คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3923/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บุคคลที่จะอ้างอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา237ได้ต้องเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้อยู่ในขณะที่ลูกหนี้กระทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินส่วนการที่พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา113บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องร้องขอต่อศาลได้เป็นเรื่องกฎหมายล้มละลายให้อำนาจให้แก่ผู้ร้องในอันที่จะกระทำแทนเจ้าหนี้ได้เป็นกรณีพิเศษโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลในคดีล้มละลายไม่ต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่เท่านั้นอายุความที่จะใช้บังคับย่อมต้องถือเอาอายุความของเจ้าหนี้ผู้เกี่ยวข้องในขณะที่อาจจะบังคับตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้นั้นจริงเป็นเกณฑ์พิจารณาจะถือเอาวันที่ผู้ร้องได้รู้ถึงต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนเป็นหลักในการเริ่มต้นนับอายุความไม่ได้ เมื่อเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ซึ่งร้องขอให้ผู้ร้องร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลที่ดินพิพาทได้รู้หรือควรจะรู้เหตุแห่งการเพิกถอนเมื่อวันที่15พฤศจิกายน2527ซึ่งนับถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อวันที่24 มีนาคม2531เป็นเวลาเกินกว่า1ปีแล้วคำร้องของผู้ร้องจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา240และพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา113

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่20 มกราคม 2529 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2529 และพิพากษาให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่28 มกราคม 2530 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน2521 จำเลยโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินรวม 7 โฉนด โฉนดเลขที่ 10526,10540, 10693, 16366, 16368 และ 16369 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1ซึ่งเป็นภรรยาของจำเลยในราคา 1,110,000 บาท เมื่อวันที่27 พฤษภาคม 2525 ผู้คัดค้านที่ 1 โอนขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2ในราคา 10,700,000 บาท เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2526 ผู้คัดค้านที่ 2 โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 10540, 10693, 16367, 16368และ 16369 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ในราคา 8,000,000 บาท วันเดียวกันนั้นผู้คัดค้านที่ 3 โอนขายที่ดินทั้งห้าโฉนดให้แก่ผู้คัดค้านที่ 4 ในราคา 24,080,625 บาท เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2528ผู้คัดค้านที่ 4 ให้ผู้คัดค้านที่ 5 เช่าที่ดินทั้งห้าโฉนดมีกำหนดเวลา 30 ปี ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 10529 และ 16366 เมื่อวันที่19 สิงหาคม 2529 ผู้คัดค้านที่ 2 โอนขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ 6ในราคา 6,482,000 บาท และเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2529 ผู้คัดค้านที่ 6 จดทะเบียนภาระจำยอมที่ดินทั้งสองโฉนดบางส่วนเป็นทางเดินของที่ดินโฉนดเลขที่ 10540, 16367 และ 16368 แก่ผู้คัดค้านที่ 4และในขณะเดียวกันผู้คัดค้านที่ 4 จดทะเบียนภารจำยอมที่ดินโฉนดเลขที่ 10540, 16367 และ 16368 เป็นทางเดินของที่ดินโฉนดเลขที่10529 และ 16366 แก่ผู้คัดค้านที่ 6 การที่จำเลยโอนขายกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งเจ็ดโฉนดให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ในขณะที่จำเลยมีหนี้อยู่เป็นจำนวนมากและไม่มีทรัพย์สินอื่นเพียงพอที่จะชำระหนี้จึงเป็นการกระทำโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสียเปรียบ ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 6 ผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 4และที่ 5 แม้จะกระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 10529, 10540,10693, 16366, 16367, 16368 และ 16369 ระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 1 ระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 และเพิกถอนการโอนโฉนดที่ดินเลขที่ 10540, 10693, 16367, 16368และ 16369 ระหว่างผู้คัดค้านที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 3 ระหว่างผู้คัดค้านที่ 3 กับผู้คัดค้านที่ 4 เพิกถอนสิทธิการเช่าที่ดินทั้งห้าโฉนดระหว่างผู้คัดค้านที่ 4 กับผู้คัดค้านที่ 5 เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 10529 และ 16366 ระหว่างผู้คัดค้านที่ 2กับผู้คัดค้านที่ 6 และเพิกถอนการจดทะเบียนภารจำยอมบนที่ดินโฉนดเลขที่ 10529 และ 16366 กับที่ดินโฉนดเลขที่ 10540, 16367และ 16368 ระหว่างผู้คัดค้านที่ 6 กับผู้คัดค้านที่ 4 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 113 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 โดยให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมหากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านทั้งหกร่วมกันชดใช้ราคาที่ดินเป็นเงินจำนวน 10,059,750 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องขอเพิกถอนการโอนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า โจทก์เจ้าหนี้อื่นและผู้ร้องรู้เหตุแห่งการเพิกถอนเกิน 1 ปีแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องทราบถึงเหตุอันเป็นมูล ขอให้เพิกถอนการโอนเกิดกว่า 1 ปีแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 3 ไม่ยื่นคำคัดค้าน
ผู้คัดค้านที่ 4 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องรู้ถึงมูลเหตุจะขอให้เพิกถอนการโอนเกินกว่า 1 ปี แล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 5 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 5 อยู่ในฐานะผู้เช่าไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ราคา ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 6 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องทราบถึงมูลเหตุแห่งการขอให้เพิกถอนการโอนเกินกว่า 1 ปีแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องประการเดียวว่า การขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 113 เริ่มนับอายุความตั้งแต่เมื่อไรผู้ร้องฎีกาว่า การนับอายุความใช้สิทธิเรียกร้องขอให้เพิกถอนเริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้ร้องทราบเหตุการโอนโดยฉ้อฉลภายใน 1 ปีซึ่งในคดีนี้ผู้ร้องทราบเหตุแห่งการโอนดังกล่าวเมื่อวันที่ 11มีนาคม 2531 และได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนการโอนเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2531 ภายในกำหนด 1 ปี จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 นั้น เห็นว่า ธรรมดาบุคคลที่จะอ้างอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237ได้ต้องเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้อยู่ในขณะที่ลูกหนี้กระทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินเท่านั้น ส่วนการที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 113 บัญญัติให้ผู้ร้องร้องขอต่อศาลได้เป็นเรื่องกฎหมายล้มละลายให้อำนาจให้แก่ผู้ร้องในอันที่จะกระทำแทนเจ้าหนี้ได้เป็นกรณีพิเศษ โดยทำเป็นคำร้องต่อศาลในคดีล้มละลายไม่ต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่เท่านั้น ฉะนั้นอายุความที่จะใช้บังคับย่อมต้องถือเอาอายุความของเจ้าหนี้ผู้เกี่ยวข้องในขณะที่อาจจะบังคับตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้นั้นจริง ๆ เป็นเกณฑ์พิจารณา จะถือเอาวันที่ผู้ร้องได้รู้ถึงต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนเป็นหลักในการเริ่มต้นนับอายุความไม่ได้ ดังนั้น เมื่อเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ซึ่งร้องขอให้ผู้ร้องร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลที่ดินพิพาทได้รู้หรือควรจะรู้เหตุแห่งการเพิกถอนเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2527ซึ่งนับถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2531เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว คำร้องของผู้ร้องจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 และพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 113
พิพากษายืน

Share