คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3937/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในผลละเมิดของจำเลยที่ 1 ในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของบุคคลซึ่งมีการแสวงหาประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ทำละเมิดในทางการที่จ้างหรือตามที่ได้รับมอบหมายในชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 2 ไว้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ เพียงประการเดียวโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไม่ถูกต้อง คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองมีประโยชน์ร่วมกันในกิจการขนส่งผู้โดยสารหรือไม่ต่อไปอีก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่1 มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ซึ่งถูกจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์อีกคันหนึ่งโดยประมาทชนเอาในระหว่างอายุสัญญาประกัน โดยจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของเจ้าของรถ หรือเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันกับเจ้าของรถ และจำเลยที่ 1 ขับรถคันนี้ในทางการที่จ้างหรือตามที่ได้รับมอบหมายเพื่อประโยชน์ของเจ้าของรถและจำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้รถคันที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายโจทก์ได้จัดการซ่อมแล้วรับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 26,200 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองให้การว่า เหตุเกิดมิใช่เพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 รถยนต์คันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกที่นำรถมาร่วมรับจ้างขนส่งคนโดยสารกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และไม่มีผลประโยชน์ร่วมกัน มีข้อสัญญาระหว่างจำเลยด้วยว่า หากเกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 26,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยทั้งสองมีผลประโยชน์ร่วมกันในกิจการขนส่งผู้โดยสารนั้น เห็นว่า ในชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 2 ไว้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ เพียงประการเดียว ฝ่ายโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไม่ถูกต้อง คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองมีผลประโยชน์ร่วมกันในกิจการขนส่งผู้โดยสารหรือไม่ต่อไปอีก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1

พิพากษายืน

Share