คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3890/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เช็คขีดคร่อมและห้ามแปลี่ยนมือที่ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก จะเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้นได้ก็แต่เฉพาะเข้าบัญชีบัญชีของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตา 994 การที่ธนาคารจำเลยที่ 1 ผู้รับเช็คต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์นำเช็คดังกล่าวมาขอเปลี่ยนเป็นตั๋วแลกเงินจากพนักงานของจำเลยที่ 1 โดยแจ้งว่า การนำเช็คที่มีชื่อโจทก์เรียกเก็บเงินตามวิธีการปกติจะทำให้เกิดการล่าช้าเนื่องจากจะต้องใช้เวลาในการเรียกเก็บเงินตามเช็คประมาณ 2 สัปดาห์ และพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการตามที่จำเลยที่ 2 ขอ โดยเปลี่ยนเช็คดังกล่าวเป็นตั๋วแลกเงินจึงเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายและเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 สามารถนำตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปหมุนเวียนชำระค่าสินค้าของลูกค้ารายอื่นของโจทก์ แม้มีการนำเงินตามเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีของโจทก์แล้ว แต่การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นการชำระค่าสินค้าของงวดเดือนใด ทั้งเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่าสินค้าในงวดที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ง. ชำระค่าสินค้าได้ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานของโจทก์เป็นผู้นำเสียเช็คที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ง. สั่งจ่ายเพื่อชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ไปแลกเปลี่ยนเป็นตั๋วแลกเงินจากจำเลยที่ 1 และแจ้งต่อพนักงานจำเลยที่ 1 ว่าตนเป็นพนักงานของโจทก์ และแจ้งว่าการนำเช็คที่มีชื่อโจทก์เรียกเก็บเงินตามวิธีการปกติจะทำให้เกิดการล่าช้าจนทำให้พนักงานของจำเลยที่ 1 เชื่อตามที่จำเลยที่ 2 แจ้ง ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนที่ทำให้เกิดความเสียหายด้วยเนื่องจากไม่ดูแล ตรวจสอบและควบคุมการกระทำของจำเลยที่ 2 ให้ดี ทั้งๆ ที่รู้ว่าจำเลยที่ 2 มีหน้าที่เกี่ยวกับการรับเงินหรือรับชำระด้วยเช็คจากลูกค้า กลับปล่อยปละละเลยจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายถือได้ว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของโจทก์ผู้ต้องเสีหายประกอบด้วยตามป.พ.พ. มาตรา 442

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2541 ห้างหุ้นส่วน จำกัด งี่สุนซุปเปร์สโตร์ สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนโพธิ์ศรี จังหวัดอุดรธานี เลขที่ 0526069 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2541 จำนวนเงิน 707,334 บาท (ที่ถูก 707,934) ขีดคร่อมระบุชื่อเข้าบัญชีโจทก์และขีดฆ่าคำว่า “ผู้ถือ” มอบให้แก่นายไพรัชซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าตามใบสั่งซื้อสินค้าเลขที่ 220759, 221771, 221772 และ 225237 งวดเดือนธันวาคม 2540 และเดือนมกราคม 2540 ให้แก่โจทก์ นายไพรัชไม่นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่กลับนำไปขอแลกซื้อตั๋วแลกเงินกับจำเลย สาขาถนนโพธิ์ศรี จังหวัดอุดรธานี จำเลยยอมออกตั๋วแลกเงินเลขที่ 0084386 ให้โดยเก็บเช็คดังกล่าวไว้และไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์อันเป็นการประมาทเลินเล่อ ประพฤติผิดกฎหมายและประเพณีปฏิบัติทางการค้าของจำเลยอย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้นายไพรัชทุจริตนำตั๋วแลกเงินไปชำระหนี้ค่าสินค้าของลูกค้ารายอื่นของโจทก์ โดยโจทก์ไม่สามารถตรวจสอบได้ ส่วนค่าสินค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด