แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
วันที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์เริ่มตั้งแต่วันใดไม่ปรากฏแต่บันทึกความเสียหายที่จำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ไว้ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2522 และหลังจากนั้นปรากฏว่าบ้านของโจทก์ยังเสียหายเพิ่มเติมขึ้นอีกเรื่อย ๆ แม้จำเลยจะมีหลักฐานการรับมอบงานช่วงหน้าบ้านโจทก์ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ก่อสร้างถนนในส่วนวางท่อระบายน้ำ ถมทรายบนท่อ พร้อมทั้งบดอัดแน่น และทำผิวจราจร ถมทรายและบดอัดแน่นเสร็จตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2522แล้วก็ตาม แต่หลังจากวันที่ 8 ธันวาคม 2522 ยังมีการทำถนนบริเวณหน้าบ้านโจทก์ต่อไป การที่บ้านโจทก์ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นหลังจากวันที่ 8 ธันวาคม 2522 จึงสืบเนื่องมาจากการทำถนนของจำเลยที่ 1 นั่นเอง โจทก์ให้ช่างซ่อมตัวบ้านไม่ให้ทรุดลงอีกในปลายปี 2523 และฟ้องคดีนี้วันที่ 23 เมษายน 2524ยังไม่พ้นเวลา 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 เมื่อระหว่างปลายปี พ.ศ. 2522 ถึงกลางปี พ.ศ. 2523 จำเลยที่ 1 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ก่อสร้างถนนสายรัชดาภิเษกช่วงจากถนนลาดพร้าว อโศก ดินแดง และสุทธิสาร โดยประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังกล่าวคือ จำเลยที่ 1 ใช้รถตักดินที่มีแรงกระเทือนมาก รถแทรกเตอร์และอุปกรณ์อื่น ๆ ทำให้บ้านเลขที่ 81/3 หมู่ที่ 2ซอยอุดมสุข ถนนสุทธิสาร แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานครของโจทก์ซึ่งอยู่ติดถนนดังกล่าว พังแตกร้าวชำรุดทรุดโทรมเสียหายทั้งหลัง รวมทั้งพื้นดินบริเวณบ้านแตกร้าวทั่วไป โจทก์เคยบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองจัดการซ่อมแซมบ้านของโจทก์ จำเลยไม่จัดการแต่อย่างใด โจทก์เห็นว่าถ้าขืนปล่อยทิ้งไว้บ้านของโจทก์อาจจะพังล้มลง ทำให้โจทก์เสียหายเพิ่มขึ้นอีก และเป็นอันตรายแก่โจทก์และบริวารโจทก์ โจทก์จึงได้จ้างช่างและซื้ออุปกรณ์มาซ่อมแซมบ้านของโจทก์เท่าที่จำเป็น เสียค่าจ้างเหมาแรงงานช่าง เป็นเงิน30,000 บาท ค่าวัสดุก่อสร้างเป็นเงิน 12,644 บาท และโจทก์ต้องซ่อมแซมบ้านของโจทก์ให้อยู่ในสภาพเดิมอีก ซึ่งช่างกะว่าจะต้องใช้เงินอีกประมาณ 500,000 บาท โจทก์จึงได้มอบให้ทนายความบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายรวมเป็นเงินจำนวน270,000 บาท จำเลยเพิกเฉย โจทก์ขอคิดค่าซ่อมแซมบ้านและบริเวณบ้านของโจทก์ให้อยู่ในสภาพเดิมนอกจากส่วนที่ซ่อมแซมไปแล้วอีกเป็นเงิน 270,000 บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน 312,644 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นจำนวน 312,644 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างถนนตามฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ดังที่โจทก์บรรยายฟ้องอย่างเคลือบคลุม จำเลยที่ 1ก่อสร้างถนนสายดังกล่าวด้วยความระมัดระวังโดยมีองค์กรของจำเลยทั้งสองควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ถนนดังกล่าวช่วงหน้าบ้านของโจทก์มีความกว้างทั้งสิ้น 40 เมตร จากจุดกึ่งกลางของเขตทางไปถึงเขตบ้านของโจทก์เป็นผิวจราจรกว้าง 15 เมตร และเป็นทางเท้ากว้าง5 เมตร ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่จำเลยที่ 1 เริ่มก่อสร้างถนนดังกล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2521 ถึงวันที่ 22 เมษายน 