แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทั้งโจทก์และจำเลยไม่ได้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามกำหนดในสัญญาโจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่าจำเลยไม่ชำระหนี้เพราะโจทก์ก็มิได้ชำระหนี้ตอบแทนเช่นกันแต่การที่ต่อมาจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่บุคคลภายนอกย่อมทำให้การชำระหนี้คือการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแก่โจทก์กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจำเลยต้องรับผิดชอบดังนี้จำเลยจึงต้องคืนมัดจำแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา378(3)ทั้งการฟ้องคดีเรียกมัดจำคืนและเรียกค่าเสียหายของโจทก์ในกรณีนี้เท่ากับเป็นการเลิกสัญญาตามมาตรา389อยู่แล้วจำเลยต้องคืนมัดจำพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินตามโฉนดเลขที่14538 แก่โจทก์เป็นเงิน 2,247,000 บาท โจทก์วางมัดจำให้จำเลยเป็นเงิน 550,000 บาท นัดโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 30 มีนาคม 2533เมื่อถึงกำหนดโจทก์พร้อมที่จะชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลืออีก1,697,000 บาท ให้แก่จำเลย แต่จำเลยไม่ไปทำการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ โจทก์แจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์หลายครั้ง แต่จำเลยก็ผัดผ่อนเรื่อยมา ต่อมาจำเลยขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกไปในราคา 2,817,000 บาท แต่จดทะเบียนซื้อขายกันในราคาเพียง 400,000 บาท การกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,152,125 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในจำนวนเงิน 1,130,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเนื่องจากโจทก์ต้องการซื้อที่ดินเพื่อเอาไปขายต่อหากำไร โดยกำหนดนัดโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 30 มีนาคม 2533 เพื่อให้เวลาโจทก์ไปหาคนซื้อ แต่ก่อนถึงวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ 2 วัน โจทก์ขอผัดผ่อนให้เลื่อนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินไปก่อนแต่จำเลยไม่ยอมและยื่นคำขาดให้โอนกรรมสิทธิ์ตามที่ตกลงไว้ และนัดให้โจทก์หรือผู้ที่โจทก์หามาซื้อทำแคชเชียร์เช็คให้เรียบร้อยก่อนวันนัดโอนกรรมสิทธิ์เพื่อตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของแคชเชียร์เช็ค แต่เมื่อถึงกำหนดวันนัดโอนโจทก์ไม่ไปตามที่นัดหมาย ไม่นำแคชเชียร์เช็คมาให้จำเลยดู โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเองจนกระทั่งเมื่อวันที่13 เมษายน 2533 โจทก์ติดต่อมายังจำเลยโดยบอกว่าหาคนซื้อที่ดินได้แล้ว แต่จำเลยไม่ยอมเพราะได้ริบเงินมัดจำและถือว่าสัญญาจะซื้อจะขายเดิมเป็นอันเลิกกันแล้ว หากจะซื้อต้องซื้อกันในราคาใหม่ที่สูงขึ้นกว่าเดิม แต่โจทก์ไม่ยอม ดังนั้นเมื่อวันที่16 พฤษภาคม 2533 จำเลยจึงขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยคืนเงินมัดจำและเรียกค่าเสียหายได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินมัดจำ จำนวน550,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นน้าของจำเลยเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2533 จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่14538 แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ราคา2,247,000 บาท แก่โจทก์ กำหนดนัดโอนกรรมสิทธิ์วันที่30 มีนาคม 2533 โจทก์วางมัดจำแก่จำเลยเป็นเงิน 550,000 บาท ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำเอกสาร หมาย จ.1 เมื่อถึงกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโจทก์และจำเลยไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขามีนบุรี ต่อมาวันที่ 16 พฤษภาคม 2533จำเลยจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวแก่บุคคลภายนอกแล้วศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เมื่อทั้งโจทก์และจำเลยไม่ได้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามกำหนดในสัญญา โจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่าจำเลยไม่ชำระหนี้เพราะโจทก์ก็มิได้ชำระหนี้ตอบแทนเช่นกันแต่การที่ต่อมาจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่บุคคลภายนอกย่อมทำให้การชำระหนี้คือการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแก่โจทก์กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจำเลยต้องรับผิดชอบ ดังนี้จำเลยจึงต้องคืนมัดจำแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378(3) ทั้งการฟ้องคดีเรียกมัดจำคืนและเรียกค่าเสียหายของโจทก์ในกรณีนี้เท่ากับเป็นการเลิกสัญญาตาม มาตรา 389 อยู่แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน