แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 14 บัญญัติให้คดีความผิดทางอาญาตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว และคดีที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยการเสนอแนะของ กคพ. (คณะกรรมการคดีพิเศษ) เป็นคดีพิเศษที่จะต้องดำเนินการสืบสวนและสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและเจ้าหน้าที่คดีพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และตามบัญชีท้ายประกาศ กคพ. ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2547) เรื่อง การกำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษฯ ข้อ 3 กำหนดว่า คดีความผิดที่มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 147 มาตรา 161 มาตรา 162 มาตรา 165 และมาตรา 167 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ที่มีหรือมีมูลน่าเชื่อว่ามีมูลค่าหรือปริมาณของสินค้าหรือบริการที่คำนวณเป็นเงินตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป ให้จัดเป็นคดีพิเศษ เมื่อคดีนี้มีมูลความผิดตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฯ มาตรา 164 มาตรา 165 และมีมูลค่าของบริการคำนวณเป็นเงินเกินกว่าสิบล้านบาทจึงจัดเป็นคดีพิเศษอยู่ในอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่คดีพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไม่จำต้องพิจารณาว่าจะต้องนำคดีนี้ไปขออนุมัติต่อ กคพ. ให้เป็นคดีพิเศษก่อนหรือไม่
โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยเป็นข้อ ๆ โดยบรรยายถึงการกระทำของจำเลยในแต่ละรอบปี และสรุปจำนวนเงินภาษีที่จำเลยกับพวกมิได้ชำระในแต่ละปี มิได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยในแต่ละเดือนว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไร จำนวนเงินภาษีที่มิได้ชำระในแต่ละเดือนเป็นเท่าไร ตามคำฟ้องโจทก์มิได้มีเจตนาให้ลงโทษจำเลยในความผิดแต่ละเดือน คงประสงค์ให้ลงโทษในความผิดแต่ละปีตามคำฟ้องแต่ละข้อ จำเลยคงมีความผิดตามคำฟ้องรวม 4 กรรม เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 4, 25, 48, 136, 148, 164, 165, 167 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 48 (2), 164 ฐานไม่ยื่นแบบรายการภาษี เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีสรรพสามิตประจำเดือนมกราคม 2548 ถึงเดือนธันวาคม 2551 รวม 4 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานร่วมกันไม่ยื่นแบบรายการภาษีเพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีสรรพสามิตประจำเดือนมกราคม 2548 ถึงเดือนธันวาคม 2551 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า บริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส (2003) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2546 มีจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัททำการแทนบริษัทได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2547 มีการจดทะเบียนเปลี่ยนตัวกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทจากจำเลยเป็นนายสุริยา แต่การสั่งจ่ายเงินของบริษัทคงให้จำเลย นายกิตติภณและนายณัฐพลสองในสามคนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญ มีอำนาจสั่งจ่ายเงินจากบัญชีของบริษัทได้ บริษัทดังกล่าวประกอบกิจการสถานบริการชื่อแซนติก้าผับหรือซานติก้าผับ ตั้งอยู่เลขที่ 235/11 ซอยสุขุมวิท 63 (เอกมัย) แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร มีการจำหน่ายอาหาร สุรา เครื่องดื่ม มีดนตรีแสดงและเต้นรำ เพื่อหารายได้เป็นธุรกิจถือเป็นกิจการประเภทไนต์คลับและดิสโกเธค ตามพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 ซึ่งผู้ประกอบกิจการสถานบริการมีหน้าที่ต้องยื่นแบบรายการภาษีสรรพสามิตและชำระภาษีสรรพสามิตตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 7 และมาตรา 48 (2) ซึ่งตั้งแต่เปิดดำเนินกิจการมา ผู้ประกอบกิจการสถานบริการซานติก้าผับไม่เคยยื่นจดทะเบียนสรรพสามิต ไม่เคยยื่นแบบรายการภาษีและชำระภาษีสรรพสามิตจนกระทั่งวันที่ 31 ธันวาคม 2551 เกิดเพลิงไหม้สถานบริการซานติก้าผับจนต้องหยุดดำเนินกิจการ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยประการแรกว่า คำฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยกล่าวอ้างว่า คำฟ้องโจทก์ข้อ 1.3 ถึง 1.8 ไม่ได้ระบุวันที่หรือเวลากระทำความผิดที่แน่นอน ทำให้จำเลยไม่อาจเข้าใจข้อหาได้ชัดเจน คำฟ้องจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) เห็นว่า คำฟ้องข้อ 1.3 ถึง 1.8 ดังกล่าว เป็นความผิดเกี่ยวกับการไม่ยื่นแบบรายการภาษีและไม่ชำระภาษีสรรพสามิตตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2546 ถึงเดือนธันวาคม 2551 สำหรับคำฟ้องในข้อ 1.3 ถึง 1.4 เป็นการกระทำในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2546 ถึงเดือนธันวาคม 2547 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าคดีขาดอายุความ คดีในส่วนนี้ถึงที่สุดแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ส่วนคำฟ้องข้อ 1.5 ถึง 1.8 โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ในข้อ 1 ตอนท้ายว่า จำเลยกับพวกมีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนสรรพสามิตภายในสามสิบวันก่อนวันเริ่มบริการ และมีหน้าที่ยื่นแบบรายการภาษีสรรพสามิตตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพสามิตกำหนด พร้อมกับชำระภาษีภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดจากเดือนที่มีความรับผิดในอันที่จะต้องเสียภาษีเกิดขึ้น เมื่อพิจารณารวมกับคำฟ้องข้อ 1.5 ถึง 1.8 แล้ว ย่อมเข้าใจได้ว่าวันที่จำเลยต้องยื่นแบบรายการภาษีพร้อมชำระภาษีแต่จำเลยมิได้กระทำ ซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดคือ วัน เดือน ปีใด คำฟ้องโจทก์ข้อ 1.5 ถึง 1.8 ได้แสดงวัน เดือน ปี ที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดโดยแน่นอน ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว คำแก้ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยแก้ฎีกาอีกประการหนึ่งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เนื่องจากพนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้สอบสวนคดีนี้โดยไม่มีอำนาจสอบสวนจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ ข้อนี้ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 14 บัญญัติให้คดีความผิดทางอาญาตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว และคดีที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยการเสนอแนะของ กคพ. (คณะกรรมการคดีพิเศษ) เป็นคดีพิเศษที่จะต้องดำเนินการสืบสวนและสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและเจ้าหน้าที่คดีพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และตามบัญชีท้ายประกาศ กคพ. ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2547) เรื่อง การกำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ข้อ 3 กำหนดไว้ว่า คดีความผิดที่มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 147 มาตรา 161 มาตรา 162 มาตรา 165 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ที่มีหรือมีมูลน่าเชื่อว่ามีมูลค่าหรือปริมาณของสินค้าหรือบริการที่คำนวณเป็นเงินตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป ให้จัดเป็นคดีพิเศษ เมื่อคดีนี้ซึ่งมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 164 มาตรา 165 และมีมูลค่าของบริการคำนวณเป็นเงินเกินกว่าสิบล้านบาท จึงจัดเป็นคดีพิเศษอยู่ในอำนาจสอบสวนของพนักงานคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่คดีพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ไม่จำต้องพิจารณาว่าจะต้องนำคดีนี้ไปขออนุมัติต่อคณะกรรมการคดีพิเศษให้เป็นคดีพิเศษก่อนหรือไม่ คำแก้ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันไม่ยื่นแบบรายการและไม่ชำระภาษีสรรพสามิต ประจำเดือนมกราคม 2548 ถึงเดือนธันวาคม 2551 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาฟังได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของ ผู้จัดการและเป็นผู้บริหารสถานบริการซานติก้าผับแทนบริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส (2003) จำกัด จำเลยจึงเป็นผู้ประกอบกิจการสถานบริการดังกล่าว ตามบทนิยามของพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 4 มีหน้าที่ยื่นแบบรายการภาษีและชำระภาษีสรรพสามิตเป็นรายเดือนตามฟ้องข้อ 1.5 ถึง 1.8 ข้อเท็จจริงได้ความว่า แต่เดิมบริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส (2003) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนพาณิชย์ เป็นผู้ประกอบกิจการสถานบริการซานติก้าผับ มีจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัท ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2547 มีการจดทะเบียนเปลี่ยนตัวกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทจากจำเลยเป็นนายสุริยา แต่ยังให้จำเลยมีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอื่นอีก 1 คน เบิกจ่ายเงินของบริษัทได้ สำหรับพฤติการณ์ของจำเลยหลังพ้นจากตำแหน่งกรรมการบริษัทแล้วนั้น โจทก์มีนางสาวขวัญจิราเป็นพยานเบิกความว่า พยานรับทำงานพิเศษเป็นแคชเชียร์หรือพนักงานเก็บเงินที่สถานบริการซานติก้าผับตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2551 สถานบริการดังกล่าวทราบว่าเสี่ยขาวเป็นเจ้าของกิจการ โดยเสี่ยขาวเป็นผู้จ่ายเงินเดือนให้พยานเป็นเงินสดผ่านหัวหน้าของพยานและพยานได้ให้การในชั้นสอบสวนด้วยว่าเสี่ยขาวมีชื่อจริงว่า นายวิสุข จำเลย สำหรับนายสุริยาที่พนักงานสอบสวนนำรูปถ่ายมาให้ดู พยานไม่เคยรู้จักแต่อย่างใด โจทก์ยังมีนางสาวศนิเป็นพยานเบิกความว่า พยานไปเที่ยวสถานบริการซานติก้าผับปีละ 3 ถึง 4 ครั้ง เพื่อนของพยานซึ่งเป็นหลานของเสี่ยขาวแนะนำให้พยานรู้จักกับเสี่ยขาว พยานทราบว่าเสี่ยขาวเป็นเจ้าของสถานบริการซานติก้าผับมักจะเดินทักทายลูกค้าอยู่ภายในร้าน เคยพบเสี่ยขาวอยู่ภายในสำนักงาน กำลังใช้โทรศัพท์เหมือนกำลังทำงานอยู่ พยานโจทก์สองปากดังกล่าว ไม่มีส่วนได้เสีย ไม่มีสาเหตุใด ๆ กับจำเลยมาก่อน เชื่อว่าต่างเบิกความไปตามความเป็นจริง และโจทก์มีนายอดิเรก ทำงานเป็นพนักงานของบริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส (2003) จำกัด ในช่วงปี 2547 ถึงปี 2551 เป็นพยานเบิกความว่า พยานทำงานตำแหน่งพนักงานส่งเอกสาร มีหน้าที่ส่งเอกสารให้แก่บริษัทรวมทั้งนำเงินรายได้ของบริษัทเข้าบัญชีธนาคารด้วย พยานเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ไม่เคยนำรายได้เข้าบัญชีธนาคารที่มีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของบัญชี และพยานเบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า พยานไม่ได้สังเกตเอกสารทุกฉบับเนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีจัดทำให้ คำพยานปากนี้จึงมิได้ยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยที่แน่นอนชัดเจน