2523การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเมื่อนับถึงวันฟ้องจึงเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ และตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน2523 จนถึงปัจจุบัน จำเลยที่ 1 ก่อสร้างถนนดังกล่าวช่วงหน้าบ้านของโจทก์ดังนี้ส่วนที่เป็นทางเท้า จำเลยที่ 1 กลบหินฝุ่นต่อจากระดับดินดังกล่าวโดยใช้เครื่องมือบดอัดที่มีขนาดเล็กเพื่อป้องกันไม่ให้ท่อระบายน้ำแตก ส่วนผิวจราจรจำเลยที่ 1 ก็ใช้ความระมัดระวังไม่ให้มีการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง และการบดอัดดังกล่าวส่งผลกระทบกระเทือนในแนวดิ่งมากกว่าด้านข้าง ส่วนแรงกระทบด้านข้างต้องผ่านส่วนที่เป็นทางเท้าก่อนจะถึงบ้านของโจทก์เมื่อไม่ปรากฏว่าท่อระบายน้ำบุบสลายจึงเป็นไปไม่ได้ที่บ้านของโจทก์จะได้รับความเสียหาย และบ้านใกล้ ๆ บ้านของโจทก์ไม่ปรากฏว่าได้รับความเสียหายเลย แสดงให้เห็นว่าการก่อสร้างถนนดังกล่าวไม่ได้ทำให้บ้านของโจทก์ได้รับความเสียหาย การก่อสร้างถนนดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเหมา จำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 กระทำไปตามแบบและคำสั่งของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 มีวิศวกรมาควบคุมดูแลการทำงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 428 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สำหรับความเสียหาย โจทก์ทำการซ่อมแซมไปแล้วจำเลยที่ 1 ไม่อาจทราบได้ว่าความเสียหายเกิดขึ้นและมีการซ่อมแซมจริงหรือไม่ จำเลยที่ 1 ไม่สามารถประมาณค่าเสียหายได้แต่อย่างไรก็ตามบ้านของโจทก์มีสภาพเก่า หากจะต้องซ่อมแซมค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมไม่ควรเกิน 10,000 บาท และฟ้องโจทก์เคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2ไม่ได้เป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 แต่เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1ความเสียหายที่โจทก์ได้รับไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง เพราะบ้านของโจทก์อยู่ห่างจากแนวถนน มีท่อระบายน้ำท่อประปา และสิ่งก่อสร้างอย่างอื่น ๆ คั่นอยู่และสิ่งก่อสร้างดังกล่าวไม่ได้รับความเสียหาย เหตุที่บ้านของโจทก์ได้รับความเสียหายเกิดจากการก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ ทำให้ไม่แข็งแรงพอ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินไป ค่าเสียหายที่แท้จริงไม่เกิน 10,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 122,644 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง(23 เมษายน 2524) จนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาว่าจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่นั้น โจทก์มีตัวโจทก์นายวิรัช เจริญพงศ์ และนายตระกูล คุณแก้ว ซึ่งมีบ้านอยู่แนวเดียวกันกับบ้านโจทก์ห่างกันประมาณ 30 และ 50 เมตร ตามลำดับเบิกความตรงกันว่าจำเลยที่ 1 ขุดหลุมวางท่อระบายน้ำติดแนวรั้วบ้านไม่ได้ปักเสากันดินแนวรั้วบ้านไหล และขุดหลุมทิ้งไว้ไม่ได้วางท่อกลบดินทันที เมื่อฝนตกประกอบกับแรงสั่นสะเทือนของเครื่องมือรถบดที่ใช้ในการก่อสร้างถนนทำให้ดินใต้ฐานรากของตัวบ้านไหลลงหลุมที่ขุดทำให้บ้านของโจทก์และพยานทั้งสองทรุด ผนังบ้านแตกร้าว นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายนิพนธ์ มงคลสมัย ช่างโยธาของจำเลยที่ 2 ผู้ควบคุมการก่อสร้างถนนสายนี้มาเบิกความสนับสนุนว่าความเสียหายของบ้านโจทก์เกิดจากการทำถนนผ่านหน้าบ้านโจทก์ส่วนจำเลยคงมีแต่นายกวีพจน์ พิริยานุสรณ์ และนายวิสิษฐ์พิริยานุสรณ์ กรรมการของจำเลยที่ 1 