แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ2ลักษณะ1หมวด4นั้นเป็นการโอนสิทธิตามที่เป็นอยู่ตามสภาพเดิมให้แก่ผู้รับโอนเข้ามาเป็นเจ้าหนี้แทนมิได้มีการเปลี่ยนแปลงสิทธิและโดยปกติลูกหนี้มีข้อต่อสู้เจ้าหนี้คนเดิมอย่างไรก็ยกขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องนั้นได้ซึ่งย่อมรวมทั้งข้อต่อสู้เรื่องอายุความด้วยโดยเหตุนี้อายุความที่ลูกหนี้จะยกขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจึงต้องใช้อายุความเดียวกับที่ลูกหนี้สามารถยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้คนเดิมได้เมื่อสิทธิเรียกร้องในคดีนี้เป็นค่าจ้างตามสัญญาจ้างทำของระหว่างจำเลยกับอ.ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำจึงมีอายุความ2ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา165(1)(เดิม)หรือมาตรา193/34(1)(ใหม่)นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าจ้างแต่ละงวดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา169(เดิม)หรือมาตรา193/12(ใหม่)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2526 ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอส.อี.เทรดดิ้ง (1982) ซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์สาขาหนองคายประเภทเงินกู้ชั่วคราวและกู้เบิกเงินเกินบัญชีมาขอโอนและทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินจากจำเลยจำนวน 1,694,600 บาทตามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคาร บ้านพัก รั้ว และหอถังน้ำ ระหว่างจำเลยกับห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.อี.เทรดดิ้ง (1982) สัญญาเลขที่155/2525 ลงวันที่ 30 กันยายน 2525 ให้โจทก์และโจทก์ตกลงยอมรับโอนสิทธิเรียกร้องนั้น ต่อมาโจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัดเอส.อี.เทรดดิ้ง (1982) มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลย และจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2526 มาถึงโจทก์สาขาหนองคายว่า ไม่ขัดข้องและยินยอมในการรับโอนสิทธิเรียกร้องในการรับชำระเงินดังกล่าวหลังจากห้างหุ้นส่วนจำกัดเอส.อี.เทรดดิ้ง (1982) ก่อสร้างอาคารบ้านพัก รั้ว และหอถังน้ำเสร็จตามสัญญา และส่งมอบงานแก่จำเลยตรวจและรับงานถูกต้องแล้ว จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่างวดทั้งหมดแก่โจทก์แต่จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องคือชำระค่างวดงานแก่โจทก์บางส่วนเป็นเงิน 375,194.60 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน1,319,405.40 บาท จำเลยชำระแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอส.อี.เทรดดิ้ง (1982) โดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการรับเงินดังกล่าว ทำให้โจทก์ไม่สามารถรับเงินค่าจ้างได้ตามสิทธิเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยให้ชำระเงินจำนวน 1,319,405.40 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปีของเงินต้น 1,319,405.40 บาท นับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2532ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 4 ปี 28 วัน เป็นเงินดอกเบี้ย 806,825.40 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,126,230.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้น 1,319,405.40 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากสิทธิเรียกร้องค่าจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดเอส.อี.เทรดดิ้ง (1982)มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่จำเลยรับมอบงานแต่ละงวดดังนี้ งวดที่ 2วันที่ 29 มิถุนายน 2526 งวดที่ 3 วันที่ 20 กันยายน 2526 งวดที่ 4วันที่ 10 กันยายน 2527 แม้ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอส.อี.เทรดดิ้ง (1982) จะโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินให้โจทก์ก็ตาม แต่สิทธิของโจทก์ก็คงมีอายุความ 2 ปีนับแต่วันที่จำเลยรับมอบงานเช่นเดิม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,369,079.50 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น1,048,497.96 บาท นับถัดจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดเอส.อี.เทรดดิ้ง(1982) ก่อสร้างอาคารบ้านพัก รั้วและหอถังน้ำที่สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 4จังหวัดขอนแก่น ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.14 และห้างดังกล่าวได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างทั้งหมดให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.16 ซึ่งจำเลยได้ให้ความยินยอมแล้ว ตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.18 ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดเอส.อี.เทรดดิ้ง(1982) ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญาและจำเลยได้จ่ายค่าจ้างเฉพาะงวดแรกให้แก่โจทก์ ส่วนค่าจ้างที่เหลืองวดที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งจำเลยตรวจรับงานเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2526 วันที่ 20 กันยายน 2526 และวันที่10 กันยายน 2527 ตามลำดับ จำเลยไม่ได้จ่ายให้แก่โจทก์คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1)(เดิม) หรือมาตรา 193/34(1)(ใหม่) หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 ลักษณะ 1หมวด 4 นั้น เป็นการโอนสิทธิตามที่เป็นอยู่ตามสภาพเดิมให้แก่ผู้รับโอนเข้ามาเป็นเจ้าหนี้แทน มิได้มีการเปลี่ยนแปลงสิทธิแต่อย่างใด และโดยปกติลูกหนี้มีข้อต่อสู้เจ้าหนี้คนเดิมอย่างไรก็ยกขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องนั้นได้ ซึ่งย่อมรวมทั้งข้อต่อสู้เรื่องอายุความด้วยโดยเหตุนี้อายุความที่ลูกหนี้จะยกขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจึงต้องใช้อายุความเดียวกับที่ลูกหนี้สามารถยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้คนเดิมได้ เมื่อปรากฏว่าสิทธิเรียกร้องในคดีนี้เป็นค่าจ้างตามสัญญาจ้างทำของระหว่างจำเลยกับห้างหุ้นส่วนจำกัดเอส.อี.เทรดดิ้ง(1982) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำจึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1)(เดิม) หรือมาตรา 193/34(1)(ใหม่) นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าจ้างแต่ละงวดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169(เดิม)หรือมาตรา 193/12(ใหม่) โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2536คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว
พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์