คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3940/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2503 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวระบุให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพอากาศและป้องกันราชอาณาจักร มีผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสียหายต่อการจัดเตรียมกำลังกองทัพอากาศและป้องกันราชอาณาจักร จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจกำหนดให้ผู้รับสมัครเข้ารับราชการยังสังกัดจำเลยที่ 1 ทำสัญญว่าจะรับราชการในกระทรวงกลาโหมไม่น้อยกว่า 2 ปีบริบูรณ์และกำหนดค่าปรับในกรณ๊ที่ผู้นั้นผิดสัญญาได้ แม้คำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ 555/18 จะระบุถึงบุคคลประเภทต่าง ๆ ซึ่งจะต้องทำสัญญากับจำเลยที่ 1 โดยไม่รวมถึงนายทหารประทวนเช่นโจทก์ก็ตาม
เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญากันด้วยความสมัครใจและไม่ปรากฏว่าสัญญานั้นมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยกฎหมาย หรือเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงย่อมผูกพันคู่กรณีและมีผลใช้บังคับแก่กันได้ และผู้แทนของจำเลยที่ 1 มีอำนาจที่จะทำสัญญาดังกล่าวในนามของจำเลยที่ 1 ได้โดยชอบ สัญญาจึงหาตกเป็นโมฆะไม่ เมื่อโจทก์ผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจบังคับเอาค่าปรับจากโจทก์ตามสัญญานั้นได้ การที่โจทก์ชำระค่าปรับให้แก่จำเลยที่ 1 ไปแล้วนั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้อยเอาคืนจากจำเลยทั้งสองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ โจทก์ได้รับการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำรายเดือนที่ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานโคกกระเทียม กรมช่างอากาศ ซึ่งเป็นหน่วยงานของจำเลยที่ ๑ และต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ โจทก์เปลี่ยนสภาพจากลูกจ้างประจำรายเดือนเป็นข้าราชาการชั้นประทวน โดยมียศราชการขณะนั้นเป็นพันจ่าอากาศเอก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ โจทก์ได้ทำการสอบคัดเลือกและได้รับการแต่งตั้งเป็นว่าที่เรืออากาศตรี ก่อนที่โจทก์จะได้รับการแต่งตั้งดังกล่าว จำเลยที่ ๑ ให้โจทก์ทำสัญญามีสาระสำคัญว่า หากโจทก์ลาออกจากราชการก่อนกำหนดภายใน ๒ ปีแล้ว โจทก์จะต้องเสียค่าปรับให้แก่จำเลย ต่อมาโจทก์จำเป็นต้องลาออกจากราชการ แต่ทางฝ่ายจำเลยหาให้โจทก์ลาออกไม่จนกว่าจะชำระค่าปรับตามสัญญาที่ทำไว้ โจทก์ต้องจำยอมเสียค่าปรับ การที่ตัวแทนของจำเลยที่ ๑ บังคับให้โจทก์ทำสัญญาดังกล่าวถือได้ว่ากระทำโดยไม่มีอำนาจ เพราะไม่มีกฎข้อบังคับหรือคำสั่งใดให้อำนาจตัวแทนจำเลยที่ ๑ กระทำเช่นว่านั้น จำเลยทั้งสองได้รับทรัพย์ไปโดยไม่มีมูลจะอ้าง จึงต้องคืนเงินดังกล่าวให้โจทก์ ขอให้บัคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้การว่า การที่โจทก์ชำระเงินค่าปรับให้แก่จำเลยที่ ๑ ก็โดยที่โจทก์เป็นผู้สำเร็จชั้นอุดมศึกษาแล้วสมัครเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกลาโหมสัญญาบัตร สังกัดจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ได้ให้โจทก์ทำสัญญาว่านับแต่วันรับหน้าที่ถ้าโจทก์รับราชการไม่ครบ ๒ ปีแล้วลาออกจากราชการโจทก์ยินยอมเสียค่าปรับให้แก่ จำเลยที่ ๑ สัญญาดังกล่าวได้ทำขึ้นด้วยความสมัครใจของโจทก์เองด้วยโจทก์ประสงค์จะเป็นข้าราชการกลาโหมชั้นสัญญาบัตร สัญญาดังกล่าวจึงมีความถูกต้องและสมบูรณ์ทุกประการ ต่อมาโจทก์รับราชการยังไม่ครบ ๒ ปี