แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
หนังสือมอบอำนาจมีข้อความว่า เจ้าหนี้มอบอำนาจให้ ม. มีอำนาจดำเนินการฟ้องร้องหรือดำเนินการตามกฎหมายทั้งปวง รวมทั้งดำเนินคดีล้มละลายเจ้าหนี้ไม่ได้เจาะจงให้ ม. ดำเนินคดีเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นการเฉพาะแทน ใบมอบอำนาจเป็นการตั้งตัวแทนเฉพาะการเพื่อให้ฟ้องคดีหาใช่เป็นการตั้งตัวแทนเฉพาะการเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นการเฉพาะไม่ ส่วนคำว่าให้มีอำนาจดำเนินคดีล้มละลายได้นั้น ก็ไม่ได้เจาะจงว่าคดีล้มละลายเรื่องใด ย่อมหมายถึงคดีล้มละลายทุกคดีที่เกี่ยวกับเจ้าหนี้ ไม่ว่าเจ้าหนี้จะเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ ม. ก็มีอำนาจดำเนินการแทนได้และการดำเนินคดีล้มละลายนั้นหมายความรวมถึงการขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย เมื่อ ม. เป็นตัวแทนเจ้าหนี้ในการดำเนินคดีล้มละลาย แต่ ม. กลับละเลยมิได้ขอรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้จนพ้นกำหนดสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แล้วจึงให้เจ้าหนี้มอบอำนาจใหม่ให้บุคคลอื่นมาขอรับชำระหนี้แทน และขอขยายกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ นับว่าเจ้าหนี้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่สมควรที่จะขยายกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ให้ แม้เจ้าหนี้จะอยู่นอกราชอาณาจักรก็ตาม
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ไว้เด็ดขาดซึ่งจะครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 15 มกราคม 2532 เจ้าหนี้โดยนายนรินทร์ อุษณาวรงค์ ผู้รับมอบอำนาจ ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้3 รายประเภทค่าสินค้าเป็นเงินรวม 7,322,618 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ที่ 5 และที่ 6
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นัดให้บรรดาเจ้าหนี้และลูกหนี้ตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104แล้ว ลูกหนี้ที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ทั้ง 3รายว่า ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วฟังว่า เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนดเวลาตามมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 เห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ทั้ง 3 รายเสียตามความใน มาตรา 107(1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ทั้ง 3 รายตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า เจ้าหนี้มีสำนักงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ในการประกอบธุรกิจในประเทศไทยเจ้าหนี้มอบอำนาจให้นางมณฑา อีโต้ เป็นผู้ติดต่อกับลูกค้าและเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2530 เจ้าหนี้มอบอำนาจให้นางมณฑามีอำนาจดำเนินการฟ้องร้องหรือดำเนินการตามกฎหมายทั้งปวงรวมทั้งดำเนินคดีล้มละลาย และให้มีอำนาจแต่งตั้งทนายความ ตัวแทน หรือตัวแทนช่วงเพื่อกระทำการตามอำนาจที่ได้รับมอบหมายได้ด้วยปรากฏตามเอกสาร จ.พ.ท.1.เมื่อปี 2529 ลูกหนี้ที่ 1 ที่ 5 และที่ 6ได้ซื้อสินค้าจากเจ้าหนี้แล้วเป็นหนี้ค่าสินค้าเจ้าหนี้ เมื่อวันที่10 สิงหาคม 2530 นางมณฑาได้แต่งตั้งให้นายนรินทร์ อุษณาวรงค์เป็นทนายความฟ้องลูกหนี้ที่ 5 และที่ 1 ต่อศาลจังหวัดสมุทรสาครเป็นคดีล้มละลายตามคดีหมายเลขดำที่ ล.10/2530 และ ล.11/2530แทนเจ้าหนี้ ต่อมาวันที่ 26 ตุลาคม 2531 ซึ่งเป็นวันหลังจากลูกหนี้ที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีนี้แล้วนายนรินทร์ได้ไปยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ล.10/2530และ ล.11/2530 ที่ศาลจังหวัดสมุทรสาคร โดยแถลงว่าเพื่อจะมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้และคดีนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดครั้งสุดท้ายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2531วันที่ 25 มกราคม 2532 เจ้าหนี้มอบอำนาจให้นายนรินทร์มายื่นคำขอรับชำระหนี้ และในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2532 นายนรินทร์ได้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ ซึ่งเลยกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
ปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกามีว่า มีเหตุสมควรที่จะขยายกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้หรือไม่ เจ้าหนี้ฎีกาว่าเจ้าหนี้เป็นบริษัทต่างประเทศไม่มีสาขาหรือสำนักงานในประเทศไทย การที่เจ้าหนี้ตั้งนางมณฑา อีโต้ เป็นตัวแทนให้มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีล้มละลาย ตามเอกสารหมาย จ.พ.ท.1. นั้น เป็นการตั้งตัวแทนเฉพาะการคือเฉพาะคดีเท่านั้น เจ้าหนี้มิได้มอบอำนาจให้นางมณฑามายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ แม้นางมณฑาจะรู้ว่า ลูกหนี้ที่ 1ที่ 5 และที่ 6 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนางมณฑาก็ไม่มีอำนาจมาขอรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้ได้ ศาลฎีกาพิเคราะห์หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.พ.ท.1 แล้ว เห็นว่า ข้อความในหนังสือมอบอำนาจมีว่า เจ้าหนี้มอบอำนาจให้นางมณฑามีอำนาจดำเนินการฟ้องร้องหรือดำเนินการตามกฎหมายทั้งปวง รวมทั้งดำเนินคดีล้มละลายนั้น เจ้าหนี้ไม่ได้เจาะจงให้นางมณฑาดำเนินคดีเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นการเฉพาะแทนใบมอบอำนาจที่มีลักษณะเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการตั้งตัวแทนเฉพาะการเพื่อให้ฟ้องคดี หาใช่เป็นการตั้งตัวแทนเฉพาะการเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะดังที่เจ้าหนี้ฎีกาไม่ส่วนคำว่าให้มีอำนาจดำเนินคดีล้มละลายได้นั้น ก็ไม่ได้เจาะจงว่าคดีล้มละลายเรื่องใดย่อมหมายถึงคดีล้มละลายทุกคดีที่เกี่ยวกับเจ้าหนี้ ไม่ว่าเจ้าหนี้จะเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ นางมณฑาก็มีอำนาจดำเนินการแทนได้ และการดำเนินคดีล้มละลายนั้นหมายความรวมถึงการขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วยเมื่อข้อเท็จจริงได้ความดังวินิจฉัยมาว่า นางมณฑาเป็นตัวแทนเจ้าหนี้ในการดำเนินคดีล้มละลายแต่นางมณฑากลับละเลยมิได้ขอรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้จนพ้นกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แล้วจึงให้เจ้าหนี้มอบอำนาจใหม่ให้บุคคลอื่นมายื่นคำขอรับชำระหนี้แทนและขอขยายกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้เช่นนี้ นับว่าเจ้าหนี้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่สมควรที่จะขยายกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ให้ แม้เจ้าหนี้จะอยู่นอกราชอาณาจักรก็ตามที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน