แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะทำสัญญาซื้อขายสินค้าและสัญญาเช่า โจทก์ไม่ทราบว่าสินค้าดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เหตุแห่งการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดของโจทก์จึงเกิดจากการฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 และที่ 3 อันเป็นผลทำให้นิติกรรมการซื้อขายและการทำสัญญาเช่าตกเป็นโมฆียะ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่กรณีที่เป็นฝ่ายฉ้อฉลโจทก์ย่อมมีความผูกพันตามสัญญาดังกล่าวจนกว่าจะมีการบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น และการบอกล้างโมฆียะกรรมเป็นนิติกรรมระงับสิทธิจึงต้องมีการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง การที่โจทก์ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ถือเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรม เพราะการร้องทุกข์ไม่ใช่การแสดงเจตนาเพื่อก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง สัญญาเช่าดังกล่าวจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าสินค้าตามสัญญาเช่าดังกล่าว จึงถือว่าเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ซึ่งบังคับได้ตามกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีชั่วคราว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 4 กระทง จำเลยที่ 1 ปรับกระทงละ 10,000 บาท จำเลยที่ 3 จำคุกกระทงละ 1 เดือน รวมจำเลยที่ 1 ปรับ 40,000 บาท จำเลยที่ 3 จำคุก 4 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เสนอขายสินค้าตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติให้แก่โจทก์ โดยมีข้อตกลงว่าเมื่อทำสัญญาซื้อขายกันแล้วจะให้จำเลยที่ 1 เช่าและเมื่อจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าให้โจทก์ครบตามสัญญา จำเลยที่ 1 มีข้อผูกพันที่จะต้องซื้อสินค้าดังกล่าวไปจากโจทก์ในราคาที่กำหนดไว้ในสัญญาตาม การทำสัญญาซื้อขายและสัญญาเช่าดังกล่าวทำในวันเดียวกัน จำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายเช็คพิพาท ให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าดังกล่าว เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดโจทก์นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงิน แต่ไม่มีเงินในบัญชีพอจ่ายธนาคารตามเช็คจึงปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับโดย ให้เหตุผลว่า ยังไม่มีการตกลงกับธนาคาร ภายหลังจากทำสัญญาซื้อขายและสัญญาเช่าดังกล่าวแล้วโจทก์ทราบความจริงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของสินค้าที่จำเลยทั้งสามร่วมกันนำมาเสนอขายและทำสัญญาเช่ากับโจทก์ดังกล่าว โจทก์จึงแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสาม ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงโจทก์
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พฤติการณ์การซื้อขายและสัญญาเช่าตามทางนำสืบของโจทก์แสดงให้เห็นว่าขณะทำสัญญาซื้อขายและสัญญาเช่าโจทก์ไม่ทราบว่าสินค้าดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ซึ่งแม้เป็นความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมแต่การที่โจทก์เข้าทำสัญญาดังกล่าวก็เนื่องมาจากการกล่าวอ้างเสนอขายของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ว่าสินค้าดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 เหตุแห่งการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดของโจทก์จึงเกิดจากการฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 อันเป็นผลให้นิติกรรมการซื้อขายและการทำสัญญาเช่าตกเป็นโมฆียะจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่กรณีที่เป็นฝ่ายฉ้อฉลโจทก์ ย่อมมีความผูกพันตามสัญญาดังกล่าวจนกว่าจะมีการบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น และการบอกล้างโมฆียะกรรมเป็นนิติกรรมระงับสิทธิจึงต้องมีการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง การที่โจทก์ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ถือเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรมเพราะการร้องทุกข์ไม่ใช่การแสดงเจตนาเพื่อก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง สัญญาเช่าดังกล่าวจึงมีผลผูกพันคู่สัญญาสามารถบังคับได้ตามกฎหมาย
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.