ก็ได้ลาออกจากราชการอันเป็นการผิดสัญญา และโจทก์ยินยอมเสียค่าปรับฐานผิดสัญญาให้แก่จำเลยที่ ๑ แล้ว การที่จำเลยที่๑ รับเงินค่าปรับไว้จากโจทก์เป็นการับไว้ตามสัญญาโดยถูกต้อง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ ๑ ให้โจทก์ทำสัญญานั้นเป็นสัญญาที่ชอบ เมื่อโจทก์สมัครใจเข้าทำสัญญาและผิดสัญญายอมเสียค่าปรับให้แก่จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ รับค่าปรับไว้จึงเป็นการรับตามสัญญา มิใช่ลาภมิควรได้อันจะต้องคืนให้โจทก์พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก็เป็นนายทหาร ประทวน ได้สำเร็จการศึกษาชั้นอุดมศึกษา แล้วสมัครเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกลาโหมชั้นสัญญาบัตรสังกัดกองทัพอากาศได้รับแต่งตั้งยศเป็นว่าที่เรืออากาศตรี ก่อนที่โจทก์จะได้รับการแต่งตั้งประดับยศชั้นสัญญาบัตร จำเลยที่ ๑ ได้ให้โจทก์ทำสัญญาไว้แก่จำเลยที่ ๑ มีสาระสำคัญว่าถ้าโจทก์รับราชการในกระทรวงกลาโหมยังไม่ครบ ๒ ปีแล้วขอลาออกจากราชการ โจทก์ยินยอมเสียค่าปรับให้แก่ทางราชการ ครั้นต่อมาโจทก์รับราชการยังไม่ครบ ๒ ปี ตามสัญญาโจทก์ก็ได้ลาออกจากราชการเพื่อไปประกอบอาชีพส่วนตัวอันเป็นการผิดสัญญา และโจทก์ยินยอมเสียค่าปรับให้แก่จำเลยที่ ๑ แล้ววินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๐๓ ซึ่งบัญญัติให้กองทัพอากาศ จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลนั้นมีบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖ ว่า ” กองทัพอากาศมีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพอากาศและป้องกันราชอาณาจักร มีผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ ” ดังนี้ จำเลยที่ ๑ จึงมีอำนาจกำหนดให้ผู้ที่สมัครเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกลาโหมชั้นสัญญาบัตร สังกัดจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาว่าจะรับราชการในกระทรวงกลาโหมไม่น้อยกว่า ๒ ปีบริบูรณ์และกำหนดค่าปรับในกรณีผู้นั้นผิดสัญญาได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการลาออกจากราชการก่อนที่จะได้รับผลการปฏิบัติราชการของบุคคลดังกล่าวตามสมควร และเพื่อมิให้เกิดการเสียหายต่อการจัดเตรียมกำลังกองทัพอากาศและป้องกันราชอาณาจักรตามบทกฎหมายดังกล่วได้ แม้คำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ ๕๕๕/๑๘ จะระบุถึงบุคคลประเภทต่าง ๆ ซึ่งจะต้องทำสัญญากับจำเลยที่ ๑ โดยไม่รวมถึงนายทหารประทวนเช่นโจทก์ ดังคำวินิจฉัยของกรมพระธรรมนูญก็ตาม แต่ก็มิใช่จะตัดอำนาจจำเลยที่ ๑ ที่จะทำสัญญากับบุคคลซึ่งมิได้ระบุไว้ในคำสั่งดังกล่าวเพื่อรักษาผลประโยชน์ของจำเลยที่ ๑ เกี่ยวกับการจัดเตรียมกำลังกองทัพอากาศและป้องกันราชอาณาจักรแต่อย่างใด ซึ่งปรากฏว่าคู่สัญญาคือโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ได้เข้าทำสัญญากันด้วยความสมัครใจ และไม่ปรากฏว่าสัญญานั้นมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยกฎหมาย หรือเป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่ประการใด ดังนั้นสัญญาดังกล่าวจึงย่อมผูกพันคู่กรณีและมีผลใช้บังคับแก่กันได้ และผู้แทนของจำเลยที่ ๑ มีอำนาจที่จะทำสัญญาเช่นนั้นในนามของจำเลยที่ ๑ ได้โดยชอบ สัญญาดังกล่าวหาได้ตกเป็นโมฆะไม่ เหตุนี้ เมื่อโจทก์ผิดสัญญา จำเลยที่ ๑ ย่อมมีอำนาจบังคับเอาค่าปรับจากโจทก์ตามสัญญานั้นได้ การที่โจทก์ชำระค่าปรับให้แก่จำเลยที่ ๑ ไปแล้วนั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้อยเอาคืนจากจำเลยทั้งสองได้
พิพากษายืน.

Share