คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3913/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การโอนหุ้นทำที่บริษัทจำเลยต่อหน้ากรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลย บริษัทจำเลยจึงมีหน้าที่จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นโดยไม่จำต้องให้ผู้โอนหรือผู้รับโอนแจ้งอีก การที่บริษัทจำเลยไม่จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนจึงเป็นความผิดของบริษัทจำเลยเองแม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสาม จะบัญญัติถึงการโอนหุ้นที่ไม่ได้จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนว่าจะนำมาใช้ยันแก่บริษัทไม่ได้ แต่ก็หมายถึงว่าเป็นเรื่องที่ผู้โอนและผู้รับโอนโอนหุ้นกันเองโดยบริษัทมิได้รู้เห็นด้วย กฎหมายจึงให้ถือตามที่ปรากฏอยู่ในทะเบียน เมื่อการโอนหุ้นได้โอนกันที่บริษัทจำเลยกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยรู้เห็นเป็นพยาน จึงมิใช่กรณีที่จะอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสามมาใช้ได้ ในขณะที่ผู้ร้องโอนหุ้นให้แก่ผู้รับโอน หุ้นของผู้ร้องยังมิได้ส่งใช้เงินเต็มจำนวนค่าหุ้น ผู้ร้องในฐานะผู้โอนจึงยังคงต้องรับผิดในจำนวนเงินที่ยังไม่ได้ส่งใช้ให้ครบ

ย่อยาว

สืบเนื่องจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทฯลูกหนี้ (จำเลย) มีหนังสือยืนยันให้ผู้ร้องชำระหนี้ค่าหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทฯ จำนวน 100 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท ชำระค่าหุ้นแล้วร้อยละ 25 คงค้างชำระ 75,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องโอนหุ้น 75 หุ้นให้นางปราณี สุวรรณเทพไปแล้ว ส่วนหุ้นที่เหลืออีก 25 หุ้น นางปราณีออกเช็คชำระให้โดยชำระรวมกับหุ้นที่ได้รับโอนมา รวมเป็นเงิน 75,000 บาท และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านว่า การโอนหุ้นจำนวน 75 หุ้น ก่อนจะจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการผู้ถือหุ้น นางปราณีได้แจ้งว่าไม่ประสงค์จะรับโอนหุ้น บริษัทจำเลยจึงมิได้นำเรื่องการโอนหุ้นไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงในรายการผู้ถือหุ้นจึงถือไม่ได้ว่ามีการโอนตามกฎหมายส่วนเช็คที่นางปราณีสั่งจ่ายจำนวน 75,000 บาทนั้น บริษัทฯ จำเลยมิได้นำไปขึ้นเงินเพราะนางปราณีห้ามนำเช็คไปเบิก ผู้ร้องผิดนัดชำระค่าหุ้นจึงต้องเสียดอกเบี้ย ในวันพิจารณาคำร้อง ทนายผู้ร้องและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แถลงรับข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องได้โอนขายหุ้น 75 หุ้นให้แก่นางปราณีแล้ว โดยทำการโอนต่อหน้ากรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ จำเลย และนางปราณี ผู้รับโอนได้ชำระเงินค่าหุ้นดังกล่าวรวมกับหุ้นที่เหลืออยู่อีก 25 หุ้นของผู้ร้องโดยชำระเป็นเช็คระบุชื่อบริษัทฯ จำเลยจำนวนเงิน 75,000 บาท ซึ่งผู้ร้องได้มอบเช็คดังกล่าวให้แก่บริษัทฯ จำเลยไปในวันที่โอนเพื่อชำระหนี้ค่าหุ้นรายพิพาท ก่อนเช็คดังกล่าวถึงกำหนดชำระ นางปราณีได้แจ้งให้บริษัทฯ จำเลยทราบว่าไม่ประสงค์จะรับโอนหุ้นดังกล่าวและสั่งห้ามไม่ให้บริษัทฯ จำเลยนำเช็คดังกล่าวไปขึ้นเงิน บริษัทฯจำเลยก็มิได้นำเช็คไปขึ้นเงินการโอนหุ้นดังกล่าวจึงยังมิได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นเรื่องที่ผู้รับโอนไม่ยอมรับโอนหุ้น บริษัทฯ จำเลยก็มิได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบเพราะส่งหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องไม่ได้ ขอให้ศาลชั้นต้นชี้ขาดข้อกฎหมายโดยต่างไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จำนวน 75,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องประการแรกว่าการโอนหุ้นซึ่งมีจำนวน 75 หุ้นระหว่างผู้ร้องกับนางปราณีสุวรรณเทพ ผู้รับโอนจะนำมาใช้แก่บริษัทจำเลยได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ร้องและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่างรับข้อเท็จจริงว่า การโอนหุ้นทำที่บริษัทจำเลยต่อหน้ากรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลย บริษัทจำเลยจึงมีหน้าที่จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นโดยไม่จำต้องให้ผู้โอนหรือผู้รับโอนแจ้งอีก การที่บริษัทจำเลยไม่จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนจึงเป็นความผิดของบริษัทจำเลยเอง แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสามจะบัญญัติถึงการโอนหุ้นที่ยังไม่ได้จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนว่าจะนำมาใช้ยันแก่บริษัทไม่ได้ แต่ก็หมายถึงว่าเป็นเรื่องที่ผู้โอนและผู้รับโอนโอนหุ้นกันเองโดยบริษัทมิได้รู้เห็นด้วย กฎหมายจึงให้ถือตามที่ปรากฏอยู่ในทะเบียน เมื่อคดีนี้ได้ความว่าการโอนหุ้นได้โอนกันที่บริษัทจำเลย กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยรู้เห็นเป็นพยาน จึงมิใช่กรณีที่จะอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 วรรคสามมาใช้ได้ ส่วนปัญหาที่ว่า ผู้ร้องในฐานะผู้โอนยังจะต้องรับผิดชำระเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1133 อีกหรือไม่นั้น เห็นว่า ในขณะที่ผู้ร้องโอนหุ้นจำนวน 75 หุ้นให้แก่นางปราณี หุ้นของผู้ร้องทุกหุ้นยังมิได้ส่งใช้เงินเต็มจำนวนค่าหุ้น แต่ยังคงค้างชำระค่าหุ้นอยู่อีก 75,000 บาท ผู้ร้องในฐานะผู้โอนจึงยังคงต้องรับผิดในจำนวนเงินที่ยังไม่ได้ส่งใช้ให้ครบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1133 แม้ผู้ร้องจะอ้างว่านางปราณีได้ออกเช็คชำระค่าหุ้นส่วนที่ค้างอยู่ทั้งหมดแทนผู้ร้องไปแล้ว แต่เมื่อยังไม่มีการใช้เงินตามเช็ค ผู้ร้องก็ยังต้องรับผิดอยู่นั่นเอง และที่ผู้ร้องฎีกาเกี่ยวกับดอกเบี้ยว่าจะต้องรับผิดตั้งแต่เมื่อใดนั้นเห็นว่าเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือทวงหนี้ไปยังผู้ร้องโดยให้เวลา 14 วัน นับแต่วันรับหนังสือ ผู้ร้องได้รับหนังสือทวงหนี้เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2524 ผู้ร้องไม่นำเงินค่าหุ้นที่ค้างจำนวน75,000 บาท ไปชำระต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายใน 14 วันคือภายในวันที่ 30 กันยายน 2524 ผู้ร้องจึงตกเป็นผู้ผิดนัดจะต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 1 ตุลาคม 2524 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ”
พิพากษายืน

Share