แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายบ้านเลขที่ 26/30, 26/26 และ 26/28 ให้แก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และโจทก์ทั้งสองตามลำดับ ในราคาหลังละ 4,500,000 บาท ต่อมาเมื่อมีการฟ้องร้องเกี่ยวกับความชำรุดบกพร่อง หน้าที่ความรับผิดและทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ฎีกาที่พิพาทในบ้านแต่ละหลัง จึงแยกจากกันตามสัญญาที่ทำไว้ ดังนั้นภาระหนี้ในบ้านแต่ละหลังจึงตกอยู่แก่โจทก์ตามสัญญาที่ทำไว้กับจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 2 ว่าจ้างให้ทำหินอ่อนขาวเพิ่มเติมในบ้านเลขที่ 26/26 จึงต้องชำระเงิน 198,040 บาท เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเกี่ยวกับบ้านเลขที่ 26/26 ไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 13,431,440.50 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง และชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,803,163.91 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การและจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งพร้อมทั้งแก้ไขคำฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินจำนวน 2,696,836.09 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2550 จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 1,215 วัน คิดเป็นดอกเบี้ย 673,285.42 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งสิ้น 3,370,121.51 บาท และโจทก์ทั้งสองยังต้องร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ได้ออกเงินทดรองจ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ค่าส่วนกลาง ค่าตกแต่งบ้านเลขที่ 26/30 ให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,014,290 บาท ของบ้านเลขที่ 26/26 ให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,303,785 บาท บ้านเลขที่ 26/28 คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 622,589.17 บาท ขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองชำระให้แก่จำเลยที่ 1 เพิ่มอีกรวมเป็นเงิน 2,940,665.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ทั้งสองจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งและแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,834,919 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2553 เป็นต้นไป จนกว่าโจทก์ทั้งสองจะชำระให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วเสร็จ คำขอในส่วนฟ้องแย้งอื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 437,824 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้ง (16 สิงหาคม 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2549 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายบ้านเลขที่ 26/30, 26/26 และ 26/28 หมู่ที่ 3 ตำบลชากพง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ให้แก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และโจทก์ทั้งสองตามลำดับ ในราคาหลังละ 4,500,000 บาท บ้านทั้งสามหลังปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 33921 ตำบลชากพง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ที่โจทก์ทั้งสองทำสัญญาแบ่งเช่าจากจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองชำระราคาบ้านทั้งสามหลัง ให้จำเลยที่ 1 ไปแล้วเป็นเงินรวม 10,803,163.91 บาท ซึ่งมีสาระสำคัญว่าจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบทรัพย์สินให้แก่โจทก์ทั้งสองภายในวันที่ 1 มีนาคม 2550 และต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน ก่อนส่งมอบ เพื่อให้โจทก์ทั้งสองตรวจสอบครั้งสุดท้าย