คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 926/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้มอบอำนาจตาย ก่อนจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ หนังสือมอบอำนาจย่อมระงับสิ้นไปหรือหมดสภาพไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 826 จำเลยร่วมซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินทราบแล้วว่าผู้มอบอำนาจตาย แต่ยังดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินจนเสร็จสิ้น ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยร่วมเป็นการปฏิบัติราชการในหน้าที่ฝ่าฝืนกฎหมายเป็นการละเมิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยร่วมเป็นข้าราชการในสังกัดของกรมที่ดิน จำเลยที่ 1 ทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 ย่อมต้องร่วมรับผิดด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 กรมที่ดินย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนและแก้ไขรายการจดทะเบียนที่ดินและโฉนด ที่ดิน ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และแบ่งแยกโฉนด โดยมิชอบ โดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจที่ระงับสิ้นไปแล้วเพราะผู้มอบอำนาจตาย ได้ ตาม ป. กฎหมายที่ดินมาตรา 61 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ แม้จำเลยที่ 3 จะซื้อที่พิพาทมาโดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันทางทะเบียนและเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตก็ตาม แต่โจทก์ก็รับซื้อทรัพย์สินดังกล่าวไว้จากจำเลยที่ 3 โดยสุจริตเช่นกัน เมื่อกรมที่ดินสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนที่พิพาทและโฉนด ที่พิพาท เป็นเหตุให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นกลับคืนไปยังเจ้าของที่แท้จริงกรณีเช่นนี้ถือว่า โจทก์ถูกรอน สิทธิ์ จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 479.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ออกโฉนดที่ดินเลขที่5359 ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย เนื้อที่ 86 4/10 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 ขายที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ขายให้แก่โจทก์ในราคา 260,000 บาทจดทะเบียนโอนกัน ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย ต่อมาจำเลยที่ 1สั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวและรายการจดทะเบียนทุกรายการตลอดจนเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด คำสั่งของจำเลยที่ 1 เป็นคำสั่งไม่ชอบทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันกระทำให้โจทก์หลงผิด ซื้อทรัพย์ดังกล่าวเป็นเงิน 260,000 าบาท ทำให้โจทก์ขาดรายได้จากเงินดังกล่าวเป็นเงิน 200,000 บาท ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 หรือมิฉะนั้นให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินรวม 460,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 5359 เป็นโฉนดที่ดินที่แยกมาจากโฉนดที่ดินเลขที่ 94 ซึ่งรายการจดทะเบียนประเภทให้เฉพาะส่วนผิดพลาดเนื่องจากผู้รับโอนมิได้มีสิทธิรับโอนตามกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้รับโอนต่อมาไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามรายการจดทะเบียน จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนและแก้ไขรายการจดทะเบียนให้ถูกต้องตามความจริงจำเลยที่ 1 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำให้โจทก์หลงผิดในการซื้อที่ดินตามฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำในการและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่าซื้อทรัพย์โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนจำเลยที่ 3 มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่1 ไม่มีสิทธิสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทและรายการจดทะเบียน เพราะการออกโฉนดเป็นไปโดยชอบและถูกต้องตามกฎหมาย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ
จำเลยที่ 1 ขอให้เรียกนายบุญเลิศเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตาาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)(ก) ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ความเสียหายเกิดจากจำเลยที่ 1 กับพวกกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว จำเลยที่ 1 ออกคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินและรายการจดทะเบียนเพราะขาดความรอบคอบ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ไม่ขาดอายุความจำเลยที่ 1 มีสิทธิเพิกถอนและแก้ไขรายการจดทะเบียนที่พิพาท โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยที่ 3 คืนเงินค่าที่พิพาทให้โจทก์ในฐานะลาภมิควรได้เต็มจำนวน แต่โจทก์นำสืบไม่ได้ว่า จำเลยนอกนั้นมีส่วนร่วมในการรับเงินค่าที่พิพาทจากโจทก์ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมจดทะเบียนที่พิพาทโดยไม่ชอบต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ซึ่งเห็นสมควรกำหนดให้โจทก์ 36,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด เพราะโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าเข้ามามีส่วนร่วมในการที่โจทก์ต้องเสียหายพิพากษาว่า คำสั่งของจำเลยที่ 1 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าที่ดิน 260,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 36,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่านายคำปัน นางฟองแก้ว เป็นสามีภริยากัน และเป็นเจ้าของที่ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 94 ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ที่พิพาทตามโฉนดเลขที่ 5359 พร้อมตึกแถว แยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 94 นางฟองแก้วตายไปก่อนนายคำปันนายคำปันทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่วัดมุงเมือง ภายหลังจากนายคำปันตายแล้ว ทายาทของนางฟองแก้วที่มีสิทธิรับมรดกคงมีแต่นายบุญทา คุณารัตน์ ซึ่งเป็นน้องร่วมบิดามารถาเดียวกัน นายม้วนธนะชัยขันธ์ ผู้จัดการมรดกของนายคำปันตามคำสั่งศาลจะไปจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 94 ให้แก่วัดมุงเมืองแต่เจ้าพนักงานที่ดินทำนิติกรรมให้ไม่ได้ เพราะมีชื่อนางฟองแก้วถือกรรมสิทธิร่วมอยู่ด้วยคณะกรรมการวัดมุงเมืองกับนายบุญทา ทายาทผู้รับมรดกของนางฟองแก้วตกลงกันว่าให้นายบุญทายกที่ดินส่วนของนางฟองแก้วให้แก่วัดมุงเมืองแล้ววัดมุงเมืองจะยกที่นาให้แก่นายบุญทา นายบุญทาทำหนังสือมอบอำนาจให้นายทวี คุณารัตน์ ไปจดทะเบียนโอนที่ดินตามข้อตกลงดังกล่าวการจดทะเบียนไม่อาจทำได้เสร็จในวันนั้นโดยต้องมีการประกาศรับมรดกมีกำหนด 60 วัน นายบุญทาถึงแก่กรรมก่อนครบกำหนดตามประกาศดังกล่าวเจ้าพนักงานที่ดินใช้ใบมอบอำนาจของนายบุญทาจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกเฉพาะส่วนของนางฟองแก้ว ภายหลังจากนายบุญทาถึงแก่กรรมแล้ว และในเวลาต่อมาได้โอนทรัพย์สินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 โอนขายให้แก่จำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 ขายต่อให้โจทก์ ต่อมามีผู้ร้องเรียนต่อจำเลยที่ 1 ว่า การจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นการผิดวัตถุประสงค์ของนายคำปันผู้ตาย จำเลยที่ 1 ตั้นคณะกรรมการสอบสวนในที่สุดจำเลยที่ 1 มีคำสั่งเพิกถอนและแก้ไขรายการจดทะเบียนที่ดินและโฉนดที่ดินเฉพาะส่วนของนายบุญทา ที่รับมรดกจากนางฟองแก้วเป็นต้นไป ในที่ดินโฉนดเลขที่ 94 กับให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทเลขที่ 5359 ซึ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 94 ความละเอียดปรากฎตามเอกสารหมาย จ.5 คงมีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยร่วมไม่ได้กระทำการตามหน้าที่โดยชอบเพราะกระทำการนอกขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 และฝ่าฝืนกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยร่วมและตามที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 3 ทำนิติกรรมซื้อและขายที่พิพาทโดยสุจริต ไม่จำต้องรับผิดเพราะเหตุโจทก์ถูกรอนสิทธิ์จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจเพิกถอนรายการจดทะเบียนและโฉนดที่พิพาท กับตามที่จำเลยร่วมฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยร่วมไม่ได้ทำละเมิด เพราะกระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ต้องรับผิด ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาที่ฎีกาขึ้นมานั้น จำเลยที่ยื่นฎีกาต่างก็มีผลประโยชน์ร่วมกันและเกี่ยวข้องกันในมูลความแห่งคดีเดียวกัน สมควรวินิจฉัยปัญหาที่ฎีกาขึ้นมารวมกันตามประเด็นดังนี้
ข้อ 1 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่
ข้อ 2 จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม จะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด
ข้อ 3 คำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่สั่งเพิกถอนรายการจดทะเบียนและโฉนดที่พิพาท เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ข้อ 4 จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิด เพราะเหตุแห่งการโอนสิทธิหรือไม่
ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยเรียงเป็นลำดับไป
ฎีกาข้อแรกในปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้น คงมีแต่จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมเท่านั้น ที่ฎีกาในปัญหาข้อนี้ โดยจำเลยที่ 3 ให้การต่อสู้คดีในประเด็นข้อนี้ว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายรายละเอียดตามข้อหาที่ระบุไว้ในฟ้องให้ชัดเจนเพียงพอที่จำเลยจะต่อสู้โดยถูกต้องได้และเป็นฟ้องที่บรรยายไม่ครบองค์ประกอบของกฎหมายสำหรับจำเลยร่วมให้การในประเด็นข้อนี้ว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ชัดแจ้งถึงสภาพแห่งข้อหาว่า จำเลยได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายใดส่วนฟ้องโจทก์นั้น บรรยายว่า จำเลยที่ 1โดยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงรายและผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้ออกหนังสือสำคัญโฉนดที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 นำที่พิพาทไปทำนิติกรรมต่อ ๆ มาอีกหลายครั้ง แล้วจำเลยที่ 2 นำไปขายให้แก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ขายต่อให้โจทก์โดยจำเลยร่วมกันทำให้โจทก์หลงผิดซื้อที่พิพาทไว้ ต่อมาจำเลยที่ 1 กลับเพิกถอนรายการจดทะเบียนและโฉนดที่พิพาททำให้โจทก์เสียหาย เห็นว่า นอกจากคำให้การของจำเลยคลุมเครือไม่ได้กล่าวโดยชัดแจ้งว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายรายละเอียดตามข้อหาและขาดองค์ประกอบกฎหมายอย่างใด คำให้การเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดประเด็นในข้อนี้ขึ้นแล้ว ฟ้องโจทก์ยังได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของจำเลย เมื่ออ่านโดยตลอดพอทำให้เข้าใจข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ชัดเจนเพียงพอแล้วโดยบรรยายสภาพแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 1 โดยเจ้าพนักงานที่ดินในสังกัดจำเลยที่ 1 ออกโฉนดที่พิพาทและจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2และผู้อื่นต่อ ๆ มา อีกหลายครั้ง รวมทั้งจำเลยที่ 3 และโจทก์เป็นครั้งสุดท้ายแล้วกลับเพิกถอนรายการจดทะเบียนและโฉนดนั้นเสีย ทำให้โจทก์เสียหาย ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือ โจทก์หลงผิดซื้อที่ดินนั้นไว้ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะมีคำสั่งเพิกถอน ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ฎีกาข้อ 2 ในปัญหาเรื่องจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดนั้น เห็นสมควรวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า จำเลยร่วมจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เป็นอันดับแรก เพราะจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรมในรัฐบาลจะรับผิดในผลแห่งการละเมิดที่จำเลยร่วม พนักงานเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ 1 ได้ทำไปตามหน้าที่และเป็นการละเมิดก่อให้เกิดเสียหายแก่โจทก์เท่านั้น สำหรับประเด็นข้อนี้ จำเลยร่วมนำสืบพัวพันเข้ามาว่า การโอนทรัพย์มรดกเฉพาะส่วนของนางฟองแก้วเป็นของนายบุญทานั้น เมื่อทราบว่านายบุญทาผู้มอบอำนาจให้นายทวี ผู้รับมอบอำนาจทำนิติกรรมแทนได้ถึงแก่กรรมก่อนที่ตนจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ก็ได้นำเรื่องราวเข้าปรึกษา นายพูน ประจงกิจ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงรายในขณะนั้น กับนิติกรประจำสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงรายและมีมติให้ดำเนินการจดทะเบียนตามหนังสือมอบอำนาจต่อไปได้ จากข้อต่อสู้ของจำเลยร่วมนั้นเองแสดงว่า จำเลยร่วมรู้อยู่แล้วว่า นายบุญทาผู้มอบอำนาจตายก่อนจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ หนังสือมอบอำนาจย่อมระงับสิ้นไปหรือหมดสภาพไปตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 826 แต่จำเลยร่วมก็ยังดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิจนเสร็จสิ้น คดีฟังได้ว่า จำเลยร่วมปฎิบัติราชการในหน้าที่และความรับผิดชอบฝ่าฝืนกฎหมายแล้ว ที่จำเลยร่วมอ้างว่าได้นำเรื่องปรึกษานายพูนกับนิติกรแล้ว เป็นเพียงข้อที่จำเลยร่วมแต่ลำพังคนเดียวกล่าวอ้างขึ้นลอย ๆ โดยไม่ได้นำนายพูน หรือนิติกรประจำสำนักงานที่ดินผู้นั้นมาสืบสนับสนุนข้ออ้างที่มีน้ำหนักน่ารับฟังแต่อย่างใดนอกจากนั้น ในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์นั้น