คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2426/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำหนังสือมอบอำนาจ ซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความใด ๆ และไม่มีบุคคลใดลงลายมือชื่อเป็นพยาน ให้โจทก์ลงลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจ แล้วจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ปลอมหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 กรอกข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจจำนองที่ดินตลอดจนให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยมีจำเลยที่ 3 และที่ 4 ลงลายมือชื่อเป็นพยานและรับรองว่าโจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ต่อมาจำเลยทั้งหกร่วมกันใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินแทน เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อ จึงจดข้อความอันเป็นเท็จตามคำบอกกล่าวของจำเลยทั้งหกลงในสัญญาจำนองอันเป็นเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้ระบุชัดแล้วว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยอื่นปลอมหนังสือมอบอำนาจและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าว กับแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการแล้ว จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องให้ละเอียดว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนรู้เห็นและหรือกระทำการใด ๆ ร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีใด อย่างใด ก็เป็นเพียงรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณาได้
จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุก แม้ฎีกาของจำเลยที่ 2 จะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายมาด้วย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยกำหนดโทษจำเลยที่ 2 ให้เหมาะสมกับความผิดได้ โดยเห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้บรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นจนโจทก์ไม่ติดใจดำเนินคดีกับจำเลยที่ 2 อีก เห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 2 เพื่อให้โอกาสจำเลยที่ 2 กลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกา ส่วนจำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาแต่การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวการร่วมกันเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้โทษตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันคือ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2537 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของโจทก์ 2 แปลง โดยบอกโจทก์ว่าจะนำที่ดินดังกล่าวไปจัดสรรแบ่งออกเป็นแปลงย่อยเพื่อเลี่ยงภาษี จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้นำหนังสือมอบอำนาจซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความใด ๆ และไม่มีบุคคลใดลงลายมือชื่อเป็นพยานให้โจทก์ลงลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจและจำเลยที่ 1 ยังให้โจทก์ลงลายมือชื่อในกระดาษอีก 2 แผ่น ซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความเพื่อนำไปให้เจ้าพนักงานที่ดินแบ่งแยกที่ดิน ต่อมาวันที่ 10 กันยายน 2538 จำเลยที่ 1 เพื่อที่จะให้โจทก์หลงเชื่อจึงไปขอร้องให้ ส. สารวัตรสืบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ บันทึกเป็นหลักฐานไว้ว่า จำเลยที่ 1 จะนำเอาโฉนดที่ดินที่ทำการแบ่งแยกทุกฉบับไปมอบให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2538 โดยจำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นเป็นพยาน เมื่อครบกำหนดจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตาม ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม 2539 โจทก์ให้สามีไปตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาสันป่าตอง พบว่าจำเลยที่ 1 มิได้ขอแบ่งแยกที่ดิน แต่เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2537 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ปลอมหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 กรอกข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวข้างบนนี้เป็นจำนวนเงิน 6,000,000 บาท ตลอดจนให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยมีจำเลยที่ 3 และที่ 4 ลงลายมือชื่อเป็นพยานและรับรองว่าโจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 16 กันยายน 2537 ต่อหน้าพยานอันเป็นเท็จ ต่อมาจำเลยทั้งหกร่วมกันใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จังหวัดเชียงใหม่ สาขาสันป่าตอง ว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินแทนจำเลยที่ 5 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 6 จดทะเบียนรับจำนองที่ดินแทน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่หลงเชื่อ จึงจดข้อความอันเป็นเท็จตามคำบอกกล่าวของจำเลยทั้งหกลงในสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 36118 ตำบลยุหว่า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 266, 267, 268, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 4 หลบหนี ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 จากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคสอง, 267, 268 (ที่ถูก มาตรา 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 264) การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 267 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน สำหรับจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ให้ยกฟ้อง
โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า เมื่อลดโทษให้แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายโดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนรู้เห็นและหรือกระทำการใด ๆ ร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีการอย่างใด ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในข้อหาร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอมกับแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำหนังสือมอบอำนาจซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความใด ๆ และไม่มีบุคคลใดลงลายมือชื่อเป็นพยาน ให้โจทก์ลงลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2537 จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ปลอมหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 กรอกข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจจำนองที่ดินเป็นจำนวนเงิน 6,000,000 บาท ตลอดจนให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยมีจำเลยที่ 3 และที่ 4 ลงลายมือชื่อเป็นพยานและรับรองว่าโจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ต่อมาจำเลยทั้งหกร่วมกันใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาสันป่าตอง ว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินแทนและจำเลยที่ 5 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 6 จดทะเบียนรับจำนองที่ดินแทน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่หลงเชื่อ จึงจดข้อความอันเป็นเท็จตามคำบอกกล่าวของจำเลยทั้งหก ลงในสัญญาจำนองอันเป็นเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้ระบุชัดแล้วว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยอื่นปลอมหนังสือมอบอำนาจและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าว กับแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการแล้ว จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องให้ละเอียดว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนรู้เห็นและหรือกระทำการใด ๆ ร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีใด อย่างใด ก็เป็นเพียงรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น แม้ฎีกาของจำเลยที่ 2 จะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายมาด้วย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยกำหนดโทษจำเลยที่ 2 ให้เหมาะสมกับความผิดได้ เห็นว่า ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินไปชำระให้แก่จำเลยที่ 5 เพื่อปลดจำนองที่ดินและส่งมอบโฉนดที่ดินคืนโจทก์แล้ว และโจทก์ไม่ประสงค์ดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอถอนฟ้องตามคำร้องลงวันที่ 25 กันยายน 2546 และวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547 แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้บรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นจนโจทก์ไม่ติดใจดำเนินคดีกับจำเลยที่ 2 อีก เห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 2 สักครั้งหนึ่งเพื่อให้โอกาสจำเลยที่ 2 กลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยที่ 2 และสังคมโดยส่วนรวมมากกว่าที่จะจำคุกจำเลยที่ 2 ไปเสียทีเดียว เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกา ส่วนจำเลยที่ 1 มิได้ฎีกา แต่การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวการร่วมกันเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้โทษตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 และเพื่อให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 หลาบจำกับป้องกันมิให้กระทำความผิดอีกเห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกสถานหนึ่ง และกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้ด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 6,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้ 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษานี้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟัง ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ภายในกำหนดระยะเวลา 2 ปี กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share