เบิกความว่าโจทก์ใช้เสาเข็มเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว ยาว 6 เมตร กดลงแนวดินลึก 4 เมตรห่างต้นละ 30 เซนติเมตร กันดินไหลลงหลุม และวางท่อระบายน้ำแล้วถมดินกลบหลุมที่ขุดแล้วเสร็จไม่เกิน 2 วัน แต่นายวิสิษฐ์ก็รับว่าไม่ได้คุมงาน ไม่รู้เห็นการทำงานดังกล่าวพยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลยที่ 1 ฟังได้ว่า เหตุที่ตัวบ้านโจทก์เสียหายเกิดจากความประมาทเลินเล่อในการทำถนนของจำเลยที่ 1 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ปัญหาต่อไปมีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์นำสืบว่าเมื่อปี พ.ศ. 2522 จำเลยที่ 1 ทำถนนรัชดาภิเษกผ่านรั้วบ้านของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตก ทำให้บ้านของโจทก์เสียหาย นายนิพนธ์ นายชัยสิทธิ์ และนายกวีพจน์ได้ทำบันทึกความเสียหายเอกสารหมาย จ.3 ให้โจทก์ไว้ ต่อมาได้ติดต่อให้จำเลยทั้งสองมาซ่อมแซมบ้านให้โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองผัดผ่อนเรื่อยมาทำให้บ้านทรุดโทรมลงไปเรื่อย ๆ ต่อมาได้ไปร้องทุกข์กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2523 ตามสำเนาคำร้องเอกสารหมาย จ.7และมีนายนิพนธ์ มงคลสมัย มาเบิกความสนับสนุนว่า ได้เข้าไปดูบ้านโจทก์ในราวเดือนธันวาคม 2522 พยานดูบ้านโจทก์หลายครั้งครั้งหลังรอยร้าวเพิ่มขึ้นจากรอยร้าวเดิม พยานได้รับคำสั่งจากนายสมพรหัวหน้างานให้รายงานความเสียหายของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 แผนที่ 2 แต่รายงานที่ทำตามเอกสารหมาย จ.7เป็นความเสียหายตอนปี 2522 ไม่ได้รายงานความเสียหายที่เพิ่มเติมภายหลัง เห็นว่าวันที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์เริ่มตั้งแต่วันใดไม่ปรากฏ และตามบันทึกเอกสารหมาย จ.3 ไม่ได้ลงวันที่แต่มีข้อความที่ด้านหลังบันทึกดังกล่าวตรงมุมซ้ายว่า “ได้มาตรวจแล้ว8 ธ.ค. 22 ลายมือชื่อ และ บ.ไทยสถาปนา จำกัด” แสดงว่าหลังจากวันที่ 8 ธันวาคม 2522 บ้านโจทก์ยังได้รับความเสียหายเพิ่มเติมขึ้นอีกเรื่อย ๆ แม้ฝ่ายจำเลยจะมีหลักฐานการรับมอบงานช่วงหน้าบ้านโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน2522 และวันที่ 18 มิถุนายน 2522 ตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.5ตามลำดับแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างถนนในส่วนวางท่อระบายน้ำถมทรายบนท่อ พร้อมทั้งบดอัดแน่นและทำผิวจราจรโดยปรับระดับเสริมแต่งพื้นที่ และถมทรายแล้วบดอัดแน่นเสร็จตั้งแต่วันที่ 22พฤศจิกายน 2522 แล้วก็ตาม แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของนายวิสิษฐ์ พิริยานุสรณ์ และนายกวีพจน์ กรรมการของจำเลยที่ 1ว่า หลังจากวันที่ 8 ธันวาคม 2522 ไปแล้ว ยังมีการทำถนนบริเวณหน้าบ้านของโจทก์ต่อไปโดยการบดอัดผิวถนน ซึ่งใช้รถบดถนนและรถบดสั่นสะเทือนและตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2523 จำเลยที่ 1ได้ทำท่อระบายน้ำต่อโดยถมชั้นหินฝุ่นและปูทางเท้าโดยใช้เครื่องมือบดอัดซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม การเทคอนกรีตถนนทำแล้วประมาณเดือนสามหรือสี่ปี พ.ศ. 2524 จึงเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าการที่บ้านของโจทก์ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นหลังจากวันที่ 8ธันวาคม 2522 นั้นสืบเนื่องมาจากการทำถนนของโจทก์นั่นเองปรากฏว่าโจทก์ให้ช่างซ่อมพยุงตัวบ้านไม่ให้ทรุดลงอีกในราวปลายปีพ.ศ. 2523 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 23 เมษายน 2524 ยังไม่พ้นกำหนดเวลา 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ”
พิพากษายืน