แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินร่วมกัน โดยยังไม่มีการแบ่งแยกการครอบครองออกเป็นสัดส่วน แม้จำเลยที่ 1 ยกที่ดินส่วนของตนให้จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ไปยื่นคำขอออก น.ส.3 ก.ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการแบ่งแยกการครอบครองออกเป็นสัดส่วน การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินทั้งแปลงย่อมเป็นการลบล้างสิทธิครอบครองของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ด้วย และแม้จำเลยที่ 1 จะเช่าที่ดินส่วนของโจทก์และสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วโจทก์ไม่อาจอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ได้เพราะเป็นการขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินของจำเลยที่ 1 เองด้วยโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง การที่ศาลพิพากษายกฟ้องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่โจทก์ยกขึ้นอ้างอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าที่อยู่จริงหรือไม่เพียงใด สมควรไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148(3)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้โจทก์และสละการครอบครองโดยส่งมอบการครอบครองให้โจทก์ ในวันเดียวกันนั้นเอง จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวจากโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นบุตรจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดิน(อำเภอโคกสำโรง)เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)โจทก์ได้คัดค้านและไม่ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินและส่งมอบการครอบครองที่ดินดังกล่าวคืนโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 875 บาท นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2528จนกว่าจำเลยทั้งสองจะออกจากที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์โดยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 10,500 บาท จำเลยทั้งสองให้การว่า เดิมจำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินตามฟ้อง ต่อมาในปี 2514 จำเลยที่ 1ได้สละสิทธิครอบครองและส่งมอบการครอบครองที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่เคยขายที่ดินตามฟ้องให้โจทก์ ไม่เคยทำสัญญาเช่าที่ดินตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ไปยื่นคำร้องขอออก น.ส.3 ก.เอง จำเลยที่ 1 มิได้รู้เห็นเกี่ยวข้องด้วย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกสูงเกินความจริง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ ทางพิจารณาที่โจทก์นำสืบปรากฏว่าที่ดินแปลงที่โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองมีเนื้อที่ 67 ไร่เดิมเป็นของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทเพียง 30 ไร่ ในจำนวน 67 ไร่นี้ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ คือ จำเลยที่ 1 ครอบครองแทนโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 แบ่งขายที่ดินจำนวน 30 ไร่ ให้แก่โจทก์ และเช่าที่ดินของโจทก์จำนวน 30 ไร่ นั้นทำไร่ ดังนั้นแม้จะฟังว่าเป็นความจริงดังที่โจทก์นำสืบ โจทก์กับจำเลยที่ 1ก็เป็นเจ้าของที่ดิน 67 ไร่ ร่วมกัน เพราะได้ความจากคำเบิกความของโจทก์เองว่า ยังมิได้มีการแบ่งแยกที่ดินพิพาท 30 ไร่ ออกมาเป็นสัดส่วนแน่นอนและแม้จำเลยที่ 1 จะยกที่ดินจำนวน 34 ไร่ ให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ไปยื่นคำขอออก น.ส.3 ก. แล้ว ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการแบ่งแยกออกเป็นสัดส่วนเช่นกัน การครอบครองของจำเลยที่ 1 นอกจากจะครอบครองแทนโจทก์แล้วยังเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิของตนเองด้วยอีกสถานหนึ่งพร้อม ๆ กัน ตราบใดที่ยังไม่มีการแบ่งแยกการครอบครองที่ดินทั้ง 67 ไร่ ออกเป็นสัดส่วน โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างก็มีสิทธิเท่าเทียมกันในการที่จะครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งแปลง การฟ้องขับไล่ในคดีนี้มีผลเท่ากับโจทก์ได้ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินทั้ง 67 ไร่ อันเป็นการลบล้างสิทธิครอบครองของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องแม้จำเลยที่ 1 จะเช่าที่ดินในส่วนของโจทก์และสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วโจทก์ก็ไม่อาจอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่ามาฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ได้เพราะเป็นการขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินของจำเลยที่ 1 เองด้วยโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดแย่งการครอบครองที่ดินของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทจำเลยที่ 2 ก็ย่อมมีสิทธิอยู่ในที่ดินดังกล่าวได้โดยถือว่าอยู่โดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาในประเด็นอื่นอีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องของโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม การยกฟ้องโจทก์ในกรณีเช่นนี้เป็นการยกฟ้องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่โจทก์ยกขึ้นอ้างอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีของโจทก์ว่ามีอยู่จริงหรือไม่เพียงใด จึงสมควรที่จะไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148(3)”
พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายในอายุความ