คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3934/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมจำเลยจ่ายเงินค่ารับรองลูกค้า ค่าน้ำมันพาหนะ และค่าโทรศัพท์ให้แก่ลูกจ้างในแผนกขายซึ่งรวมถึงโจทก์ด้วยตามยอดเงินในใบเสร็จรับเงินที่ขอเบิก ต่อมาจำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นประจำตามอัตราที่แน่นอนทุกเดือนโดยไม่ต้องมีใบเสร็จรับเงินมาแสดงอีก แสดงว่าจำเลยมีวัตถุประสงค์ในการจ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงาน ไม่ได้จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานของโจทก์โดยตรง การเปลี่ยนแปลงการจ่ายเงินเป็นไม่ต้องนำใบเสร็จรับเงินมาแสดงอีก เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงวิธีการจ่ายเงินให้สะดวกในการบริหารจัดการเท่านั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของการจ่ายเงิน เงินนั้นจึงไม่ใช่ค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 การที่จำเลยย้ายโจทก์จากตำแหน่งผู้จัดการเขตการขายไปเป็นผู้จัดการประสานงานขายเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับเงินดังกล่าวจึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยลดค่าจ้างโจทก์
จำเลยออกคำสั่งให้โจทก์ไปทำงานในตำแหน่งผู้จัดการประสานงานขาย แต่โจทก์ไม่ยอมไปทำงาน ยังคงทำงานในตำแหน่งผู้จัดการเขตการขายตามเดิม ต่อมาจำเลยมีหนังสือเตือนแล้ว จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยและกระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30,000 บาท ค่าชดเชย 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 11 มกราคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 100,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30,000 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 90,000 บาท และค่าชดเชย 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินค่าชดเชยนับแต่วันที่ 12 มกราคม 2549 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าเงินค่ารับรองลูกค้า ค่าน้ำมันพาหนะ ค่าโทรศัพท์เป็นเงินที่จำเลยให้เป็นค่าใช้จ่ายในแผนกการขายเท่านั้น ส่วนค่าคอมมิสชันเป็นเงินเพิ่มจูงใจในการทำงาน เงินดังกล่าวมิใช่ค่าจ้าง เมื่อจำเลยย้ายโจทก์ไปทำงานตำแหน่งอื่นที่มิใช่แผนกขายโดยตรง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว ไม่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงให้โจทก์ได้รับค่าจ้างลดลง คำสั่งย้ายงานจึงชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์ไม่ยอมย้ายไปตามคำสั่งของจำเลยจึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลย จำเลยออกหนังสือเตือนแล้วโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอีกภายในเวลาไม่เกิน 1 ปี จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมจำเลยจ่ายเงินค่ารับรองลูกค้า ค่าน้ำมันพาหนะ และค่าโทรศัพท์ให้แก่ลูกจ้างในแผนกขายซึ่งรวมถึงโจทก์ด้วยตามยอดเงินในใบเสร็จรับเงินที่ขอเบิก แต่ต่อมาจำเลยได้จ่ายให้เป็นประจำตามอัตราที่แน่นอนทุกเดือนโดยไม่ต้องมีใบเสร็จรับเงินมาแสดงอีก ดังนี้จึงแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีวัตถุประสงค์ในการจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงาน มิได้จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานของโจทก์โดยตรง แม้จำเลยจะเปลี่ยนแปลงการจ่ายเงินให้แก่โจทก์โดยไม่ต้องนำใบเสร็จรับเงินมาแสดงอีก ก็เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงวิธีการจ่ายเงินให้เกิดความสะดวกในการบริหารจัดการเท่านั้น มิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของการจ่ายเงิน เงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่ค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ส่วนค่าคอมมิสชัน โจทก์มิได้บรรยายกล่าวไว้ในคำฟ้อง จำเลยก็ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีถึงค่าคอมมิสชันไว้ อุทธรณ์ของจำเลยเกี่ยวกับค่าคอมมิสชันจึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ดังนั้น เมื่อจำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์จากตำแหน่งผู้จัดการเขตการขายไปเป็นผู้จัดการประสานงานขายเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับเงินค่ารับรองลูกค้า ค่าน้ำมันพาหนะและค่าโทรศัพท์ จึงมิใช่กรณีที่จำเลยลดค่าจ้างโจทก์แต่ประการใด การที่โจทก์ไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ แต่ยังคงทำงานในตำแหน่งเดิมให้จำเลยและต่อมาจำเลยได้มีหนังสือเตือนแล้ว จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลย และเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share