คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 682/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอให้มีการตรวจสารพันธุกรรมเพื่อพิสูจน์ว่า เด็กชาย ธ. เป็นบุตรของโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพียงให้ส่งสำเนาให้จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยทั้งสองยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพียงว่า “รับเป็นคำคัดค้านของจำเลยทั้งสอง สำเนาให้โจทก์” การที่เมื่อถึงวันตรวจ จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมไปตรวจโดยไม่มีเหตุอันสมควร แล้วศาลล่างทั้งสองนำบทข้อสันนิษฐานที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสองมาบังคับใช้นั้นไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160 วรรคสาม เนื่องจากการจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่ต้องการตรวจเป็นผลร้ายแก่คู่ความฝ่ายนั้นได้ ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งให้ไปตรวจเสียก่อน เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพียงรับคำร้อง รับคำคัดค้านและสำเนาให้อีกฝ่าย ยังมิได้มีคำสั่งเลยว่าให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง คือโจทก์ จำเลยที่ 1 และเด็กชาย ธ. ไปดำเนินการตรวจสารพันธุกรรม กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 160 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำบทข้อสันนิษฐานเป็นผลร้ายตามมาตรา 160 วรรคสาม มาใช้บังคับในคดีได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่าเด็กชาย ธ. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ และให้โจทก์มีอำนาจปกครองเด็กชาย ธ. ร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย กับให้จำเลยที่ 1 ไปแจ้งต่อนายทะเบียนให้แก้ไขว่าโจทก์เป็นบิดา หากจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เด็กชาย ธ. ผู้เยาว์ เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยทั้งสองแต่งงานกันตามประเพณีและอยู่กินฉันสามีภริยาตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2547 ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม 2555 จำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรส ต่อมาวันที่ 15 กรกฎาคม 2555 จำเลยที่ 1 คลอดเด็กชาย ธ. ระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นมารดา จำเลยที่ 2 เป็นบิดา โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้อ้างว่าเด็กชาย ธ. เป็นบุตรของโจทก์กับจำเลยที่ 1
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า เด็กชาย ธ. เป็นบุตรของโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองยกอ้างเป็นปัญหาวินิจฉัยข้อแรกว่า การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอให้มีการตรวจสารพันธุกรรม แต่จำเลยทั้งสองไม่ยินยอมมาให้ตรวจโดยมีเหตุผลสมควร กรณีจึงไม่อาจนำบทข้อสันนิษฐานที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสองมาบังคับใช้ได้นั้น คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 12 ตุลาคม 2555 ขอให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญตรวจสารพันธุกรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำเนาให้จำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 จำเลยทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่เคยมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวต่อกัน กรณีไม่มีความจำเป็นต้องตรวจสารพันธุกรรม ขอให้ยกคำร้องของโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า รับเป็นคำคัดค้านของจำเลยทั้งสอง สำเนาให้โจทก์ หลังจากนั้นศาลชั้นต้นไม่มีคำสั่งใดๆ เกี่ยวกับคำขอดังกล่าวของโจทก์ ต่อมาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ขอตรวจสารพันธุกรรมแต่จำเลยทั้งสองไม่ยินยอม พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160 บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ข้อเท็จจริงที่ต้องการให้มีการตรวจพิสูจน์เป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสอง นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 160 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในระหว่างการพิจารณาคดี เมื่อคู่ความฝ่ายใดร้องขอหรือศาลเห็นสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไปให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลเห็นสมควร ตรวจร่างกาย เก็บตัวอย่างเลือด สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรม หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการตรวจพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญแห่งคดี… ทั้งนี้ ถือเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้” และมาตรา 160 วรรคสาม บัญญัติว่า “หากคู่ความฝ่ายใดไม่ยินยอมหรือกระทำการป้องปัดขัดขวางมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ให้ความยินยอมให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญตรวจเพื่อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ข้อเท็จจริงที่ต้องการให้ตรวจพิสูจน์เป็นผลร้ายแก่คู่ความฝ่ายนั้น” ตามบทบัญญัติมาตรา 160 วรรคหนึ่ง จึงมีความหมายอยู่ในตัวว่า เมื่อคู่ความหรือศาลเห็นสมควรให้มีการตรวจสารพันธุกรรม ศาลมีอำนาจสั่งให้คู่ความไปดำเนินการตรวจพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าว และหากศาลได้มีคำสั่งเช่นว่านั้นแล้ว คู่ความฝ่ายใดไม่ยินยอมไปตรวจหรือกระทำการป้องปัดขัดขวางมิให้มีการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าว กรณีจะต้องด้วยมาตรา 160 วรรคสาม ตอนท้ายว่า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่ต้องการให้ตรวจพิสูจน์เป็นผลร้ายแก่คู่ความฝ่ายนั้น แต่คดีนี้ โจทก์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้มีการตรวจสารพันธุกรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพียงให้ส่งสำเนาให้จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยทั้งสองยื่นคำคัดค้านเข้ามา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพียงว่า “รับเป็นคำคัดค้านของจำเลยทั้งสอง สำเนาให้โจทก์” ศาลชั้นต้นยังไม่มีคำสั่งเลยว่าให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง คือโจทก์ จำเลยที่ 1 และเด็กชาย ธ. ไปดำเนินการตรวจสารพันธุกรรม กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 160 วรรคหนึ่ง ดังนั้น จึงไม่อาจนำบทข้อสันนิษฐานเป็นผลร้ายตามมาตรา 160 วรรคสาม ตอนท้ายมาใช้บังคับในคดีนี้ได้ เนื่องจากกรณีมิใช่ศาลเห็นสมควรและได้มีคำสั่งให้มีการตรวจสารพันธุกรรมแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ยินยอม อันจะต้องด้วยข้อสันนิษฐานดังกล่าว การที่ศาลล่างทั้งสองนำข้อสันนิษฐานดังกล่าวมาฟังเป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสองจึงไม่ถูกต้อง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยเหตุผลตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยทั้งสองปฏิเสธการตรวจพิสูจน์โดยมีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า เด็กชาย ธ. เป็นบุตรของโจทก์หรือไม่ โดยข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความสอดคล้องรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นคนต่างด้าวสัญชาติออสเตรเลีย เมื่อปี 2550 ถึง 2551 ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในฐานะนักศึกษาโครงการแลกเปลี่ยน จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกเปิดสถาบันสอนภาษาสมาร์ทเลินนิ่ง โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ในปี 2550 สถาบันสอนภาษาของจำเลยที่ 1 ต้องการครูชาวต่างชาติช่วยงานอิงลิชแคมป์ ต่อมามีผู้แนะนำโจทก์ไปช่วยทำงานดังกล่าว ทำให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 รู้จักกัน โจทก์เดินทางกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย ต่อมาในปี 2554 โจทก์เดินทางเข้ามาในประเทศไทยอีกจนสิ้นปี 2554 จึงเดินทางกลับ โจทก์พักอยู่ที่โรงแรมแสนสบาย ตั้งอยู่ข้างๆ สถาบันสอนภาษาสมาร์ทเลินนิ่งของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เคยไปพบโจทก์ที่โรงแรมดังกล่าวในเวลากลางวัน เมื่อโจทก์เดินทางกลับประเทศออสเตรเลียแล้ว โจทก์และจำเลยที่ 1 ติดต่อกันทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเมล จำเลยที่ 1 ได้ส่งอีเมลถึงผลการตรวจอัลตราซาวนด์ให้โจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ตั้งครรภ์ ซึ่งต่อมาจำเลยที่ 1 คลอดทารกในครรภ์ออกมาเป็นเด็กชาย ธ. จำเลยที่ 1 เป็นเพื่อนกับนางสาวภิญญาพัชญ์ ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำเลยที่ 1 แนะนำโจทก์ให้รู้จักนางสาวภิญญาพัชญ์ นางสาวภิญญาพัชญ์รับราชการเป็นครูที่โรงเรียนทัพรั้งวิทยาคม ระหว่างวันที่ 6 ถึง 23 พฤศจิกายน 2554 โจทก์ไปสอนหนังสือที่โรงเรียนทัพรั้งวิทยาคม เมื่อโจทก์เดินทางกลับประเทศออสเตรเลียได้เขียนอีเมล์ติดต่อกับนางสาวภิญญาพัชญ์ โจทก์เบิกความว่า ในช่วงปี 2550 ถึง 2554 โจทก์พักที่โรงแรมใกล้กับสถาบันสอนภาษาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไปพบโจทก์ที่โรงแรมและมีเพศสัมพันธ์กันหลายครั้ง ส่วนจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์กับโจทก์เพราะมีจำเลยที่ 2 เป็นสามีอยู่แล้ว แม้จำเลยที่ 1 จะเคยไปพบโจทก์ที่โรงแรม แต่ไปในช่วงเวลากลางวัน และพบที่ชั้นล่างของโรงแรม คำเบิกความของโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงเป็นพยานยันกันปากต่อปาก ไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 เคยมีเพศสัมพันธ์กันหรือไม่ แต่เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้มีการติดต่อกันทางอีเมล ซึ่งเป็นการเขียนจดหมายโต้ตอบกันเป็นภาษาอังกฤษระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ทำคำแปลมาแล้ว แต่จำเลยที่ 1 เบิกความอ้างคำแปลที่แตกต่างไปจากคำแปลของโจทก์ เช่นนี้ ศาลย่อมรับฟังอีเมลในฉบับภาษาอังกฤษที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ยอมรับข้อความเข้ามาวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องพิจารณาจากคำแปลที่โจทก์จัดทำมา ซึ่งตามอีเมลดังกล่าว จำเลยที่ 1 ส่งข้อความกล่าวถึงโจทก์ด้วยความคิดถึง การคาดหมายจะได้อยู่ร่วมกับโจทก์ทั้งกลางวันและกลางคืน จำเลยที่ 1 กล่าวถึงความรู้สึกตอนที่อยู่ในอ้อมกอดของโจทก์ ชอบรอยยิ้ม และช่วงเวลาที่สบตากันโดยคิดว่าโจทก์รู้สึกเช่นเดียวกันกับจำเลยที่ 1 ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อความแสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกในทางชู้สาวทั้งสิ้น นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ส่งผลอัลตราซาวนด์ให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์ส่งอีเมลตอบว่าโจทก์ไม่ได้เรียกร้องให้ส่งมา เพราะคำพูดของจำเลยที่ 1 ที่บอกก็เพียงพอแล้ว ข้อความดังกล่าวเมื่อพิจารณาประกอบจดหมายโต้ตอบระหว่างโจทก์กับนางสาวภิญญาพัชญ์ เพื่อนของจำเลยที่ 1 ตามอีเมลฉบับแรก นางสาวภิญญาพัชญ์เขียนว่า ตอนพบโจทก์เมื่อ 4 ปีก่อน นางสาวภิญญาพัชญ์ชอบโจทก์และรู้ว่าเพื่อนของตนชอบโจทก์เช่นกัน ฉบับที่สาม นางสาวภิญญาพัชญ์เขียนว่า ต้องการให้โจทก์ดูแลเจี๊ยบ (หมายถึงจำเลยที่ 1) และลูกของโจทก์ และไม่ทราบว่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้พูดจากันเกี่ยวกับเรื่องลูกอย่างไร ฉบับที่สี่ เขียนว่า ถ้าโจทก์มาประเทศไทยเมื่อลูกของโจทก์คลอดแล้ว นางสาวภิญญาพัชญ์จะเล่ารายละเอียดของเรื่องต่างๆ ให้ฟัง ตามข้อความทางอีเมลและผลการตรวจอัลตราซาวน์ ได้ความว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีความชอบพอ เคยกอดกัน จำเลยที่ 1 ปรารถนาจะอยู่กับโจทก์ทั้งกลางวันและกลางคืน ได้ส่งผลการตั้งครรภ์ให้โจทก์ เมื่อรับฟังประกอบคำเบิกความของโจทก์ว่า โจทก์เคยมีเพศสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 จึงทำให้ข้อเท็จจริงตามอีเมลและผลการตรวจอัลตราซาวนด์สอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ ต่างจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ที่อ้างว่า โจทก์มารบกวนด้วยการติดต่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงส่งผลการตั้งครรภ์ให้โจทก์เพื่อตัดบทนั้น ไม่สอดคล้องกับข้อความในอีเมลที่จำเลยที่ 1 ส่งไปยังโจทก์ ที่จำเลยที่ 1 เขียนว่า “…ฉันยอมรับว่าเราไม่รักกันและกัน และความสัมพันธ์ของเราก็ไม่ถูกต้อง ถ้าเช่นนั้นเราจะเลี้ยงดูลูกของเราด้วยกันได้อย่างไร…เลสลี่ย์ (หมายถึงจำเลยที่ 2) คือคนที่ฉันต้องการอยู่ด้วย…” ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กับโจทก์เคยมีเพศสัมพันธ์กัน จำเลยที่ 1 แจ้งโจทก์เรื่องบุตรในครรภ์ เด็กชาย ธ. จึงเป็นบุตรของโจทก์ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย กรณีไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นๆ ของจำเลยทั้งสองอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share