คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3899/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พนักงานศาลส่งหมายนัดชี้สองสถานให้โจทก์โดยการปิดหมายวันที่ 25 กรกฎาคม 2534 และศาลภาษีอากรกลางนัดชี้สองสถานวันที่ 28 สิงหาคม 2534 โจทก์ย่อมมีเวลายื่นบัญชีระบุพยานได้ก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่า 7 วัน ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากรข้อ 8วรรคหนึ่ง แต่โจทก์กลับยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานในวันนัดชี้สองสถาน โดยอ้างเหตุผลว่าเกิดผิดพลาดเพราะความพลั้งเผลอของโจทก์ มิได้ศึกษาข้อกำหนดและข้อกฎหมายให้ถ่องแท้มิใช่เกิดจากเจตนาหรือจงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดข้อกล่าวอ้างเช่นนี้มิใช่เหตุอันสมควรที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาดังกล่าวที่ศาลจะอนุญาตตามคำร้องขอของโจทก์ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากรข้อ 8 วรรคสี่ได้ กฎหมายบัญญัติห้ามมิให้โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทเงินทุนซื้อ หรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นและหากโจทก์ซื้ออสังหาริมทรัพย์มาก็ต้องจำหน่ายไปภายใน 3 ปี แสดงว่าขณะที่โจทก์รับโอนที่ดินมาเนื่องจากลูกหนี้นำมาตีใช้หนี้ให้แก่โจทก์โจทก์ย่อมทราบดีแล้วว่าเป็นการรับโอนมาเพื่อที่จะขายต่อให้แก่ผู้อื่นไปตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ยอมรับโอนที่ดินที่ลูกหนี้นำมาตีใช้หนี้ โจทก์ก็ต้องคำนวณแล้วเห็นว่าโจทก์จะได้รับผลประโยชน์หรือผลกำไรมากกว่าการที่จะดำเนินการบังคับชำระหนี้ต่อไปดังนั้น การที่โจทก์ยอมรับโอนที่ดินที่ลูกหนี้นำมาตีใช้หนี้แล้วต่อมาโจทก์ได้ขายที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่นต่อไปจึงถือได้ว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ซึ่งโจทก์ต้องเสียภาษีการค้า ตามบัญชีอัตราภาษีการค้า ประเภทการค้า 11 การค้าอสังหาริมทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์ชำระภาษีการค้าเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม จำนวน 371,910 บาท ในการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 29975 และ 29976 ตำบลสี่พระยา (บางรัก)อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร โดยถือว่า โจทก์มีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินแล้ว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ จึงฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ชั้นชี้สองสถาน ศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า การประเมินภาษีการค้าของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่โจทก์มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบ และคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานจำเลย
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นข้อแรกว่า ศาลภาษีอากรกลางไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าตามข้อกำหนดคดีภาษีอากรข้อ 8 วรรคหนึ่ง ระบุว่าคู่ความต้องยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่า 7 วัน คดีนี้พนักงานของศาลส่งหมายนัดชี้สองสถานให้โจทก์โดยการปิดหมายวันที่ 25 กรกฎาคม 2534 และศาลภาษีอากรกลางนัดชี้สองสถานวันที่28 สิงหาคม 2534 โจทก์ย่อมมีเวลายื่นบัญชีระบุพยานได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว แต่โจทก์กลับยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานในวันนัดชี้สองสถาน โดยให้เหตุผลว่าเกิดผิดพลาดเพราะความพลั้งเผลอของโจทก์ มิได้ศึกษาข้อกำหนดและข้อกฎหมายให้ถ่องแท้ มิใช่เกิดจากเจตนาหรือจงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดข้อกล่าวอ้างของโจทก์เช่นนี้ มิใช่เหตุอันสมควรที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาดังกล่าวที่ศาลจะอนุญาตตามคำร้องขอของโจทก์ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากรข้อ 8 วรรคสี่ได้ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานชอบแล้ว อย่างไรก็ตามแม้ว่าการที่โจทก์มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานจะมีผลทำให้พยานหลักฐานที่โจทก์จะนำเข้าสืบเป็นอันต้องห้ามมิให้รับฟัง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 17 ดังคำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลางก็ตามแต่คดีนี้ตามคำฟ้องและคำให้การข้อเท็จจริงรับกันฟังได้ว่าโจทก์เป็นบริษัทจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุน โจทก์ได้รับโอนที่ดินรวม 3 แปลง มาจากลูกหนี้ที่โอนที่ดินทั้ง 3 แปลงดังกล่าวตีใช้หนี้เงินกู้ยืมให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้ขายต่อที่ดินทั้ง 3 แปลงนั้นให้แก่ผู้อื่นไป ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่แล้วในสำนวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์อุทธรณ์ในประเด็นต่อไปว่าโจทก์ขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรหรือไม่ ซึ่งประเด็นข้อกฎหมายนี้ศาลภาษีอากรกลางยังมิได้วินิจฉัยมา แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยก่อนแต่อย่างใด และเห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้องของโจทก์เองว่า มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทเงินทุนซื้อหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้น และหากโจทก์ซื้ออสังหาริมทรัพย์มาก็ต้องจำหน่ายไปภายใน 3 ปี แสดงว่าขณะที่โจทก์รับโอนที่ดินทั้ง 3 แปลงมาเนื่องจากลูกหนี้นำมาตีใช้หนี้ให้แก่โจทก์โจทก์เองก็ทราบดีแล้วว่าเป็นการรับโอนมาเพื่อที่จะขายต่อให้แก่ผู้อื่นไปตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ยอมรับโอนที่ดินที่ลูกหนี้นำมาตีใช้หนี้ โจทก์ก็ต้องคำนวณแล้วเห็นว่าโจทก์จะได้รับผลประโยชน์หรือผลกำไรมากกว่าการที่จะดำเนินการบังคับชำระหนี้ต่อไป ดังนั้นการที่โจทก์ยอมรับโอนที่ดินที่ลูกหนี้นำมาตีใช้หนี้ แล้วต่อมาโจทก์ได้ขายที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่นต่อไป ถือได้ว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรซึ่งโจทก์จะต้องเสียภาษีการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้า ประเภทการค้า 11 การค้าอสังหาริมทรัพย์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share