คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนดแล้ว โจทก์ยังยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินจากบัญชีและนำเงินเข้าบัญชีเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไปอีก และโจทก์ก็มิได้บอกเลิกสัญญาถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงต่ออายุสัญญาบัญชีเดินสะพัดออกไปโดยไม่มีกำหนดเวลา แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถอนเงินจากบัญชีเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม2534 แล้ว หลังจากนั้นไม่ปรากฏรายการเดินสะพัด คงมีแต่การคิดดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1ค้างชำระในแต่ละเดือนทบเป็นต้นเงิน โดยมีการหักทอนบัญชีกันในวันที่ 30 ธันวาคม2534 แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่าไม่ประสงค์จะให้มีการสะพัดทางบัญชีระหว่างกันอีกต่อไป สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเป็นอันเลิกกันในวันที่ 30 ธันวาคม2534 อันเป็นวันหักทอนบัญชีกันครั้งสุดท้าย หาได้เลิกกันในวันที่ 30 กันยายน 2536 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์หักเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ค้างชำระของจำเลยที่ 1 ไม่ ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2534 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1
แม้ตามหนังสือยินยอมมอบเงินฝากเป็นประกันหนี้ของผู้อื่นซึ่งจำเลยที่ 2 ทำกับโจทก์ โจทก์จะสามารถนำเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 หักทอนบัญชีหักลบกลบหนี้กับยอดเงินเบิกเกินบัญชีได้เมื่อใดก็ตาม แต่สิทธิและอำนาจนี้โจทก์ต้องดำเนินการในระหว่างสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีผลใช้บังคับ เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงในวันที่30 ธันวาคม 2534 และจำเลยทั้งสองมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธินำเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 มาหักโอนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทันที หลังจากนั้นหากจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระหนี้อยู่จำนวนเท่าใด โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินดังกล่าวแบบไม่ทบต้นจนกว่าจะชำระเสร็จ เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงโจทก์จะคิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่พึงเรียกเก็บได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ซึ่งปรับเปลี่ยนอีกต่อไปไม่ได้ คงเรียกได้ตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีคือ อัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี อันเป็นสิทธิตามสัญญาที่พึงได้โดยชอบมาแต่เดิมเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 830,542.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 816,845.98 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า หลังจากสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนดแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้เดินบัญชีกับโจทก์อีก โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ไม่เกินวันที่ครบกำหนดตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี หรือไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2536 ที่โจทก์หักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 อันเป็นวันที่โจทก์แสดงเจตนาเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายและตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ ตามระเบียบของโจทก์จะไม่ยอมให้ลูกค้ามีหนี้ค้างชำระเกินวงเงินหลักประกัน เมื่อโจทก์หักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2มาชำระหนี้แล้วจำเลยทั้งสองไม่มีหนี้ค้างชำระแก่โจทก์อีก ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 551,095.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2536ถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2536 อัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2536 ถึงวันที่27 มีนาคม 2537 อัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 มีนาคม 2537 ถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2537 อัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2537 ถึงวันที่ 9มีนาคม 2539 และอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2533 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน2,000,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกวันสิ้นเดือนและยอมให้โจทก์เพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย หากผิดนัดยอมให้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ กำหนดชำระหนี้ดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 26 ตุลาคม 2534 โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและมอบเงินฝากประจำบัญชีเลขที่312-213173-7 ของจำเลยที่ 2 จำนวน 2,000,000 บาท เป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1โดยยอมให้โจทก์หักเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยชำระหนี้ได้ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 เบิกเงินจากโจทก์และนำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนหนี้กับโจทก์หลายครั้งอันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ และจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์เรื่อยมา วันที่ 30กันยายน 2536 โจทก์หักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 จำนวน2,335,606.80 บาท ชำระหนี้โจทก์ โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ส่วนที่ยังค้างชำระ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงเมื่อใด และจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์หรือไม่ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 1 มีกำหนดระยะเวลา 12 เดือนครบกำหนดวันที่26 ตุลาคม 2534 แต่เมื่อครบกำหนดแล้ว ตามสำเนาบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมายจ.7 ฉบับออกรายงานวันที่ 31 ตุลาคม 2534 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2534 และวันที่ 30ธันวาคม 2534 โจทก์ยังยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินจากบัญชีและนำเงินเข้าบัญชีเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไปอีกและโจทก์ก็มิได้บอกเลิกสัญญา พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงต่ออายุสัญญาบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวออกไปโดยไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดสัญญา สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงยังใช้บังคับได้จนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือมีการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระหนี้คงเหลือ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถอนเงินจากบัญชีจำนวน 300,000 บาท เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2534 ตามสำเนาบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.7 ฉบับออกรายงานวันที่ 30 ธันวาคม 2534 แล้ว หลังจากนั้นไม่ปรากฏรายการเดินสะพัดในบัญชีอันจะเป็นหลักฐานแสดงว่านับแต่วันที่20 ธันวาคม 2534 จำเลยที่ 1 ขอเบิกเงินจากบัญชีหรือโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีอีกเลย คงมีแต่การคิดดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระในแต่ละเดือนทบเป็นต้นเงินเท่านั้นโดยมีการหักทอนบัญชีกันในวันที่ 30 ธันวาคม 2534 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1เป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 2,271,831.02 บาท ซึ่งสูงกว่าวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 271,831.02 บาท แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1ว่าไม่ประสงค์จะให้มีการสะพัดทางบัญชีระหว่างกันอีกต่อไป และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์และจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.4 กำหนดหักทอนบัญชีทุกวันสิ้นสุดของเดือนในวันและเวลาทำงานของธนาคาร สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเป็นอันเลิกกันในวันที่ 30 ธันวาคม 2534 อันเป็นวันหักทอนบัญชีกันครั้งสุดท้ายเพื่อให้จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชำระหนี้ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือ หาได้เลิกกันในวันที่ 30 กันยายน 2536 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์หักเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ค้างชำระของจำเลยที่ 1 ดังศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2534 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 ต่อไป ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า จำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์หรือไม่นั้น จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มอบเงินฝากประจำจำนวน 2,000,000 บาท เป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเงินฝากจำนวนนี้ จำเลยที่ 2 มีสิทธิได้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีนั้น เห็นว่า ได้ความจากคำเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านของพยานโจทก์สองปากคือ นายวุฒิศิน สมอุ่นจารย์ผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขามุกดาหารและเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ และนายเมธา แสนโคตร เจ้าหน้าที่สินเชื่อธนาคารโจทก์สาขามุกดาหารว่า ดอกเบี้ยเงินฝากบัญชีที่จำเลยที่ 2 นำมาฝากไว้เป็นประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จะต่ำกว่าดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมายจ.4 ระบุดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยเงินฝากจากบัญชีดังกล่าวอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ซึ่งเมื่อคิดดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่ทำหนังสือยินยอมมอบเงินฝากเป็นประกันหนี้ของผู้อื่นเอกสารหมาย จ.6 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2534 จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2534 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้วเป็นเวลาประมาณ 5 เดือน จำเลยที่ 2 มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยเงินฝากเป็นเงินจำนวน 120,833.33 บาท ดังฎีกาของจำเลยทั้งสอง แม้ตามหนังสือยินยอมมอบเงินฝากเป็นประกันหนี้ของผู้อื่นเอกสารหมาย จ.6 จะแสดงว่าธนาคารโจทก์มีสิทธิและอำนาจจัดการแก่เงินฝาก กล่าวคือ สามารถนำเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 หักทอนบัญชีหักกลบลบหนี้กับยอดเงินเบิกเกินบัญชีได้เมื่อใดก็ตามแต่สิทธิและอำนาจนี้โจทก์ต้องดำเนินการในระหว่างสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีผลใช้บังคับเมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีได้สิ้นสุดลงในวันที่ 30 ธันวาคม 2534 และจำเลยทั้งสองมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ชอบที่ใช้สิทธินำเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 มาหักโอนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทันที หลังจากนั้นหากจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระหนี้อยู่จำนวนเท่าใด โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินดังกล่าวแบบไม่ทบต้นจนกว่าจะชำระเสร็จเท่านั้น แต่โจทก์กลับเพิกเฉยและยังคงคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนจากจำเลยที่ 1 โดยไม่มีสิทธิตลอดมาทำให้ยอดหนี้ค้างชำระของจำเลยที่ 1 ตามที่ปรากฏในบัญชีกระแสรายวันสูงขึ้น โจทก์ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2536 เป็นเวลา 22 เดือน แล้วจึงนำเงินฝากของจำเลยที่ 2 เข้าหักทอนบัญชีจึงไม่ถูกต้อง ตามสำเนาบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.7 ฉบับออกรายงานวันที่ 30 ธันวาคม 2534 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 2,271,831.02 บาท เมื่อนำเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 จำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 120,833.33 บาท หักชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 แล้ว ในวันที่ 31 ธันวาคม 2534 จึงคงเหลือหนี้ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระให้แก่โจทก์จำนวน 150,997.69 บาท ซึ่งหนี้เงินจำนวนนี้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ยไม่ทบต้นจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ โดยเมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงโจทก์จะคิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่พึงเรียกเก็บได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.11 ซึ่งปรับเปลี่ยนอีกต่อไปไม่ได้คงเรียกได้ตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2 คืออัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี อันเป็นสิทธิตามสัญญาที่พึงได้โดยชอบมาแต่เดิมเท่านั้น ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 150,997.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2534 ถึงวันที่ 30กันยายน 2536 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share