คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2799/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองมีข้อตกลงกันในลักษณะบัญชี เดินสะพัดและปฏิบัติการหักทอนบัญชีกันตลอดมา โจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ จึง มีสิทธิคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี แต่ ไม่เกิน อัตรา สูงสุด ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดและคิด ดอกเบี้ยทบต้นได้ตามประเพณีของธนาคาร แม้ในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจะกำหนดให้ชำระหนี้กันหมดสิ้น ภายในวันที่ 30 มกราคม 2528 ก็ตาม แต่ปรากฏตามการ์ดบัญชี เงินฝาก กระแสรายวันว่า หลังจากวันนั้นยังมีทั้งการถอนเงินจากบัญชี และ การ นำ เงิน เข้าบัญชี แสดงว่าทั้งสองฝ่ายตกลงจะให้มีการเดินสะพัด ทาง บัญชี กัน ต่อไปบัญชีกันต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา และแม้ภายหลังวันที่ 30 กันยายน 2528แล้ว จะปรากฏตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันว่า มี เฉพาะ การ นำเข้าบัญชีเพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีการถอนเงิน จาก บัญชี อีก เลย ก็ตาม เมื่อไม่ปรากฏว่ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแสดง เจตนา บอกเลิก สัญญา แก่ อีกฝ่าย หนึ่งสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่าง โจทก์จำเลยทั้งสองจึงยังไม่เลิกกัน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นลูกค้าของโจทก์ประเภทบัญชีเงินฝากเดินสะพัดกระแสรายวัน เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2526 และวันที่ 30 มกราคม 2527 จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ในวงเงิน 500,000 บาท และ 1,200,000 บาท ตามลำดับยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ทุกวันสิ้นเดือน หากผิดนัดยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีของธนาคาร จำเลยทั้งสองตกลงชำระหนี้ให้หมดสิ้นภายในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2527 และวันที่ 30 มกราคม 2528 ตามลำดับ และจำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 6418 พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ดังกล่าวในวงเงิน 1,200,000 บาท และต่อมาจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 19 ต่อปี ส่วนจำเลยที่ 2 ได้มอบสิทธิการเช่าอาคารเลขที่ 12 ให้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวด้วย หลังจากทำสัญญาแล้ว จำเลยทั้งสองได้เดินสะพัดทางบัญชีตลอดมา คิดถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2531 จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์รวมเป็นเงิน 2,531,475.42 บาท โจทก์มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและแจ้งบังคับจำนองแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย นับแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2526 ถึงวันฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 2,566,298.55 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 2,566,298.55 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดใช้หนี้จนครบ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับเงินตามสัญญาทั้งสองฉบับตามฟ้อง จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ให้ความยินยอมในการทำสัญญา มิใช่ผู้กู้ และจำเลยที่ 2 ก็ไม่เคยทำสัญญาเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันตามที่โจทก์อ้าง แม้สัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจะเรียกว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี แต่ก็มิใช่สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นเพียงหลักฐานการกู้เงินธรรมดาเท่านั้น ทั้งนี้เพราะไม่มีข้อความตอนใดตกลงกันว่าจะหักทอนบัญชีกันในระยะเวลากำหนดอันใดอันหนึ่งในกิจการระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี หรือคิดดอกเบี้ยทบต้นโดยไม่รอให้ดอกเบี้ยค้างชำระถึง 1 ปี ฉะนั้น ข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ยตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวและตามบันทึกข้อตกลงการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเอกสารท้ายฟ้องจึงตกเป็นโมฆะ ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ตลอดมา จึงไม่ถูกต้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 2,566,298.55บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองขายทอดตลาดใช้หนี้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใดได้พิจารณาข้อความตามที่ปรากฏในคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวัน สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ย และการหักทอนบัญชีระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองแล้วได้ความว่า จำเลยทั้งสองได้ตกลงขอกู้เบิกเงินเกินบัญชี โดยยินดีที่จะปฏิบัติตามวิธีการและประเพณีอันเกี่ยวกับการดำเนินบัญชีฝากกระแสรายวันที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปปฏิบัติอยู่ เป็นการยอมรับที่จะปฏิบัติตามประเพณีของธนาคารที่จะให้มีการหักทอนบัญชีกันอันเป็นการตกลงที่จะปฏิบัติต่อกันในลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดและทางปฏิบัติของจำเลยทั้งสองที่ปรากฏในการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ก็มีการหักทอนบัญชีกันตลอดมา สำหรับอัตราดอกเบี้ยจำเลยทั้งสองก็ได้มีบันทึกข้อตกลงให้โจทก์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองมีข้อตกลงกันในลักษณะบัญชีเดินสะพัดและปฏิบัติการหักทอนบัญชีกันตลอดมาเช่นนี้ โจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์จึงมีสิทธิคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี และคิดแบบทบต้นได้ตามประเพณีของธนาคาร จำเลยทั้งสองอ้างในฎีกาต่อมาว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2528ศาลฎีกาได้พิจารณาหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับหลังตามเอกสารหมาย จ.4 แล้ว แม้ในสัญญาดังกล่าวจะกำหนดให้ชำระหนี้กันหมดสิ้นภายในวันที่ 30 มกราคม 2528 ก็ตาม แต่ปรากฏตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.9 ว่า หลังจากวันนั้นบัญชีของจำเลยทั้งสองก็ยังมีทั้งการถอนเงินจากบัญชีและการนำเงินเข้าบัญชี แสดงว่าทั้งสองฝ่ายตกลงจะให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา และแม้หลังจากวันที่ 30 กันยายน2528 แล้ว จะปรากฏตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันว่ามีเฉพาะการนำเงินเข้าบัญชีเพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีการถอนเงินจากบัญชีอีกเลยก็ตาม เมื่อไม่ปรากฏว่ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาแก่อีกฝ่ายหนึ่งบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์จำเลยทั้งสองจึงยังไม่เลิกกันไปในวันที่จำเลยทั้งสองอ้างมาในฎีกา
พิพากษายืน.

Share