งี่สุนซุปเปอร์สโตร์ประจำงวดเดือนธันวาคม 2540 และเดือนมกราคม 2540 นายไพรัชนำเช็คที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด งี่สุนซุปเปอร์สโตร์สั่งจ่ายชำระค่าสินค้าประจำงวดเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2541 มาชำระแทน ทำให้โจทก์เสยหายมิได้รับชำระค่าสินค้า จำนวน 701,334 บาท จากห้องหุ้นส่วนจำกัด งี่สุนซุปเปอร์สโตร์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 701,334 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นว่าโจทก์ไม่เสียหาย จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา
จำเลยให้การว่า นายไพรัชพนักงานของโจทก์นำเช็คของห้างหุ้นส่วนจำกัด งี่สุนซุปเปอร์สโตร์ ตามฟ้องมาขอให้ออกตั๋วแลกเงินโดยแจ้งแก่พนักงานของจำเลยว่าหากนำเช็คเข้าบัญชีของโจทก์ที่กรุงเทพมหานครจะต้องส่งเช็คไปเรียกเก็บเงินที่สาขาถนนโพธิ์ศรี จังหวัดอุดรธานี ทำให้โจทก์ได้รับเงินล่าช้า พนักงานของจำเลยสอบถามห้างหุ้นส่วนจำกัด งี่สุนซุปเปอร์สโตร์แล้ว ได้รับความยินยอมให้ดำเนินการได้ จำเลยจึงออกตั๋วแลกเงินตามฟ้องสั่งจ่ายเงิน 707,934 บาท ให้แก่โจทก์โดยขีดคร่อมและประทับตรา A/C PAYEE ONLY (เอ/ซี เปยี่โอนลี่) ซึ่งโจทก์ได้รับเงินตามตั๋วแลกเงินดังกล่าวแล้ว จำเลยมิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือผิดกฎหมายและประเพณีการค้าไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ การที่นายไพรัชนำตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปชำระหนี้ของลูกค้ารายอื่นของโจทก์เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับนายไพรัช ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกนายไพรัชเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ศาลชั้นต้นอนุญาต และมีคำสั่งให้เรียกจำเลยว่า จำเลยที่ 1 และเรียกนายไพรัชว่าจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 701,334 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5 มีนาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉันว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันฟังได้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด งี่สุนซุปเปอร์สโตร์สั่งจ่ายเช็คเลขที่ 0526090 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2541 จำนวนเงิน 707,934 บาท ขีดคร่อมระบุชื่อเข้าบัญชีโจทก์และขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออกตามเอกสารหมาย ปล.1 ของศาลจังหวัดอุดรธานี มอบให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าตามใบสั่งซื้อสินค้าเลขที่ 220759, 221771, 221772 และ 225237 งวดเดือนธันวาคม 2540 และเดือนมกราคม 2541 ให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 นำเช็คดังกล่าวไปเปลี่ยนเป็นตั๋วแลกเงินธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาถนนโพธิ์ศรี จังหวัดอุดรธานี หักบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด งี่สุนซุปเปอร์สโตร์ แล้วออกตั๋วแลกเงินเลขที่ 0084386 สั่งจ่ายเงินจำนวน 707,934 บาท ให้แก่โจทก์ขีดคร่อมและประทับตราภาษาอังกฤษว่า A/C PAYEE ONLY (เอ/ซี เปยี่ โอนลี่) ตามเอกสารหมาย ล.3 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์มีนายปรีชาหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด งี่สุนซุปเปอร์สโตร์ เป็นพยานโจทก์เบิกความว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด งี่สุนซุปเปอร์สโตร์กับบริษัทของโจทก์ทำการค้าขายกันมานาน โดยสั่งซื้อสินค้ากัน ในการจ่ายค่าสินค้าจะสั่งจ่ายเป็นเช็คขีดคร่อมระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินเท่านั้น เช็คที่พยานสั่งจ่ายให้แก่โจทก์นั้น มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้เซ็นรับไปตามเอกสารหมาย