แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้กำหนดเงื่อนไขในการขายทอดตลาดไว้ว่าจะต้องขออนุญาตศาลก่อนเคาะไม้หรือตกลงขายก็ตาม แต่แท้จริงผู้ทำการขายทอดตลาดแสดงการตกลงขายก็คือเจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 282 หาใช่ศาลไม่ ดังนั้น หากจำเลยเห็นว่าการขายทอดตลาดไม่ชอบจะอุทธรณ์คำสั่งทันทีไม่ได้ แต่จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้นก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงแต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันทราบการฝ่าฝืนนั้น ตามมาตรา 27และมาตรา 296 วรรคสอง เมื่อจำเลยมิได้ดำเนินการดังกล่าว จึงไม่อาจใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้.
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 24 มกราคม 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จ ต่อมาจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินพร้อมตึกแถวและบ้าน ประกาศขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง การขายทอดตลาดครั้งที่สอง นายบุญมี ซ้อนสุข ประมูลราคาสูงสุดเป็นเงิน 3,200,000 บาท จำเลยแถลงคัดค้านว่า ราคาที่ประมูลได้ต่ำกว่าราคาแท้จริงของทรัพย์สินมาก ขอให้ประกาศขายทอดตลาดใหม่ศาลชั้นต้นเห็นว่าราคาที่ผู้ประมูลเสนอเป็นราคาพอสมควรแล้วจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ขายได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงได้ขายทรัพย์ดังกล่าวไป
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งว่า การขายทอดตลาดไม่ชอบ และราคาต่ำไปขอให้ขายทอดตลาดใหม่
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยถือว่าเป็นคำสั่งที่ทำให้ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีเสร็จไป จำเลยจึงชอบที่จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นได้โดยไม่ต้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้นก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามรายงานเจ้าหน้าที่และบันทึกการขายทอดตลาดทรัพย์คดีนี้พอสรุปได้ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้กำหนดเงื่อนไขในการขายทอดตลาดไว้ด้วยว่าจะต้องขออนุญาตศาลก่อนเคาะไม้หรือตกลงขาย และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งเงื่อนไขดังกล่าวให้ผู้เข้าสู้ราคาทราบแล้ว การขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดเงื่อนไขว่าต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนทำการเคาะไม้หรือตกลงขายเช่นนี้ แม้จะมีคำสั่งศาลระคนอยู่ด้วยก็ตาม แต่โดยแท้ที่จริงผู้ที่ทำการทอดตลาดแสดงการตกลงขายก็คือเจ้าพนักงานบังคับคดี หาใช่ศาลไม่ เพราะการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะรวบรวมเงินให้พอชำระหนี้ตามคำพิพากษาอันเป็นกระบวนวิธีการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 282 ดังนั้นหากจำเลยต้องเสียหายและเห็นว่าการขายทอดตลาดดังกล่าวไม่ชอบและราคาต่ำไป จะอุทธรณ์คำสั่งทันทีโดยถือว่าศาลเป็นผู้สั่งอนุญาตให้ขายไม่ได้ ซึ่งโดยเนื้อแท้เป็นการกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมาย กรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 และมาตรา 296 วรรคสองกล่าวคือจำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้นก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงแต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้น ขอให้ศาลมีคำสั่งยกกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวง หรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะหรือขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใด ๆ แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่เห็นสมควร แต่ในกรณีนี้จำเลยมิได้ยื่นคำร้องคัดค้านเรื่องผิดระเบียบหรือการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าวแต่อย่างใด เช่นนี้ จำเลยจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาหาได้ไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.