คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3942/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานดำรงชีพจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีนั้นจะต้องได้ความว่าผู้นั้นไม่มีปัจจัยอันพอเพียงสำหรับดำรงชีพด้วย เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบถึงความข้อนี้เลย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีจะลงโทษจำเลยที่ 1 สำหรับความผิดฐานนี้ไม่ได้และเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาให้ไม่ต้องรับโทษได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา283, 286, 309, 310 พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มาตรา4, 8, 9, 10
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 283, 286, 310 พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มาตรา 4, 8, 9 ความผิดตามมาตรา 283 รวม3 กระทง จำคุกกระทงละ 10, 8, 10 ปี รวม 28 ปี ความผิดตามมาตรา 310รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 6 ปี ความผิดตามมาตรา 286 จำคุกคนละ 10 ปี ความผิดตามพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี มาตรา 9 จำคุกคนละ 6 เดือน รวมลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 44 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 2รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 22 ปี 3 เดือน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286 ว่า ส่วนข้อหาฐานดำรงชีพจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี เห็นว่า การที่จะถือว่าผู้ใดกระทำความผิดดังกล่าว จะต้องได้ความว่าผู้นั้นไม่มีปัจจัยอันพอเพียงสำหรับดำรงชีพด้วย ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้นำสืบถึงความข้อนี้เลย ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี คำฟ้องของโจทก์สำหรับความผิดฐานนี้จึงลงโทษจำเลยไม่ได้ และกรณีนี้เป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ไม่ได้ฎีกาให้ไม่ต้องรับโทษได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานดำรงชีพจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286 ด้วยรวมโทษทุกกระทงแล้ว จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 34 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด17 ปี 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share