คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10879-10880/2557

แหล่งที่มา :

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองและบริวารอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทของโจทก์โดยไม่มีสิทธิ ย่อมเป็นการทำละเมิดโจทก์ด้วยกันทุกคน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารทั้งหมดให้ออกไปจากที่ดินได้ ไม่ว่าจะฟ้องรวมมาในคดีเดียวกันหรือแยกฟ้องเป็นรายบุคคล โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 สำนวนหลัง ซึ่งเป็นจำเลยคนละคนกับสำนวนแรกจึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
ประเด็นในคดีก่อนตามคำพิพากษาศาลฎีกามีว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ ส่วนคดีนี้ โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองเป็นคำฟ้องเกี่ยวกับเรื่องละเมิด ซึ่งมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ประเด็นแห่งคดีจึงแตกต่างกัน ถือไม่ได้ว่าเป็นเรื่องเดียวกันไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยเรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ ให้เรียกจำเลยสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์ และห้ามจำเลยทั้งสองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือกระทำการใดๆ ในที่ดินพิพาทอีกต่อไป หากเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนอาคารตึกแถวและบ้านไม้สองชั้นรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างอื่นทุกประเภทที่สร้างอยู่บนที่ดินพิพาทออกไป โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเพียงผู้เดียว หากเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทตามแผนที่พิพาท ห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองสำนวนรวม 3,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย นางศรุดา ทายาทของจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว โจทก์แถลงรับว่าผู้ร้องเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 จริง จึงอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 2 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 43
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ฟ้องโจทก์สำนวนหลังเป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องโจทก์สำนวนแรกหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เป็นเพียงบริวารของจำเลยที่ 1 ถ้าศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี คำพิพากษาย่อมผูกพันไปยังวงศ์ญาติและบริวารของจำเลยที่ 1 ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (1) จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในเรื่องเดียวกันกับที่ฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองและบริวารอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทของโจทก์โดยไม่มีสิทธิอันจะอ้างได้ ย่อมเป็นการทำละเมิดโจทก์ด้วยกันทุกคน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารทั้งหมดให้ออกไปจากที่ดินได้ ไม่ว่าจะฟ้องรวมมาในคดีเดียวกันหรือแยกฟ้องเป็นรายบุคคล กฎหมายหาได้จำกัดสิทธิในการฟ้องคดีว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ได้เพียงคนเดียวเท่านั้นไม่ เพราะคำพิพากษาให้ขับไล่ที่ใช้บังคับได้ตลอดถึงวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของจำเลยที่ 1 ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (1) บัญญัติไว้นั้น เป็นเพียงข้อยกเว้น โดยไม่ถือว่าเป็นการเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง อันจะต้องห้าม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ทั้งหากโจทก์ไม่ฟ้องจำเลยที่ 2 เสียในชั้นนี้ ยังอาจเป็นการเปิดช่องให้จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นบังคับคดีได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 สำนวนหลัง ซึ่งเป็นจำเลยคนละคนกับสำนวนแรกจึงไม่เป็นฟ้องซ้อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ชอบที่ศาลจะวินิจฉัยให้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ นั้น เห็นว่า ปัญหาเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำซึ่งต้องห้าม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งสองมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้ เห็นว่า ประเด็นในคดีก่อนตามคำพิพากษาศาลฎีกา มีว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ ส่วนคดีนี้โจทก์ขับไล่จำเลยทั้งสองเป็นคำฟ้องเกี่ยวกับเรื่องละเมิด ซึ่งมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ประเด็นแห่งคดีจึงแตกต่างกัน ถือไม่ได้ว่าเป็นเรื่องเดียวกันไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share