ปจ.2 และมีนายวันเฉลิมพนักงานของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่าพยานทำงานอยู่ที่บริษัทโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการเขตมีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับงานบัญชีและพนักงาน จำเลยที่ 2 เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานมีหน้าที่ดูแลและเสนอขายสินค้าและรับเงินจากลูกค้าในเขตพื้นที่รับผิดชอบทางภาคอีสาน เมื่อประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2541 จำเลยที่ 2 ไปเก็บเช็คของห้างหุ้นส่วนจำกัด งี่สุนซุปเปอร์สโตร์ ซึ่งเป็นเช็คลงวันที่ 5 มีนาคม 2541 จำนวนเงิน 707,934 บาท เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าในงวดเดือนธันวาคม 2540 เมื่อจำเลยที่ 2 รับเช็คไปแล้ว จะต้องนำเช็คนั้นเข้าบริษัทโจทก์เพื่อชำระตามบิลที่ได้รับตามที่ลูกค้าสั่งซื้อ เช็คดังกล่าวเป็นเช็คขีดคร่อมและขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือออกโดยระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงิน แต่จำเลยที่ 2 กลับนำเช็คดังกล่าวไปเปลี่ยนเป็นตั๋วแลกเงินโดยจำเลยที่ 1 ออกตั๋วแลกเงินให้จำเลยที่ 2 ไปโดยโจทก์ไม่ทราบและไม่รู้เห็น ทั้งผู้สั่งจ่ายก็ไม่ได้ยินยอมให้จำเลยที่ 2 นำเช็คไปเปลี่ยนเป็นตั๋วแลกเงิน ตามปกติการสั่งจ่ายเช็คจากร้านค้าจะต้องมีการระบุเลขที่ของใบวางบิล มีการสั่งซื้อสินค้า เช็คจะต้องมีการระบุเลขที่ใบวางบิลเพื่อตรวจสอบในกรณีที่เช็คมีปัญหา แต่ตามตั๋วแลกเงินไม่สามารถตรวจสอบได้ เมื่อจำเลยที่ 2 นำตั๋วแลกเงินดังกล่าวมาชำระค่าสินค้าของร้านค้าอื่นๆ ซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ จำเลยที่ 2 ได้จัดทำใบบันทึกหนี้นำส่งให้โจทก์ โดยร้านค้ามียอดเงินที่จะต้องชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ จำนวน 713,002.56 บาท แต่เงินตามตั๋วแลกเงิน ไม่เพียงพอยังขาดอยู่จำนวน 5,000 บาทเศษ จำเลยที่ 2 จึงนำเงินส่วนตัวบางส่วนพร้อมด้วยใบส่วนลดพิเศษมารวมกันทำให้ยอดการชำระตรงกับตั๋วแลกเงินดังกล่าว และจำเลยที่ 2 ได้นำเช็คที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด งี่สุนซุปเปอร์สโตร์สั่งจ่ายชำระค่าสินค้าในเดือนถัดมาชำระแทนในงวดดังกล่าว นอกจากนี้ในการชำระค่าสินค้าประจำงวดเดือนมีนาคม 2541 จำเลยที่ 2 ได้นำเช็คที่ห้างดังกล่าวสั่งจ่ายชำระค่าสินค้าในงวดเดือนเมษายน 2541 มาชำระแทนตามเอกสารหมาย ปจ.2 ส่วนจำเลยที่ 1 มีนายกษิพัฒน์พนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2541 พยานทำงานอยู่ที่ธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาถนนโพธิ์ จังหวัดอุดรธานี ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการมีหน้าที่ให้บริการลูกค้ารับฝากเงิน ออกเอกสารต่างๆ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2541 มีจำเลยที่ 2 มาติดต่อกับพนักงานธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาถนนโพธิ์ศรี โดยจำเลยที่ 2 แจ้งว่าเป็นตัวแทนขายสินค้าให้แห่งโจทก์และได้รับเช็คของธนคารจำเลยที่ 1 สาขาถนนโพธิ์ศรี จากลูกค้าซึ่งเป็นเช็คขีดคร่อมสั่งจ่ายในนามโจทก์และขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือออกตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.3 และแจ้งว่าการนำเช็คที่มีชื่อโจทก์เรียกเก็บเงินตามวิธีการปกติจะทำให้เกิดการล่าช้าเนื่องจากจะต้องใช้เวลาในการเรียกเก็บเงินตามเช็คประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อได้รับแจ้งดังกล่าวพยานยังไม่ได้ดำเนินการทันที แต่ได้มีการติดต่อไปยังนายปรีชา ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด งี่สุนซุปเปอร์สโตร์ว่าจำเลยที่ 2 ติดต่อให้เปลี่ยนเช็คที่ห้างสั่งจ่ายเป็นดราฟแทนจะมีเหตุขัดข้องประการใดหรือไม่ ซึ่งพยานได้รับแจ้งว่าไม่มีเหตุขัดข้องจึงดำเนินการให้จำเลยที่ 2 และมีนายธงชัยพนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 2 ได้นำดราฟที่ออกแทนนั้นเข้าฝากเข้าบัญชีแล้วตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.6 เห็นว่า เช็คตามเอกสารหมาย จ.3 และ ปล.1 เป็นเช็คขีดคร่อมและประทับตราภาษาอังกฤษว่า A/C PAYEE ONLY (เอ/ซี เปยี่ โอนลี่) ห้ามเปลี่ยนมือ โดยระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก ดังนั้น การเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้นได้ก็แต่เฉพาะเข้าบัญชีของโจทก์เท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 994 ดังนี้ เมื่อเช็คดังกล่าวมีลักษณะพิเศษเช่นนั้น ธนาคารจำเลยที่ 1 ผู้รับเช็คจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์นำเช็คดังกล่าวมาขอเปลี่ยนเป็นตั๋วแลกเงินจากพนักงานของจำเลยที่ 1 สาขาถนนโพธิ์ศรี จังหวัดอุดรธานี โดยแจ้งว่า การนำเช็คที่มีชื่อโจทก์เรียกเก็บเงินตามวิธีการปกติจะทำให้เกิดการล่าช้าเนื่องจากจะต้องใช้เวลาในการเรียกเก็บเงินตามเช็คประมาณ 2 สัปดาห์ และพนักงานของจำเลยที่ 1 สาขาถนนโพธิ์ศรี ได้ดำเนินการตามที่จำเลยที่ 2 ขอ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่เปลี่ยนเช็คขีดคร่อมสั่งจ่ายในนามของโจทก์และขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือออกเป็นตั๋วแลกเงินจึงเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายและเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 สามารถนำตั๋วแลกเงินดังกล่าวที่แลกเปลี่ยนมาไปหมุนเวียนเป็นการชำระค่าสินค้าของลูกค้ารายอื่นของโจทก์ แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าจำนวนเงินตามเช็คดังกล่าวได้นำเข้าบัญชีของโจทก์แล้วก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ก็ทำให้โจทก์ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นการชำระค่าสินค้าของงวดเดือนใด ทั้งเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่าสินค้าในงวดที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด งี่สุนซุปเปอร์สโตร์ออกเช็คตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.3 ชำระค่าสินค้าได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ที่มีหน้าที่ดูแล เสนอขายสินค้าและรับเงินจากลูกค้าเป็นผู้ที่นำเช็คที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด งี่สุนซุปเปอร์สโตร์ สั่งจ่ายเพื่อชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ไปแลกเปลี่ยนเป็นตั๋วแลกเงินจากจำเลยที่ 1 และแจ้งต่อพนักงานจำเลยที่ 1 สาขายถนนโพธิ์ศรี จังหวัดอุดรธานี ว่าตนเป็นพนักงานของโจทก์ และแจ้งว่าการนำเช็คที่มีชื่อโจทก์เรียกเก็บเงินตามวิธีการปกติจะทำให้เกิดการล่าช้าจนทำให้พนักงานของจำเลยที่ 1 เชื่อตามที่จำเลยที่ 2 แจ้ง ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนที่ทำให้เกิดความเสียหายในครั้งนี้ด้วย เนื่องจากไม่ดูแล ตรวจสอบและควบคุมการกระทำของจำเลยที่ 2 ให้ดี ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าจำเลยที่ 2 มีหน้าที่เกี่ยวกับการรับเงิน หรือรับชำระด้วยเช็คจากลูกค้ากลับปล่อยปละละเลยจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย เช่นนี้ ถือได้ว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของโจทก์ผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดดังกล่าวแล้วเห็นควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดเพียงบกึ่งหนึ่งของค่าเสียหายที่โจทก์ขอ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในเงินจำนวน 350,667 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5 มีนาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share