คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1425/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาของศาลแขวงตลิ่งชันซึ่งมีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยระหว่างโจทก์และจำเลยที่1เป็นอย่างเดียวกันว่าจำเลยที่1ขับรถยนต์โดยสารทับขาซ้ายของโจทก์โดยประมาทเลินเล่อหรือไม่การฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา46ซึ่งวินิจฉัยว่าจำเลยที่1มิได้ประมาทเลินเล่อเมื่อจำเลยที่1มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์จำเลยที่2และที่3ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่1จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์และเนื่องจากมูลหนี้ละเมิดตามฟ้องเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ศาลฎีกาให้มีผลถึงจำเลยที่1ที่มิได้ฎีกาด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนางทองมั่น แช่มช้อย เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2533 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขับรถยนต์โดยสารประจำทางหมายเลขทะเบียน 11-0659 กรุงเทพมหานคร รับคนโดยสารในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปตามถนนเพชรเกษมจากท่าพระมุ่งหน้าไปบางแค เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุใกล้ป้ายจอดรถรับคนโดยสารเยื้องปากซอยเพชรเกษม 48 จำเลยที่ 1 มองเห็นรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 7ต-0281 ซึ่งนายสุรศักดิ์ เนาวพรพรรณเป็นผู้ขับและโจทก์นั่งซ้อนท้ายกับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 6ต-6154 ซึ่งมีนายสายันต์ ลิ้มเจริญ เป็นผู้ขับเฉี่ยวชนกันล้มลง โจทก์ตกจากรถจักรยานยนต์มาอยู่ที่ส่วนท้ายใกล้ล้อหลังด้านขวาของรถยนต์โดยสารที่จำเลยที่ 1 ขับขณะนั้นจำเลยที่ 1หยุดรถแล้วแต่ด้วยความประมาทจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารถอยหลังมาทับขาซ้ายของโจทก์ ทั้ง ๆ ที่มีคนบอกให้ขับไปข้างหน้าเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายแก่กายสาหัส โจทก์ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลบางไผ่ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเสียค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์ ทำมาหาได้ระหว่างเจ็บป่วยต้องเสียความสามารถประกอบการงานไม่เหมือนเดิม ต้องเสียหายทางร่างกายและอนามัย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 400,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 400,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์โดยสารประจำทางหมายเลขทะเบียน 11-0659 กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารกำลังจะเข้าป้ายจอดรถประจำทางจำเลยที่ 1 ไม่เห็นรถจักรยานยนต์ 2 คัน เฉี่ยวชนกันหลังเกิดเหตุโจทก์ตกจากรถจักรยานยนต์กระเด็นเข้าไปอยู่ใต้ท้องรถยนต์โดยสารด้านขวาและถูกล้อหลังด้านขวาทับขาบางส่วน โจทก์มิได้กระเด็นมาอยู่ด้านหลังล้อหลังด้านขวาและจำเลยที่ 1 มิได้ขับรถยนต์โดยสารถอยหลังมาทับขาของโจทก์ตามฟ้อง ความประมาทเกิดจากการขับรถจักรยานยนต์ของนายสุรศักดิ์ เนาวพรพรรณ และนายสายันต์ ลิ้มเจริญ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า เหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทของนายสุรศักดิ์ เนาวพรพรรณ และนายสายัณต์ ลิ้มเจริญ ซึ่งขับรถจักรยานยนต์ด้วยความประมาทเฉี่ยวชนกันเป็นเหตุให้โจทก์ตกจากรถจักรยานยนต์เข้ามาใต้ท้องรถยนต์โดยสารที่จำเลยที่ 1ขับ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน144,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 195,500 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ที่ 2 และ ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อคดีอาญาถึงที่สุดแล้วการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจะต้องถือตามข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญานั้น ปรากฏว่าเกี่ยวกับคดีนี้เดิมพนักงานอัยการกองคดีแขวงตลิ่งชันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแขวงตลิ่งชัน ในข้อหาความผิดต่อร่างกายประมาท ความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก ในระหว่างพิจารณาโจทก์ในคดีนี้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลแขวงตลิ่งชันพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 78, 157, 160 วรรคแรกตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1377/2534 ของศาลแขวงตลิ่งชันจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ในที่สุดคดีส่วนอาญาศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการประมาทเลินเล่อตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3140/2536 ท้ายฎีกา เห็นว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาของศาลแขวงตลิ่งชัน ซึ่งมีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นอย่างเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารทับขาซ้ายของโจทก์โดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ การฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46ซึ่งคดีอาญาดังกล่าวฟังข้อเท็จจริงว่า รถคันที่นายสุรศักดิ์ขับปะทะกับรถคันที่นายสายันต์ขับ รถนายสุรศักดิ์ ล้มลง โจทก์ซึ่งนั่งซ้อนท้ายกระเด็นร่างกายกระแทกบริเวณล้อหลังด้านขวาของรถยนต์โดยสารที่จำเลยที่ 1 ขับ กรณีจึงเป็นไปได้ว่าตัวโจทก์กระเด็นออกไปปะทะล้อรถหลัง และรถยนต์โดยสาร ซึ่งยังไม่ทันจอดสนิทได้ทับขาซ้ายของโจทก์ไปแล้วทั้งข้อเท็จจริงก็ไม่น่าเชื่อว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ยินเสียงร้องตะโกนให้ขับรถยนต์ไปข้างหน้าแล้วยังกลับขับรถยนต์ถอยหลังแล้วจึงขับไปข้างหน้าเป็นเหตุให้ล้อรถยนต์ทับขาซ้ายของโจทก์ 2 ครั้ง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ดังนี้จึงจะต้องฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ขับรถยนต์โดยสารทับขาซ้ายของโจทก์โดยประมาทเลินเล่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และเนื่องจากมูลหนี้ละเมิดตามฟ้องเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาด้วย
พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง

Share