คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1909/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันรถยนต์ที่เช่าซื้อเอาประกันภัยไว้กับบริษัท ท.โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระเบี้ยประกัน โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญา และรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไป ข้อสัญญาเช่าซื้อระบุว่า หากผิดนัดสองคราวติดต่อกันถือว่าสัญญาเลิกกันทันที ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพราะการไม่ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จนเป็นเหตุให้มีการเลิกสัญญาอันได้แก่ค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองทรัพย์อยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคสาม เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1ยังคงครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้ออยู่จนกระทั่งรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไป อันเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาให้ชดใช้ราคารถยนต์โดยตรงอยู่แล้วส่วนข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อที่ว่า หากเกิดการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ โจทก์จะนำเงินที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยมาใช้ในการซื้อรถยนต์ใหม่ แต่ถ้าค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับไม่พอที่จะซื้อรถยนต์ใหม่ได้ จำเลยที่ 1 ต้องออกเงินใช้จนครบนั้น เป็นข้อตกลงเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก คือโจทก์ได้รับค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการสูญหายของรถยนต์ได้จากบริษัท ท. อีกทางหนึ่งด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ซึ่งสิทธิของโจทก์จะเกิดขึ้นต่อเมื่อได้แสดงเจตนาแก่บริษัท ท. ว่าจะถือประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1ดำเนินการขอชดเชยค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท ท. แต่จำเลยที่ 1ไม่ดำเนินการ อาจเป็นเหตุให้บริษัท ท. ยกข้อต่อสู้อันเกิดแก่สัญญาประกันภัยที่มีอยู่ต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาต่อสู้โจทก์ผู้รับประโยชน์ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 376 การที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องให้บริษัท ท.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจึงมีขั้นตอนและเสี่ยงต่อการที่โจทก์จะไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทนยิ่งกว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อการสูญหายของรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไปโดยตรง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจากจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ ราคา133,362 บาท ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวด ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ2 งวดติดต่อกันสัญญาเป็นอันเลิกกัน จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดนัดทำให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์คืน หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 133,362 บาท และค่าเสียหายคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน165,000 บาท
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ได้ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์จริงชำระค่าเช่าซื้อ 1 งวด แล้วไม่ได้ชำระอีกเพราะรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไป จำเลยที่ 1 ไปติดต่อบริษัทประกันภัยแล้ว ขณะนี้เรื่องอยู่ในการพิจารณาของบริษัทประกันภัย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย26,200 บาท ให้โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2528 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2529กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อ เป็นเงิน80,000 บาท ให้โจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่ งวดแรก ซึ่งเป็นการผิดนัดสองคราวติดต่อกัน สัญญาเช่าซื้อจึงสิ้นสุดลงทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองรถยนต์ต่อมาจนรถยนต์สูญหายไป โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพราะการไม่ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1อันได้แก่ค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองทรัพย์อยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม ที่จำเลยที่ 1ฎีกาข้อสุดท้ายว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1ชดใช้ราคารถยนต์ที่สูญหาย โดยโจทก์ต้องเรียกร้องเอาจากบริษัทประกันภัยตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อนั้น เห็นว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้ออยู่จนกระทั่งรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไป อันเป็นความผิดของจำเลยที่ 1โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาให้ชดใช้ราคารถยนต์โดยตรงอยู่แล้ว ส่วนข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อที่ว่าหากเกิดการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ โจทก์จะนำเงินที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยมาใช้ในการซื้อรถยนต์ใหม่ แต่ถ้าค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับไม่พอที่จะซื้อรถยนต์ใหม่ได้ จำเลยที่ 1 ต้องออกเงินใช้จนครบ นั้น เป็นข้อตกลงเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกคือโจทก์ได้รับค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการสูญหายของรถยนต์ได้จากบริษัท ท. อีกทางหนึ่งด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 374 ซึ่งสิทธิของโจทก์จะเกิดขึ้นต่อเมื่อได้แสดงเจตนาแก่บริษัท ท. ว่าจะถือประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการขอชดเชยค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท ท. แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการอาจเป็นเหตุให้บริษัท ท. ยกข้อต่อสู้อันเกิดแก่สัญญาประกันภัยที่มีอยู่ต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาต่อสู้โจทก์ผู้รับประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 376 การที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องให้บริษัท ท. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจึงมีขั้นตอนและเสี่ยงต่อการที่โจทก์จะไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทนยิ่งกว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อการสูญหายของรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไปโดยตรง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจากจำเลยที่ 1
พิพากษายืน

Share