม่ชอบปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสี่ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 45 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142(5) ส่วนดอกเบี้ยผิดนัดระหว่างวันที่ 22 กรกฎาคม 2541 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2542 ที่โจทก์คิดจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี 15.75 ต่อปี 15.50 ต่อปี 14.50 ต่อปี 12 ต่อปี 11 ต่อปี 10.75 ต่อปี 10 ต่อปี และ 9.50 ต่อปี ตามช่วงระยะเวลาต่าง ๆ ที่โจทก์ระบุมาในบัญชีแสดงยอดหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทของจำเลยที่ 1 นั้น ปรากฏว่าโจทก์ได้คิดในอัตราต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อทั่วไปของธนาคาร (จีแอลอาร์) ตามประกาศธนาคารโจทก์ในช่วงระยะเวลาเดียวกันอันเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 แล้ว จึงชอบที่ศาลจะพิพากษาให้ตามที่โจทก์ขอ และที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์หลังวันฟ้องในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์โดยมิได้ระบุให้ชัดเจนว่าเป็นอัตราใดนั้น เห็นสมควรแก้ไขให้ชัดเจนโดยกำหนดให้จำเลยทั้งสี่ชำระดอกเบี้ยสูงสุดแก่โจทก์ในอัตราลอยตัวช่วงหลังวันฟ้องในอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อทั่วไปของธนาคาร (จีแอลอาร์) ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามภาวะตลาดการเงินตามประกาศธนาคารโจทก์และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งออกตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์พ.ศ. 2505 ส่วนดอกเบี้ยในช่วงก่อนวันที่ 6 มกราคม 2541 ที่โจทก์คิดจากจำเลยที่ 1ในอัตราร้อยละ 25 ต่อปี สำหรับหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับแรกและฉบับที่สองและจำเลยที่ 1 ได้ชำระแก่โจทก์ไปแล้วเมื่อวันที่ 6 และวันที่ 14 มกราคม 2541ตามที่ปรากฏในบัญชีแสดงยอดหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทของจำเลยที่ 1 เอกสารหมายจ.16 นั้น แม้จะปรากฏว่าเป็นดอกเบี้ยในอัตราที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดจากจำเลยที่ 1 ได้โดยชอบดังวินิจฉัยข้างต้น แต่จำเลยที่ 1 ก็ยินยอมชำระให้โจทก์ไปเองโดยไม่มีข้อโต้แย้งถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ จำเลยที่ 1 ไม่อาจเรียกคืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงไม่อาจพิพากษาแก้ไขให้ได้ และเนื่องจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้มีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้ต้นเงินรวมกันมากับดอกเบี้ยบางส่วนที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดเอาจากจำเลยที่ 1 ทำให้ยอดหนี้ไม่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดี เห็นสมควรแก้ไขโดยให้แยกหนี้ต้นเงินออกจากดอกเบี้ยด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับแรกเป็นต้นเงินจำนวน 33,454,239 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 6 มกราคม2541 เป็นต้นไป ตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่สองเป็นต้นเงินจำนวน 47,380,034.83 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 14 มกราคม 2541 เป็นต้นไป ตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่สามเป็นต้นเงินจำนวน 71,847,706.08 บาท ค่าธรรมเนียมและค่าอากรแสตมป์จำนวน808,511.88 บาท กับดอกเบี้ยในต้นเงินจำนวน 71,847,706.08 บาท นับแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไปตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่สี่เป็นต้นเงินจำนวน 48,693,698.61 บาท ค่าธรรมเนียมและค่าอากรแสตมป์จำนวน 548,029.11 บาท กับดอกเบี้ยในต้นเงินจำนวน 48,693,698.61 บาท นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2541 เป็นต้นไปตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่ห้าเป็นต้นเงินจำนวน 62,655,770.10 บาท ค่าธรรมเนียมและค่าอากรแสตมป์จำนวน 705,102.41 บาท กับดอกเบี้ยในต้นเงินจำนวน 62,655,770.10 บาท นับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2541 เป็นต้นไป และตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่หกเป็นต้นเงินจำนวน 49,606,458.13 บาท ค่าธรรมเนียมและค่าอากรจำนวน558,297.65 บาท กับดอกเบี้ยในต้นเงินจำนวน 49,606,458.13 บาท นับแต่วันที่ 16 เมษายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้แต่ละจำนวนเสร็จสิ้นโดยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดของต้นเงินทุกจำนวนดังกล่าว ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระแก่โจทก์ในอัตราลอยตัวดังนี้ ระหว่างวันที่ 6 มกราคม 2541 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 ให้ชำระในอัตราร้อยละ21 ต่อปี ระหว่างวันที่ 22 กรกฎาคม 2541 ถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2541 ให้ชำระในอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี ระหว่างวันที่ 14 ตุลาคม 2541 ถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2541 ให้ชำระในอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี ระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2541 ถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน2541 ให้ชำระในอัตราร้อยละ 15.50 ต่อปี ระหว่างวันที่ 17 พฤศจิกายน 2541 ถึงวันที่30 พฤศจิกายน 2541 ให้ชำระในอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2541 ถึงวันที่ 24 มกราคม 2542 ให้ชำระในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ระหว่างวันที่ 25 มกราคม 2542 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2542 ให้ชำระในอัตราร้อยละ 11 ต่อปี ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2542 ถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2542 ให้ชำระในอัตราร้อยละ 10.75 ต่อปี ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2542 ถึงวันที่ 2 มีนาคม 2542 ให้ชำระในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ระหว่างวันที่ 3 มีนาคม 2542 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2542 ให้ชำระในอัตราร้อยละ9.50 ต่อปี ตามที่โจทก์ฟ้อง และหลังจากนั้นจึงให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อทั่วไปของธนาคาร (จีแอลอาร์) ตามประกาศธนาคารโจทก์ในชุดเอกสารหมาย จ.40 ฉบับลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 (เท่ากับอัตราร้อยละ 13.50)กับประกาศธนาคารโจทก์เรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อฉบับที่โจทก์จะประกาศต่อ ๆ ไปหลังวันฟ้องตามช่วงระยะเวลาที่ประกาศดังกล่าวแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับ แต่ดอกเบี้ยหลังวันฟ้องทุกอัตราต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่โจทก์ฟ้อง และดอกเบี้ยคิดคำนวณถึงวันฟ้องรวมกันต้องไม่เกินจำนวน 69,930,969.01 บาท ตามที่โจทก์ฟ้อง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งและคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง