แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 เพียงแต่ ใช้ รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นพาหนะไปส่งจำเลยที่ 1 เพื่อลักทรัพย์ของผู้เสียหายเท่านั้น หาได้ ใช้พาหนะดังกล่าวในการลักทรัพย์โดยตรงไม่ รถจักรยานยนต์ของกลางนั้นจึงถือ ว่าเป็นทรัพย์สินที่ใช้ ในการกระทำผิดอันจะพึงริบยังไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,335(1) (7), 336 ทวิ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 13 และริบรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน 3ฌ-6777 กรุงเทพมหานคร และกุญแจ 2 ดอกของกลางกับนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 949/2531ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1) (7) วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา336 ทวิ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2525 มาตรา 11 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21พฤศจิกายน 2514 ข้อ 13 ลงโทษจำคุกคนละ 7 ปี 6 เดือน ริบรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน 3ฌ-6777 กรุงเทพมหานคร และลูกกุญแจปลอม 2 ดอกของกลาง ข้อที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 949/2531 ของศาลชั้นต้น ไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้พิพากษาคดีดังกล่าวแล้วหรือไม่ประการใด จึงให้ยกคำขอของโจทก์ข้อนี้เสีย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา ขอไม่ให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2แต่เพียงว่ารถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน 3ฌ-6777 กรุงเทพมหานครของกลางเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดอันพึงจะริบหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายที่ได้ร่วมกันกระทำผิดคดีนี้โดยในคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ของกลางคันดังกล่าวและมีจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายไปตามถนนสมเด็จเจ้าพระยา เมื่อถึงที่เกิดเหตุบริเวณปากซอยช่างนาก จำเลยที่ 2 ได้ชะลอดูรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7ฉ-1888 กรุงเทพมหานครของพลตำรวจพนม หวังดีผู้เสียหาย ซึ่งนำไปจอดล่อเอาไว้บนทางริมถนนดังกล่าว หลังจากชะลอดูรถของผู้เสียหายแล้วจำเลยที่ 2 ก็ขับรถกลับมาส่งจำเลยที่ 1 ใกล้ ๆ กับรถของผู้เสียหาย จากนั้นจำเลยที่ 2 ก็ขับรถไปจอดรอที่ปากซอยเซ็นเสถียรฝั่งตรงข้ามถนนห่างกันประมาณ 50 เมตรเมื่อจำเลยที่ 1 ลงจากรถของกลางแล้วก็ได้เข้าไปลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย แต่พอติดเครื่องยนต์จะออกรถเครื่องยนต์ก็ดับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่แอบซุ่มอยู่จึงเข้าจับกุมจำเลยทั้งสองมาดำเนินคดี ข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวนี้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 2 เพียงแต่ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นพาหนะไปส่งจำเลยที่ 1 เพื่อลักทรัพย์ของผู้เสียหายเท่านั้นหาได้ใช้พาหนะดังกล่าวในการลักทรัพย์โดยตรงไม่ รถจักรยานยนต์ของกลางนั้นจึงถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดอันจะพึงริบยังไม่ได้…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.