จำเลยร่วมได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ไม่ตรงตามเจตนาของนายบุญทาตามที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจ ซึ่งมีข้อความระบุไว้ให้โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่วัดมุงเมืองแต่จำเลยร่วมกลับโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่นายม้วน และปรากฎในรายการจดทะเบียนในเวลาต่อมาว่าได้โอนต่อให้แก่จำเลยที่ 2 ส่วนข้อที่จำเลยร่วมนำสืบว่า นายบุญทาได้เปลี่ยนเจตนาในหนังสือมอบอำนาจก็คงมีแต่คำเบิกความแก้ตัวของจำเลยร่วมคนเดียว กับภาพถ่ายเอกสารที่จำเลยร่วมเองเป็นผู้บันทึกไว้ แต่ที่สำคัญคดีได้ความจากนายทองคาหิรัณย์วัฒนพงศ์ พยานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเคยเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงรายและได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่ 1 ให้ร่วมเป็นกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจดทะเบียนที่ดินรายนี้ว่า ตรวจสอบสารบบการจดทะเบียนแล้ว ไม่พบบันทึกการเปลี่ยนแปลงเจตนาของนายบุญทาดังข้อต่อสู้ของจำเลยร่วม และนายทวี ผู้รับมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว และเป็นบุตรของนายบุญทาก็เบิกความยืนยันว่านายบุญทาไม่เคยเปลี่ยนแปลงเจตนาตามที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจแต่อย่างใด จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เห็นว่า จำเลยร่วมได้กระทำหรือปฎิบัติราชการในหน้าที่และความรับผิดชอบของตนบกพร่องฝ่าฝืนกฎหมายดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นที่เสียหายแก่โจทก์ถือได้ว่า เป็นผู้ทำละเมิดต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น เมื่อจำเลยร่วมเป็นเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดจำเลยที่ 1 ได้ทำละเมิดในการปฎิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 ย่อมต้องร่วมรับผิดด้วยตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76
ฎีกาข้อ 3 ในปัญหาเรื่องคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่สั่งเพิกถอนรายการจดทะเบียนและโฉนดที่พิพาทเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 แก้ไขเพิ่มเตอมโดยประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 334 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 7 ให้อำนาจจำเลยที่ 1 สั่งเพิกถอนและแก้ไขรายการจดทะเบียนที่ดินและโฉนดที่ดินได้หากปรากฎว่า ได้กระทำไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ได้วินิจฉัยไว้ในฎีกาข้อ 2 แล้วว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนมรดกรายนายบุญทาซึ่งรับมรดกจากนางฟองแก้วในที่ดินโฉนดเลขที่ 94 คลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากนายทวี ผู้รับมอบอำนาจจากนายบุญทา ได้นำหนังสือมอบอำนาจมาดำเนินการจดทะเบียนรับโอนมรดกเมื่อหนังสือมอบอำนาจได้ระงับสิ้นไป หรือหมดสภาพไปแล้วเพราะนายบุญทาได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะมีการจดทะเบียนตามหนังสือมอบอำนาจนั้น และโฉนดที่พิพาทเป็นโฉนดที่แบ่งแยกมาจากรายการจดทะเบียนที่ไม่ชอบดังกล่าวโฉนดที่พิพาทจึงออกคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนและแก้ไขรายการจดทะเบียนที่ดินและโฉนดที่ดินได้ และเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
ฎีกาข้อสุดท้ายในปัญหาเรื่องจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดเพราะเหตุแห่งการรอนสิทธิ์หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 3 จะได้ซื้อที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันทางทะเบียนและเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต แต่คดีได้ความว่าโจทก์รับซื้อทรัพย์สินดังกล่าวไว้โดยสุจริตเช่นกัน เมื่อจำเลยที่ 1 สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนที่พิพาทและโฉนดที่พิพาทเป็นเหตุให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นกลับคืนไปยังเจ้าของที่แท้จริง กรณีเช่นนี้ ต้องถือว่า โจทก์ถูกรอนสิทธิ์ ซึ่งจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดในผลแห่งการรอนสิทธิ์นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 479
สำหรับค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยชดใช้ให้โจทก์นั้นปรากฎว่า จำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งในประเด็นข้อนี้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ฉะนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นพับ.

Share