แต่พยานปากนี้ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวน เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 ว่านายวิสุขหรือเสี่ยขาวเป็นเจ้าของกิจการสถานบริการซานติก้าผับเพราะว่าทั้งเงินสดและเช็คธนาคารที่ได้รับมาจากพนักงานบัญชีของบริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส (2003) จำกัด ต้องนำไปเข้าบัญชีนายวิสุขที่ธนาคารต่าง ๆ สำหรับนายสุริยานั้น พยานไม่เคยเห็นเข้ามาที่บริษัทและพยานไม่เคยนำเงินสดที่เป็นรายได้ของบริษัทหรือเช็คธนาคารเข้าบัญชีนายสุริยาแต่อย่างใด นอกจากนี้โจทก์มีว่าที่เรือตรีณรงค์พนักงานสอบสวนร่วมเป็นพยานเบิกความว่า ได้สอบสวนนายกิตติภณกับนายณัฐพลเป็นพยาน ซึ่งนายกิตติภณกับนายณัฐพลได้ให้ปากคำในทำนองเดียวกันว่า บุคคลทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส (2003) จำกัด โดยมีจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัทดังกล่าวดำเนินกิจการสถานบริการซานติก้าผับ มีจำเลยเป็นผู้บริหารกิจการเพียงคนเดียวตั้งแต่เปิดกิจการจนกระทั่งเลิกกิจการ ทั้งนี้นายกิตติภณกับนายณัฐพลคนหนึ่งคนใด ร่วมกับจำเลยมีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินจากบัญชีบริษัทโดยจำเลยจะเป็นผู้ลงลายมือชื่อในเอกสารมาก่อน เพื่อเป็นค่าเงินเดือนพนักงาน ค่าใช้จ่ายอาหารเครื่องดื่มที่สั่งซื้อจากผู้ขายมาบริการลูกค้า ทั้งนี้นายกิตติภณกับนายณัฐพลไม่กล้าขอตรวจสอบการสั่งจ่ายเงินดังกล่าว เพราะไว้ใจจำเลยและเกรงว่าจะเกิดความเข้าใจผิดต่อกัน สำหรับการเปลี่ยนตัวกรรมการบริษัทจากจำเลยเป็นนายสุริยา เป็นเรื่องที่จำเลยดำเนินการเองทั้งสิ้น ดังนี้ แม้บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนายอดิเรก นายกิตติภณและนายณัฐพลดังกล่าวจะเป็นพยานบอกเล่า แต่นายอดิเรกเป็นพนักงานของบริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส (2003) จำกัด นายกิตติภณกับนายณัฐพลเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวร่วมกับจำเลย ย่อมรู้ถึงความเป็นมาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในบริษัทเป็นอย่างดี พยานบุคคลทั้งสามมีความสัมพันธ์กับจำเลยในทางที่ดี ไม่ปรากฏว่าเคยมีสาเหตุใด ๆ กันมาก่อนและต่างให้การในชั้นสอบสวนในช่วงเวลาหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้สถานบริการซานติก้าผับไม่นานยังไม่น่าจะคิดตรึกตรองหรือปั้นแต่งคำให้การให้ผิดแผกจากความเป็นจริง เมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มาและข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่าเหล่านี้แล้ว น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงนำมารับฟังประกอบพยานอื่นของโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 (1) พยานบุคคลและพยานเอกสารที่โจทก์นำสืบมารับฟังประกอบกันฟังได้ว่า แม้บริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส (2003) จำกัด จดทะเบียนเปลี่ยนตัวกรรมการผู้มีอำนาจจากจำเลยเป็นบุคคลอื่นแล้ว แต่จำเลยยังคงเข้าไปครอบงำดูแลกิจการของสถานบริการซานติก้าผับแต่เพียงผู้เดียวทั้งด้านบริการลูกค้าและบริหารด้านการเงินด้วยการจ่ายเงินเดือนพนักงานร่วมกับผู้ถือหุ้นอื่น สั่งจ่ายเงินจากบัญชีบริษัทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของสถานบริการดังกล่าว และเมื่อมีรายได้จากการดำเนินงานก็นำเงินเข้าบัญชีส่วนตัวของจำเลย พฤติการณ์เหล่านี้ เป็นข้อแสดงว่าจำเลยยังเป็นเจ้าของหรือผู้จัดการซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของสถานบริการซานติก้าผับ ถือว่าจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการสถานบริการ ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 4 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบรายการภาษีสรรพสามิตและชำระภาษีสรรพสามิตตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 48 (2) ที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยมิได้เป็นกรรมการ ไม่มีอำนาจบริหารสถานบริการซานติก้าผับในขณะเกิดเหตุตามฟ้องนั้น ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้และพฤติการณ์ที่มีการจดทะเบียนเปลี่ยนตัวกรรมการบริษัทจากจำเลยเป็นบุคคลอื่นแต่จำเลยยังคงบริหารกิจการของสถานบริการอยู่ เชื่อว่าเป็นเพราะต้องการหลีกเลี่ยงความรับผิดตามกฎหมายและพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษี การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยมิได้เป็นผู้ประกอบกิจการหรือร่วมกับบริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส (2003) จำกัด ประกอบกิจการสถานบริการซานติก้าผับจึงไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบรายการภาษีสรรพสามิตและชำระภาษีสรรพสามิตนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นความผิดรวมกี่กรรม โจทก์ฎีกาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานไม่ยื่นแบบรายการภาษีสรรพสามิตและไม่ชำระภาษีสรรพสามิตตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 48 (2) ซึ่งต้องยื่นแบบรายการภาษีพร้อมชำระภาษีภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดจากเดือนที่มีความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีเกิดขึ้น เมื่อจำเลยกระทำความผิดในคดีส่วนที่ยังไม่ขาดอายุความตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2548 จนถึงเดือนธันวาคม 2551 จึงเป็นความผิดรวม 38 กรรม เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยเป็นข้อ ๆ โดยคำฟ้องข้อ 1.5 ระบุถึงการกระทำที่จำเลยไม่ยื่นแบบรายการภาษีและไม่ชำระภาษีสรรพสามิตช่วงเดือนมกราคม 2548 ถึงเดือนธันวาคม 2548 คำฟ้องข้อ 1.6 เป็นการกระทำช่วงเดือนมกราคม 2549 ถึงเดือนธันวาคม 2549 คำฟ้องข้อ 1.7 เป็นการกระทำช่วงเดือนมกราคม 2550 ถึงเดือนธันวาคม 2550 และคำฟ้องข้อ 1.8 เป็นการกระทำช่วงเดือนมกราคม 2551 ถึงเดือนธันวาคม 2551 คำฟ้องดังกล่าวบรรยายถึงการกระทำของจำเลยในแต่ละรอบปี และสรุปจำนวนเงินภาษีที่จำเลยกับพวกมิได้ชำระในแต่ละปี มิได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยในแต่ละเดือนว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไร จำนวนเงินภาษีที่มิได้ชำระในแต่ละเดือนเป็นเท่าไร เห็นได้ว่า ตามคำฟ้องโจทก์ข้อ 1.5 ถึง 1.8 มิได้มีเจตนาให้ลงโทษจำเลยในความผิดแต่ละเดือนคงประสงค์ให้ลงโทษในความผิดแต่ละปีตามคำฟ้องแต่ละข้อ จำเลยคงมีความผิดตามคำฟ้องข้อ 1.5 ถึง 1.8 รวม 4 กรรม เท่านั้น ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ใช้บังคับ โดยให้ยกเลิกพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด และให้ใช้บทบัญญัติใหม่แทน แต่กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับ
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 4, 48 (2), 164 ฐานไม่ยื่นแบบรายการภาษีเพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีสรรพสามิตรวม 4 กระทง สำหรับความผิดในรอบปี 2548 โจทก์ฎีกาให้ลงโทษจำเลยเฉพาะการไม่ยื่นแบบรายการภาษีและไม่ชำระภาษีของเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม ให้จำคุก 1 เดือน ส่วนความผิดอีกสามกระทงให้จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวมจำคุกจำเลยมีกำหนด 7 เดือน พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่สมควรรอการลงโทษให้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์