คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3937/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ฎีกาเพียงว่าขอให้ส่งตัวจำเลยที่ 1 ไปให้บิดามารดาดูแลแทนการส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรม เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 แต่ยังคงเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นให้ส่งตัวจำเลยที่ 1 ไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมเช่นเดิม เพียงแต่แก้ไขระยะเวลาการฝึกและอบรม อันเป็นการกำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.104 (2) ดังนี้แม้ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 1 จะโต้แย้งว่าไม่ได้ร่วมกระทำความผิด แต่ในชั้นฎีกาจำเลยที่ 1 เพียงแต่ขอให้ศาลมอบตัวจำเลยที่ 1 ให้บิดามารดาเพื่อดูแลแทนการส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมอันเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 121 ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามตามมาตรา 124 ประกอบมาตรา 121 และไม่มีบทบัญญัติใดให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้เหมือนในชั้นอุทธรณ์ และแม้ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง แต่ไม่อาจนำบทบัญญัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 โดยอาศัย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ เพราะเป็นกรณีที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ดังนี้ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะเห็นว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 มาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่จึงไม่รับวินิจฉัย
(มติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 4/2553)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 80, 83, 91, 288, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบกระสุนปืนของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางปรียาภรณ์ มารดาของนายศราวุธ ผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 83 มาตรา 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสองและวรรคสาม (ที่ถูก วรรคสาม), 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 มีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 กระทงละกึ่งหนึ่ง ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 25 ปี ฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 27 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 6 จังหวัดนครสวรรค์ จนกว่าจำเลยที่ 1 จะมีอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์ จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสองและวรรคสาม (ที่ถูก วรรคสาม), 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 มีอายุ 17 ปีเศษ อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ.2534 มาตรา 106 ให้รอการกำหนดโทษจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนด 2 ปี ให้ผู้ปกครองจำเลยที่ 2 รับตัวจำเลยที่ 2 ไปปกครองดูแลโดยเคร่งครัด และให้คุมความประพฤติจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง มีกำหนด 2 ปี ให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยที่ 2 และพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ให้จำเลยที่ 2 ประกอบอาชีพหรือเรียนหนังสือให้เป็นกิจจะลักษณะ ให้ละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำผิดเช่นเดียวกันนี้อีก และห้ามดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือเสพยาเสพติดให้โทษทุกชนิด ห้ามเที่ยวเตร่ในเวลากลางคืน หรือในสถานเริงรมย์ทุกแห่ง และห้ามเกี่ยวข้องกับการพนันทุกชนิด กับให้จำเลยที่ 2 อยู่ในโอวาทของผู้ปกครองโดยเคร่งครัด และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ให้ยก ริบกระสุนปืนของกลาง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 83, 80 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เมื่อลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 กึ่งหนึ่งแล้ว ให้จำคุก 10 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้ว เป็นจำคุก 12 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ 1 ไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 6 จังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 4 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำเลยที่ 1 ฟัง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาแต่เพียงว่าขอให้ส่งตัวจำเลยที่ 1 ไปให้บิดามารดาดูแลแทนการส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 แต่ยังคงเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นให้ส่งตัวจำเลยที่ 1 ไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมเช่นเดิม เพียงแต่แก้ไขระยะเวลาการฝึกและอบรม อันเป็นการกำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษอาญาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ดังนี้แม้ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 1 จะโต้แย้งว่าไม่ได้ร่วมกระทำความผิด แต่ในชั้นฎีกาจำเลยที่ 1 เพียงแต่ขอให้ศาลมอบตัวจำเลยที่ 1 ให้บิดามารดาเพื่อดูแลแทนการส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมอันเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 121 ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามตามมาตรา 124 ประกอบมาตรา 121 และไม่มีบทบัญญัติใดให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้ และแม้ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง แต่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 เป็นกฎหมายเฉพาะ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 โดยอาศัยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ ดังนี้ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 มานั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 1

Share