คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3149/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาการบริการทางการแพทย์ระหว่างโจทก์และจำเลย แม้จะมีลักษณะเป็นการจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ที่มีการตกลงรับทำการงานสิ่งหนึ่งสิ่งใดจนสำเร็จ เพื่อจะให้ได้สินจ้างจากงานที่ทำนั้นก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่าการรักษาพยาบาลร่างกายนั้น แม้ทั้งฝ่ายโรงพยาบาลหรือแพทย์ผู้ให้การรักษาและผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจะมีเจตนาเดียวกันโดยมุ่งผลสำเร็จของงานคือการหายจากอาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ก็ตาม แต่เมื่อร่างกายไม่ใช่ทรัพย์สินหรือสิ่งของที่จะสามารถกำหนดได้ว่าการรับทำงานต้องสัมฤทธิ์ผลในการรักษาได้อย่างแน่นอน เพราะการรักษาต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าบาดแผลที่ได้รับ สภาพและอายุของผู้ป่วย ลักษณะของโรค ความยากง่ายในการรักษา เป็นต้น ดังนั้นการจะนำเอาผลสำเร็จของงานในการรับจ้างทำทรัพย์สินหรือสิ่งของมาใช้เป็นมาตรฐานเดียวกับการรักษาว่าจะต้องหายจากอาการเจ็บป่วยย่อมเปรียบเทียบกันไม่ได้ โดยจะต้องขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ ภาวะและวิสัย ทั้งของผู้ป่วย แพทย์ และลักษณะของโรคขณะที่ทำการรักษาเป็นกรณีไป ดังนั้น สัญญาบริการทางการแพทย์จึงไม่ใช่การจ้างทำของโดยแท้ แต่เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งคู่สัญญาทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 5,887,121 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 5,120,164 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้โจทก์คืนเงินที่จำเลยมอบให้โจทก์ทั้งหมดแก่จำเลยด้วย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 5,887,121 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 5,120,164 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 กรกฎาคม 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องแย้งจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2550 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2548 จำเลยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ได้รับบาดเจ็บกระดูกแตกหักบริเวณสะโพก
เชิงกราน สันหลัง และกระดูกบริเวณอื่น ๆ อีกหลายแห่ง จำเลยได้เข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาล
ไรน์ลานด์ส เรวาลิดซี่ เซนทรัม ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ แต่ยังไม่หายเป็นปกติ ต่อมาจำเลยเข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลโจทก์ระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2550 โดยจำเลยชำระค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายตั้งแต่เริ่มรักษาจนถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2549 ให้แก่โจทก์แล้วเป็นเงิน 5,943,066 บาท ส่วนค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2549 ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2550 เป็นเงิน 5,120,164 บาท ตามใบแจ้งค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จำเลยยังไม่ชำระ โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคปรับลดค่ารักษาพยาบาลกับค่าใช้จ่ายค้างชำระที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องเป็นการไม่ชอบหรือไม่ เห็นว่า สัญญาการบริการทางการแพทย์ระหว่างโจทก์และจำเลย แม้จะมีลักษณะเป็นการจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ที่มีการตกลงรับทำการงานสิ่งหนึ่งสิ่งใดจนสำเร็จ เพื่อจะให้ได้สินจ้างจากงานที่ทำนั้นก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่าการรักษาพยาบาลร่างกายนั้น แม้ทั้งฝ่ายโรงพยาบาลหรือแพทย์ผู้ให้การรักษาและผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจะมีเจตนาเดียวกันโดยมุ่งผลสำเร็จของงานคือการหายจากอาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ก็ตาม แต่เมื่อร่างกายไม่ใช่ทรัพย์สินหรือสิ่งของที่จะสามารถกำหนดได้ว่าการรับทำงานต้องสัมฤทธิ์ผลในการรักษาได้อย่างแน่นอน เพราะการรักษาต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าบาดแผลที่ได้รับ สภาพและอายุของผู้ป่วย ลักษณะของโรค ความยากง่ายในการรักษา เป็นต้น ดังนั้นการจะนำเอาผลสำเร็จของงานในการรับจ้างทำทรัพย์สินหรือสิ่งของมาใช้เป็นมาตรฐานเดียวกับการรักษาว่าจะต้องหายจากอาการเจ็บป่วยย่อมเปรียบเทียบกันไม่ได้ โดยจะต้องขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ ภาวะและวิสัยทั้งของผู้ป่วย แพทย์ และลักษณะของโรคขณะที่ทำการรักษาเป็นกรณีไป ดังนั้น สัญญาบริการทางการแพทย์จึงไม่ใช่การจ้างทำของโดยแท้ แต่เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งคู่สัญญาทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และไม่อาจนำเอาเฉพาะผลสำเร็จของงานมาเป็นตัวกำหนดค่าการงานที่ทำไปแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม ของค่ารักษาพยาบาลหรือค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาดังเช่นที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยมาได้ แต่การกำหนดค่าการงานที่ทำควรต้องพิจารณาถึงความปกติในการรักษาว่า การบาดเจ็บของผู้ป่วยจะต้องใช้แพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือไม่ ระยะเวลาในการรักษา ความจำเป็นหรือความเหมาะสมของการใช้ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์หรือผู้มีวิชาชีพทางพยาบาลในการบริบาลผู้ป่วยว่ามีเพียงใด เป็นต้น ซึ่งในกรณีของจำเลยนั้น ได้ความจากนางกนกนภัส พยานโจทก์ว่า หลังจากที่เกิดอุบัติเหตุ จำเลยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์เป็นเวลา 4 เดือน แต่จำเลยยังไม่สามารถเดินได้ตามปกติเนื่องจากขาทั้งสองข้างไม่สมส่วนกัน กระดูกเชิงกรานโค้งงอ การเดินระยะใกล้ต้องใช้เครื่องช่วยพยุง การเดินระยะไกลต้องใช้รถเข็น มีการติดเชื้อบริเวณบาดแผลและกระดูกเชิงกรานและกระดูกบริเวณอื่น ๆ การทำงานของแขนขวาไม่ปกติ และในขณะที่จำเลยเข้ารับการรักษากับโจทก์ จำเลยอยู่ในภาวะที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ มีความเจ็บปวดของแผลเมื่อมีการเคลื่อนไหวและตลอดเวลาที่ทำการรักษาจำเลยมีสภาพจิตใจที่หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย ต้องให้การประคับประคองทางด้านจิตใจและให้ความช่วยเหลือเรื่องกิจวัตรประจำวันโดยใกล้ชิด มีการติดเชื้อที่กระดูกเชิงกรานและสะโพก ต้องทำการรักษาโดยการผ่าตัด ให้ยาปฏิชีวนะ ใส่โลหะเพื่อดามกระดูกและผ่าตัดใส่ข้อสะโพกเทียม ซึ่งสอดคล้องกับคำชี้แจงข้อเท็จจริงโดยละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนการวินิจฉัยและการรักษาตลอดจนภาวะแทรกซ้อนในการดูแลรักษาจำเลย ที่นายแพทย์สุทร และนายแพทย์สิทธิพร แพทย์ผู้ทำการรักษาจำเลยเป็นผู้จัดทำขึ้น ซึ่งจำเลยไม่นำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น แสดงให้เห็นว่า อาการของจำเลยที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณกระดูกเชิงกรานและกระดูกสะโพกขวามีความรุนแรง ทั้งมีการติดเชื้อและต้องผ่าตัดหลายครั้ง ประกอบกับต้องมีการดูแลสภาพจิตใจของจำเลยที่เกิดจากความเจ็บปวดด้วยนั้น จึงเป็นกรณีที่ยากกว่าการรักษาโดยปกติทั่วไปถึงขนาดต้องมีการรักษาโดยใช้แพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อโดยตรง ทั้งยังใช้ระยะเวลาในการรักษาต่อเนื่องเป็นเวลานาน เฉพาะที่รักษากับโจทก์ก็เป็นเวลาปีเศษและหลังจากนั้นจำเลยยังไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลธนบุรี และเมื่อตรวจสอบรายการในใบแจ้งค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นค่าแพทย์ ค่าบริการผู้ป่วย ค่าเวชภัณฑ์ ค่ายา
ค่ากายภาพบำบัด ค่าห้อง ค่าโทรศัพท์ ค่าอุปกรณ์การแพทย์ ค่าห้องผ่าตัด เป็นต้น ก็ล้วนแต่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลตามความจำเป็นและเหมาะสมในสถานการณ์ขณะทำการรักษาจำเลยทั้งสิ้น ประกอบกับจำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าตามใบสรุปค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ค้างชำระ จำนวน 5,120,164 บาท ไม่ถูกต้องอย่างไรและการที่จำเลยเข้ารับการรักษากับโจทก์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ จึงน่าเชื่อว่าจำเลยทราบถึงค่ารักษาพยาบาลที่จะเกิดขึ้นว่ามากกว่าปกติทั่วไป
เมื่อเทียบกับการรักษากับโรงพยาบาลเอกชนขนาดเล็กหรือโรงพยาบาลของรัฐอยู่ด้วยแล้ว เมื่อพิจารณาถึงการงานที่โจทก์จัดการเกี่ยวกับวิธีการรักษา ความเหมาะสมของการใช้ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือผู้มีวิชาชีพทางพยาบาลในการบริบาลจำเลยแล้ว ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จำนวน 5,120,164 บาท ตามฟ้องจึงเหมาะสมกับค่าการงานที่โจทก์ได้ทำแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาปรับลดค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายค้างชำระที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ลงมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และ
ชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share