คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 392/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 มิได้บัญญัติให้อำนาจพนักงานอัยการเรียกทรัพย์สินหรือราคาคืนแทนผู้เสียหายในคดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้
ฟ้องไม่ปรากฏว่าในการที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2, 3 นั้น จำเลยได้กระทำโดยรู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ไม่ครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350
ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการโดยขอถือเอาคำฟ้องของอัยยการเป็นคำฟ้องของโจทก์ร่วมด้วย ฉะนั้น เมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง จึงหมายความว่าได้ยกฟ้องของโจทก์ร่วมด้วย ศาลจึงใช้ดุลพินิจกำหนดให้โจทก์ร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยได้ แม้จะไม่ได้วินิจฉัยคดีทางแพ่งด้วยก็ตาม
เมื่อโจทก์นำสืบ จำเลยมิได้ถามค้านความข้อใดไว้ แล้วจำเลยมานำสืบพิสูจน์ภายหลังในความข้อนั้น โจทก์ก็ชอบที่จะโต้แย้งและขอให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นไว้ การที่โจทก์เพิ่งมาคัดค้านในชั้นอุทธรณ์จึงต้องห้าม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ กู้เงินนางสมจิตต์ วุฒิเสถียรไป ๓๐,๐๐๐ บาท และนำใบแทนใบสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินกับสำเนาหนังสือสัญญาขายท่ดินหนึ่งแปลงมอบให้เป็นประกัน เมื่อถึงกำหนดชำระต้นเงินคืน จำเลยที่ ๑ ขอผัดผ่อน นางสมจิตต์ก็ยอมให้ผัด ต่อมานางสมจิตต์พูดกับจำเลยทั้งสามว่า ที่ดินที่จำเลยท่ ๑ นำมาประกันเงินกู้ไว้นั้น ถ้าจำเลยที่ ๒, ๓ จะรับซื้อไว้ก็ขอให้บอกด้วย เพื่อได้มาคัดค้านหรือขอรับชำระหนี้ ต่อมาจำเลยที่ ๑ บังอาจโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๒, ๓ โดยไม่ได้บอกกล่าวให้นางสมจิตต์ทราบ ทั้งนี้ โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันมีเจตนาเพื่อจะมิให้นางสมจิตต์ได้รับชำระหนี้หรือใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ โดยจำเลยที่ ๑ ไม่มีที่ดินแห่งใดอีก นางสมจิตต์ร้องทุกข์แล้ว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐, ๘๓ และขอให้จำเลยทั้งสามใช้ต้นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่นางสมจิตต์ด้วย
นางสมจิตต์ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการโอยเสียค่าธรรมเนียมเป็นคดีอาญาสินไหม ขอถือเอาคำฟ้องของอัยการเป็นฟ้องของผู้เสียหายด้วย ศาลอนุญาต
จำเลยที่ ๑ ให้การต่อสู้ว่า เมื่อหนี้ถึงกำหนด โจทก์ร่วมยอมให้เลื่อนกำหนดชำระไปโดยไม่จำกัดเวลา และจากนั้นก็มิได้บอกกล่าวกำหนดเวลาให้ชำระหนี้ การโอนขายของจำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๒ เป็นไปโดยสุจริต
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า รับซื้อที่ดินไว้โดยสุจริต มิได้เจตนามิให้โจทก์ร่วมได้รับชำระหนี้
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า มิได้เป็นผู้รับโอนหรือรับโอนทรัพย์จากจำเลยที่ ๑
จำเลยทั้งสามให้การด้วยว่า อัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกต้นเงินกู้และดอกเบี้ยแทนผู้เสียหายและฟ้องไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและให้โจทก์ร่วมเสียค่าทนาย ๕๐๐ บาท กับค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาในข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติความผิดฐานฉ้อโกง และความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ไว้ต่างหมวดกัน มิได้รวมไว้ในหมวดเดียวกันดังกฎหมายลักษณะอาญา และความผิดฐานฉ้อโกงกับฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามีองค์ประกอบความผิดต่างกันด้วย จึงเห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๓ มิได้บัญญัติให้อำนาจพนักงานอัยการเรียกทรัพย์สินหรือราคาคืนแทนผู้เสียหายในคดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้
ฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏว่า ในการซื้อขายที่ดินนั้น จำเลยได้กระทำโดยรู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ไม่ครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐
คดีนี้ โจทก์ร่วมได้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ โดยขอถือเอาคำฟ้องของอัยการเป็นคำฟ้องของโจทก์ร่วมด้วย ฉะนั้น เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องจึงหมายความว่าได้ยกฟ้องของโจทก์ร่วมด้วย ศาลจึงอาจใช้ดุลพินิจกำหนดให้โจทก์ร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยได้ แม้จะไม่ได้วินิจฉัยคดีทางแพ่งด้วยก็ตาม
ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า เมื่อโจทก์นำสืบ จำเลยมิได้ถามค้านเรื่องจำเลยได้นำเงินไปผ่อนชำระให้โจทก์ แล้วจำเลยมานำสืบพิสูจน์ภายหลังจึงเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๙ นั้น เห็นว่าเป็นการโต้แย้งการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ชอบที่โจทก์ร่วมจะขอให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นไว้ การที่โจทก์ร่วมเพิ่งมาคัดค้านในชั้นอุทธรณ์เช่นนี้ จึงต้องห้ามตามมาตรา ๒๒๖ (๒)
พิพากษายืน

Share