แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ไม่มีกฎหมายบังคับว่าเป็นเอกสารที่จะต้องแนบมาพร้อมกับคำฟ้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 18 และตราสารที่ไม่ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 118 ก็มีผลเพียงว่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้เท่านั้น ดังนั้น แม้ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีจะมิได้ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรก็ไม่มีผลทำให้ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ ในระหว่างที่เป็นลูกจ้างโจทก์จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติหน้าที่ก่อให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำนวนหนึ่ง ขอให้จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ เช่นนี้เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วส่วนข้อที่ว่าจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายเมื่อใด และค่าเสียหายแต่ละรายการเป็นจำนวนเท่าใดนั้น เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม เหตุที่จำเลยที่ 1 ต้องทำสัญญารับผิดชดใช้ความเสียหายให้แก่โจทก์เพราะจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องในระหว่างเป็นลูกจ้างโจทก์ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันเป็นผลโดยตรงจากการปฏิบัติตามสัญญาจ้าง ซึ่งตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 เข้าผูกพันตนยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1ดังกล่าว และตามสัญญาค้ำประกันก็ไม่มีข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ 2 ไว้ว่า หากจำเลยที่ 1 ทำสัญญารับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โจทก์จะต้องบอกกล่าวหรือได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ก่อนแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้จ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขายและผู้จัดการสาขาของโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ระหว่างปฏิบัติหน้าที่จำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญายอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น 468,730.38 บาทโดยขอผ่อนชำระเป็นรายเดือน โดยจำเลยที่ 3 ได้ผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 4 ได้มีหนังสือถึงโจทก์ว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 4 จะช่วยชำระหนี้แก่โจทก์ จำนวน 40,000 บาท ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ยอดหนี้ของจำเลยที่ 1 คิดถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2528 จำนวน 468,730.38 บาท แต่โจทก์ติดใจเรียกร้องเพียง 140,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้อง เป็นดอกเบี้ย 15,750 บาท ขอให้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระหนี้จำนวน 157,091.66 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 140,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้จำนวน 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย และให้จำเลยที่ 4 ชำระหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำนวน40,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ขณะโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ยังเป็นลูกจ้างของโจทก์อยู่ โจทก์ชอบที่จะบอกกล่าวหรือบอกเลิกสัญญาจ้างก่อนเพื่อจำเลยที่ 1 จะได้คิดบัญชีทรัพย์และหนี้สิน ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโจทก์ไม่ใช่คู่สัญญากับจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 โจทก์บังคับให้จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญารับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 468,730.38 บาท โดยยังไม่มีการบอกเลิกสัญญาจ้างหนังสือมอบอำนาจมิได้ปิดอากรตามกฎหมาย ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์และขาดอายุความ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามหนังสือค้ำประกันท้ายฟ้อง ลายมือชื่อผู้ค้ำประกันมิใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ หากข้อเท็จจริงรับฟังว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็พ้นความรับผิดตามสัญญาลงวันที่ 14 มิถุนายน 2526 แล้ว เพราะจำเลยที่ 1 ตกลงชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญารับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ลงวันที่3 ธันวาคม 2528 โดยจำเลยที่ 2 มิได้ยินยอมรับผิดชอบค้ำประกันชดใช้ค่าเสียหายแต่อย่างใด
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้จำนวน155,750 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน140,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งนี้จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 เพียงไม่เกิน 100,000 บาท และจำเลยที่ 4 เพียงไม่เกิน 40,000 บาท และให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดต่อเมื่อเอาชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ไม่ได้
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการแรกมีว่า ฟ้องโจทก์สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 เพราะขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลนั้นหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีมิได้ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามกฎหมาย แม้ต่อมาเมื่อมีการสืบพยาน โจทก์จะส่งอ้างหนังสือมอบอำนาจที่ปิดแสตมป์ถูกต้อง ก็ไม่ทำให้หนังสือมอบอำนาจซึ่งขณะยื่นฟ้องไม่ถูกต้องอยู่แล้ว กลับมาถูกต้องในภายหลังได้ นั้นเห็นว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ไม่มีกฎหมายบังคับว่าเป็นเอกสารที่จะต้องแนบมาพร้อมกับคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 และตราสารที่ไม่ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ก็มีผลเพียงว่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้เท่านั้น ดังนั้น แม้ขณะโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีจะมิได้ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรก็ไม่มีผลทำให้ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย
สำหรับประเด็นข้อต่อไปที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้นโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ ในระหว่างที่เป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติหน้าที่ก่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย 468,730.38 บาท ขอให้จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ เห็นว่าเป็นฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วสำหรับข้อที่ว่าจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายเมื่อใด และค่าเสียหายแต่ละรายการเป็นจำนวนเท่าใดนั้น เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับผิดชดใช้ค่าเสียหาย โดยโจทก์ไม่บอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันทราบและได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ก่อน จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่าเหตุที่จำเลยที่ 1 ต้องทำสัญญารับผิดชดใช้ความเสียหายแก่โจทก์เพราะจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องในระหว่างเป็นลูกจ้างโจทก์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นผลโดยตรงจากการปฏิบัติตามสัญญาจ้าง ซึ่งตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 เข้าผูกพันตนยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงิน 100,000 บาท ในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว และตามสัญญาค้ำประกันก็ไม่มีข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ 2 ไว้ว่าหากจำเลยที่ 1 ทำสัญญารับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์โจทก์จะต้องบอกกล่าวหรือได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ก่อนแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว
พิพากษายืน