หากมีการเปลี่ยนวันส่งมอบต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร หากเกินกว่า 90 วัน นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2550 โจทก์ทั้งสองมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและจำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินทั้งหมดที่มีการชำระแล้วแก่โจทก์ทั้งสอง การตรวจสอบครั้งสุดท้ายโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ต้องจัดทำและลงลายมือชื่อในรายงานแสดงรายการทรัพย์สินที่มีปัญหาข้อบกพร่อง ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จก่อนวันกำหนดส่งมอบและโจทก์ทั้งสองให้ความเห็นชอบในการตรวจสอบครั้งสุดท้าย จึงจะถือว่ามีการยอมรับการส่งมอบแล้ว วันที่ 5 กันยายน 2554 นายพิทักษ์ชน เข้าตรวจสอบบ้านทั้งสามหลัง พบความบกพร่องของบ้านแต่ละหลังหลายรายการ โจทก์ทั้งสองยังไม่ชำระราคาค่าบ้านทั้งสามหลังงวดสุดท้ายเป็นเงิน 2,696,836.09 บาท หน้าที่ความรับผิดและทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ฎีกาที่พิพาทในบ้านแต่ละหลัง จึงแยกจากกันตามสัญญาที่ทำไว้ ดังนั้นภาระหนี้ในบ้านเลขที่ 26/30 จึงตกอยู่แก่โจทก์ที่ 1 ภาระหนี้ในบ้านเลขที่ 26/26 จึงตกอยู่กับโจทก์ที่ 2 และภาระหนี้ในบ้านเลขที่ 26/28 จึงตกอยู่แก่โจทก์ทั้งสอง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 2 มานั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 โดยเนื้อหาในอุทธรณ์มิได้ขอบังคับตามฟ้องของโจทก์ทั้งสอง และไม่ได้เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนฟ้องของโจทก์ทั้งสอง เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์โต้แย้งในเรื่องนี้ คดีในส่วนจำเลยที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 2 มานั้นไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาจึงรับพิจารณาเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 2 ว่าจ้างให้ทำงานหินอ่อนขาวเพิ่มเติมในบ้านเลขที่ 26/26 จึงต้องชำระเงิน 198,040 บาท เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเกี่ยวกับบ้านเลขที่ 26/26 ไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 ต้องชำระค่าโรงยิมเป็นเงิน 208,000 บาท จำเลยทั้งสองได้พยายามเข้าแก้ไขความชำรุดบกพร่อง แต่โจทก์ทั้งสองมีพฤติการณ์ไม่ยินยอมให้จำเลยทั้งสองเข้าทำการแก้ไขซ่อมแซม จำเลยทั้งสองจึงไม่สามารถแก้ไขซ่อมแซมได้โดยไม่ใช่ความผิดของจำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างก่อสร้างบ้านงวดสุดท้าย หากจำเลยทั้งสองต้องแก้ไขซ่อมแซมก่อนจึงจะเรียกเก็บเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายได้ ขอให้ลดค่าสินจ้างลงเพื่อให้โจทก์ทั้งสองไปทำการซ่อมแซมเองนั้น เห็นว่า ในส่วนโรงยิม จำเลยที่ 1 ฎีกาเพียงว่ามีการก่อสร้างจริง เป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างเพื่อให้โจทก์ที่ 1 ใช้บริการเพียงผู้เดียวนั้น จำเลยที่ 1 มิได้ยกเหตุผลมาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ชัดแจ้งว่าวินิจฉัยไม่ถูกต้องอย่างไรและที่ถูกควรเป็นอย่างไร จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ในส่วนค่าจ้างงวดสุดท้ายเป็นเงิน 2,696,836.09 บาท โจทก์ทั้งสองไม่ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ก่อสร้างบ้านไม่เรียบร้อยไม่เป็นไปตามแบบและมีความชำรุดบกพร่อง ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 แก้ไขแล้ว แต่จำเลยที่ 1 มิได้ทำการแก้ไขนั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่นำสืบโต้แย้งว่า ไม่มีความชำรุดบกพร่อง และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองมีพฤติการณ์ไม่ยินยอมให้จำเลยทั้งสองเข้าทำการแก้ไขซ่อมแซม เมื่อจำเลยทั้งสองไม่สามารถแก้ไขซ่อมแซมได้จึงไม่ใช่ความผิดของจำเลยทั้งสองนั้น จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบตั้งแต่ศาลชั้นต้น เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งและเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาในประเด็นดังกล่าวมาจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการที่สองตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า โจทก์ที่ 1 ต้องชำระเงินค่าอ่างล้างหน้า เคาน์เตอร์หินอ่อน 2 ใบ เครื่องล้างจาน ห้องครัวและอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศ กระจกห้องน้ำ ตู้เย็น โรงยิม ค่าแรงทำหินและค่าหินทำเคาน์เตอร์และเส้นบอร์ดเดอร์รอบบ้าน รายการที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 16 และที่ 20 จำนวน 465,819 บาท และโจทก์ทั้งสองต้องร่วมกันชำระเงินค่าชุดครัวสวนส้มและอุปกรณ์ เครื่องปรับอากาศ ฉากกั้นอาบน้ำ ตู้เย็น ค่าแรงงานช่างหินและค่าหิน เส้นบอร์ดเดอร์รอบบ้าน (พื้นบ้าน) ค่าภาษีแบ่งเช่าที่ดิน ค่าทาสีภายในและภายนอก ค่าประกันบ้าน 5 ปี และค่าส่วนกลางปี 2553 รายการที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 12 ที่ 16 ที่ 17 และที่ 20 จำนวน 463,195 บาท แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ กรณีที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า รายการที่ 2 ที่ 4 ที่ 9 และรายการที่ 4 และที่ 7 โจทก์ทั้งสองยอมชำระราคาให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ส่วนรายการที่ 13 ที่ 17 และที่ 20 โจทก์ทั้งสองไม่ได้ให้การปฏิเสธแต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้กำหนดให้และไม่ได้กล่าวถึง โจทก์ทั้งสองจึงต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ชำระราคาเครื่องล้างจาน เครื่องปรับอากาศและตู้เย็น ซึ่งเป็นรายการที่ 2 ที่ 4 ที่ 9 จำนวน 182,968 บาท และรายการที่ 4 ที่ 7 จำนวน 133,888 บาท ส่วนนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 1 จึงต้องชำระเงิน 182,968 บาท และโจทก์ทั้งสองต้องชำระเงิน 133,888 บาท แก่จำเลยที่ 1 แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้พิพากษาให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้ฟังขึ้น ส่วนกรณีค่าภาษีแบ่งเช่าที่ดิน 8,045 บาท ค่าประกันบ้าน 5 ปี 21,024 บาท และค่าส่วนกลาง 49,680 บาท รายการที่ 13 ที่ 17 และที่ 20 นั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยและพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 เป็นไปตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาแล้วจึงไม่จำต้องต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ ส่วนกรณีค่าอ่างล้างหน้าเคาน์เตอร์หินอ่อน ห้องครัวและอุปกรณ์ กระจกห้องน้ำ รายการที่ 1 ที่ 3 ที่ 8 ชุดครัวสวนส้มและอุปกรณ์ ฉากกั้นอาบน้ำ รายการที่ 3 ที่ 6 นั้น ปรากฏตามเอกสารผนวก 2 ท้ายสัญญาขายมีรายละเอียดข้อมูลจำเพาะเกี่ยวกับอาคาร เนื้อที่ใช้สอย รากฐานโครงสร้าง ประตู หน้าต่างพื้นห้องนอนซึ่งตามเอกสารดังกล่าวระบุว่ารายการต่อไปนี้รวมอยู่แล้วในรายการจัดซื้อและจัดหาที่ได้ตกลงกันไว้ โดยห้องครัวระบุว่ามีพื้นที่ทำงานในครัวประมาณ 3 ตารางเมตร มีตู้และลิ้นชัก พร้อมแผ่นหินแกรนิต อุปกรณ์ติดตั้งอ่างล้างจาน ส่วนห้องน้ำระบุว่าห้องน้ำทั้งสองห้อง พื้นและกำแพงเป็นหินอ่อน หน้าต่างกระจกคอนกรีต ชุดฝักบัวและอ่างล้างหน้าพร้อมอุปกรณ์ เอกสารนี้ยังระบุว่ารายการซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในสัญญานี้ คือ สินค้าสีขาว (ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง เครื่องล้างจาน) เครื่องปรับอากาศ และพัดลมเพดาน เมื่อเป็นเช่นนี้อ่างล้างจานหน้าเคาน์เตอร์หินอ่อน กระจกห้องน้ำ ฉากกั้นอาบน้ำ ห้องครัวและอุปกรณ์ชุดครัวสวนส้มและอุปกรณ์ ล้วนแล้วแต่เป็นอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในห้องครัวและห้องน้ำและไม่ใช่รายการที่ไม่รวมอยู่ในสัญญานี้ อุปกรณ์ดังกล่าวข้างต้นย่อมรวมทั้งค่าแรง ค่าติดตั้งค่าทำสี อีกด้วย ดังนั้น รายการที่ 1 ที่ 3 ที่ 8 ที่ 16 ซึ่งประกอบด้วยอ่างล้างหน้าห้องครัวและอุปกรณ์ กระจกห้องน้ำและเคาน์เตอร์หินของบ้านเลขที่ 26/30 และรายการที่ 3 ที่ 6 ที่ 9 ที่ 16 ซึ่งเป็นอุปกรณ์ประจำบ้านดังกล่าวเลขที่ 26/28 จึงรวมอยู่ในราคาบ้านด้วย ส่วนเส้นบอร์ดเดอร์ รอบบ้าน รายการที่ 20 และรายการที่ 12 นั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีหลักฐานมาสืบแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นงานที่โจทก์ทั้งสองสั่งทำเพิ่มเติม จึงฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่ารายการที่ 1 ที่ 3 ที่ 8 ที่ 16 และที่ 20 รายการที่ 3 ที่ 6 ที่ 9 ที่ 12 และที่ 16 ไม่ใช่เป็นงานที่โจทก์ทั้งสองสั่งเพิ่มเติม แต่รายการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้จึงฟังไม่ขึ้น
สรุปได้ว่า โจทก์ที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นค่าเครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องล้างจาน เครื่องปรับอากาศและตู้เย็น) รายการที่ 2 ที่ 4 และที่ 9 เป็นเงิน 182,968 บาท ค่าผ้าม่าน รายการที่ 6 เป็นเงิน 80,000 บาท ค่าภาษีแบ่งเช่าที่ดิน รายการที่ 10 เป็นเงิน 7,995 บาท ค่าทำฝ้าตู้เสื้อผ้า รายการที่ 11 เป็นเงิน 1,250 บาท ค่าเตียงขนาด 3 ฟุต 4 นิ้ว รายการที่ 12 เป็นเงิน 57,680 บาท ค่าตู้ข้างเตียง 2 ตัว รายการที่ 13 เป็นเงิน 5,400 บาท ค่าเตียง 4 เสาขนาด 5 ฟุต รายการที่ 14 เป็นเงิน 25,500 บาท ค่าตู้เสื้อผ้า รายการที่ 17 เป็นเงิน 24,000 บาท ค่าตู้เสื้อผ้า รายการที่ 18 เป็นเงิน 26,000 บาท ค่าตู้เสื้อผ้ารายการที่ 19 เป็นเงิน 34,000 บาท ค่าเฟอร์นิเจอร์ รายการที่ 23 เป็นเงิน 4,000 บาท และค่าเฟอร์นิเจอร์ รายการที่ 24 เป็นเงิน 21,000 บาท รวมเป็นเงิน 469,793 บาท และโจทก์ทั้งสองมีหน้าที่ร่วมกันชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นค่าเครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องปรับอากาศ 4 ตัว และตู้เย็น) รายการที่ 4 และที่ 7 เป็นเงิน 133,888 บาท ค่าสำรองจ่ายทำฝ้าตู้เสื้อผ้า รายการที่ 8 เป็นเงิน 1,250 บาท ค่าภาษีแบ่งเช่าที่ดิน รายการที่ 13 เป็นเงิน 8,045 บาท ค่าประกันบ้าน 5 ปี รายการที่ 17 เป็นเงิน 21,024 บาท ค่าส่วนกลาง รายการที่ 20 เป็นเงิน 49,680 บาท ค่าตู้เสื้อผ้า รายการที่ 21 เป็นเงิน 25,000 บาท ค่าตู้เสื้อผ้ารายการที่ 22 เป็นเงิน 28,000 บาท ค่าตู้เสื้อผ้า รายการที่ 23 เป็นเงิน 18,000 บาท รวมเป็นเงิน 284,887 บาท
อนึ่ง เมื่อศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้โจทก์ที่ 1 ชำระเงินค่าโรงยิมจำนวน 208,000 บาท ให้โจทก์ที่ 2 ชำระเงินค่าหินอ่อนขาวในบ้านเลขที่ 28/26 จำนวน 198,040 บาท และให้โจทก์ทั้งสองชำระค่าบ้านงวดสุดท้าย 2,696,836.09 บาท รวมทุนทรัพย์ส่วนนี้เป็นเงิน 3,102,876.09 บาท จึงให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 62,057 บาท แก่จำเลยที่ 1
พิพากษาแก้เป็นว่าให้โจทก์ที่ 1 ชำระเงิน 469,793 บาท และให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 284,887 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 469,793 บาท และ 284,887 บาท นับแต่วันฟ้องแย้ง (ฟ้องแย้ง วันที่ 16 สิงหาคม 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจำนวน 62,057 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกา นอกจากนี้ให้เป็นพับ