คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 392/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีเดิมที่โจทก์ฟ้อง น. และจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องให้เพิกถอนการฉ้อฉล เพราะการโอนที่ดินพิพาทของ น. ให้แก่จำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของ น. เสียเปรียบซึ่งผลของคำพิพากษาคดีดังกล่าวมีผลทำให้การโอนที่ดินพิพาทระหว่าง น. และจำเลยที่ 1 ต้องถูกเพิกถอนและ น. ต้องโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายเดิม สิทธิของโจทก์ซึ่งนำมาฟ้องคดีนี้จึงเกิดขึ้นจากคำพิพากษาของศาลในคดีก่อนนั้นเอง เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องฟ้องคดีนี้เพื่อให้เป็นไปตามผลของคำพิพากษาคดีก่อน ซึ่งโจทก์ไม่อาจที่จะบังคับคดีในคดีก่อนได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไปแล้ว การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องคดีเพื่อให้เพิกถอนการฉ้อฉล แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทโดยมิชอบ โดยอาศัยสิทธิตามคำพิพากษาในคดีก่อน อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ย่อมนำมา ใช้บังคับไม่ได้ แต่เป็นเรื่องการขอให้บังคับตามสิทธิที่เกิดขึ้นตามคำพิพากษา จึงต้องใช้อายุความตามมาตรา 193/32 คือ อายุความ 10 ปี
คดีเดิมโจทก์ฟ้อง น. และจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนการโอนซึ่งเป็นการโอนที่ดินพิพาทที่ น. โอนให้จำเลยที่ 1 อันเป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งไม่ใช่คู่ความเดียวกันกับคดีเดิมทั้งหมด และที่สำคัญเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 โอนให้จำเลยที่ 2 เป็นการโอนคนละรายกัน และประเด็นแห่งคดีไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพราะคดีเดิมมีประเด็นว่า น. โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 เป็นการฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจโอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ คดีนี้จึงไม่ใช่ฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 744/2556 ของศาลชั้นต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 565 เลขที่ดิน 83 ตำบลสำโรงชัย อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดิน หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 565 เลขที่ดิน 83 ตำบลสำโรงชัย อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดิน หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองกับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 565 ตำบลสำโรงชัย อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ เนื้อที่ 56 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา เดิมเป็นของนางนาง นางนางได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยโจทก์ชำระราคาให้บางส่วนแล้ว แต่นางนางกลับโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตร โจทก์จึงฟ้องนางนางและจำเลยที่ 1 เพื่อให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 660/2555 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 744/2556 ให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างนางนางกับจำเลยที่ 1 และให้นางนางโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ โดยให้โจทก์ชำระราคาค่าที่ดินส่วนที่เหลือด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างนางนางและจำเลยที่ 1 และให้โอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์เช่นเดียวกัน คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว หลังจากโจทก์วางเงินเพื่อชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือไว้ที่ศาลชั้นต้นและนางนางมารับไปจากศาลแล้ว โจทก์ไปติดต่อสำนักงานที่ดินเพื่อรับโอนที่ดินพิพาทแต่ได้รับแจ้งว่าจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ไปแล้วเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 โจทก์เคยฟ้องนางนางและจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาข้อหาฉ้อโกง นางนางและจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 2 ปฏิเสธ ศาลแขวงนครสวรรค์พิพากษาลงโทษนางนางและจำเลยที่ 1 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประการแรกว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 อันมีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 240 หรือไม่ เห็นว่า คดีเดิมที่โจทก์ฟ้องนางนางและจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องให้เพิกถอนการฉ้อฉล เพราะการโอนที่ดินพิพาทของนางนางให้แก่จำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของนางนางเสียเปรียบ ซึ่งผลของคำพิพากษาคดีดังกล่าวมีผลทำให้การโอนที่ดินพิพาทระหว่างนางนางและจำเลยที่ 1 ต้องถูกเพิกถอนและนางนางต้องโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายเดิม สิทธิของโจทก์ซึ่งนำมาฟ้องคดีนี้จึงเกิดขึ้นจากคำพิพากษาของศาลในคดีก่อนนั้นเอง เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องฟ้องคดีนี้ เพื่อให้เป็นไปตามผลของคำพิพากษาคดีก่อน ซึ่งโจทก์ไม่อาจที่จะบังคับคดีในคดีก่อนได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไปแล้ว การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องคดีเพื่อให้เพิกถอนการฉ้อฉล แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทโดยมิชอบ เพราะจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยที่จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจโอนให้จำเลยที่ 2 นั่นเอง และเมื่อคดีเดิมซึ่งเป็นการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลโดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ถูกฟ้องในคดีดังกล่าวด้วย แต่เพิ่งมาถูกฟ้องในคดีนี้ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกในคดีเดิมที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 238 เนื่องจากจำเลยที่ 2 แม้จะได้สิทธิในที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต แต่ก็เป็นการได้สิทธิมาในภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีเดิม เพื่อให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างนางนางกับจำเลยที่ 1 แล้ว โดยโจทก์ฟ้องนางนางและจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 แต่จำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทไปจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในส่วนนี้จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และฎีกาของจำเลยทั้งสองที่อ้างว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากคดีนี้เป็นการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลจึงต้องใช้อายุความ 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนนั้น ตามมาตรา 240 นั้น เมื่อวินิจฉัยไว้แล้วข้างต้นว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล แต่เป็นการฟ้องคดีโดยอาศัยสิทธิตามคำพิพากษาในคดีก่อน อายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 ย่อมนำมาใช้บังคับไม่ได้ แต่เป็นเรื่องการขอให้บังคับตามสิทธิที่เกิดขึ้นตามคำพิพากษา จึงต้องใช้อายุความตามมาตรา 193/32 คือ อายุความ 10 ปี นั้นเอง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาต่อไปที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 744/2556 ของศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า คดีเดิมนั้นโจทก์ฟ้องนางนางและจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนการโอนซึ่งเป็นการโอนที่ดินพิพาทที่นางนางโอนให้จำเลยที่ 1 อันเป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งไม่ใช่คู่ความเดียวกันกับคดีเดิมทั้งหมด และที่สำคัญเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 โอนให้จำเลยที่ 2 เป็นการโอนคนละรายกัน และประเด็นแห่งคดีไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพราะคดีเดิมมีประเด็นว่า นางนางโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 เป็นการฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจโอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ คดีนี้จึงไม่ใช่ฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 744/2556 ของศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน และฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสองไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไปเพราะไม่อาจทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนไปได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามาชอบแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share