คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9241/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาต่อศาลชั้นต้นแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงต่อโจทก์ในศาลว่าจะชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ทำตามที่ตกลงไว้ยอมให้โจทก์บังคับคดีไปตามที่ตกลงทำยอมกันนั้นได้ มิได้ตกลงให้หนี้กู้ยืมและจำนองตามฟ้องนั้นระงับไป จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความและถือไม่ได้ว่าโจทก์สละสิทธิไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชำระเงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในอัตราผิดนัดและเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นการไม่ชอบ จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิด ทรัพย์จำนองที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีมูลค่าเกินกว่าวงเงินค้ำประกันของจำเลยที่ ๓ ซึ่งถ้าจำเลยที่ ๓ ต้องรับผิดแล้วก็ไม่เกินวงเงิน ตามสัญญาค้ำประกัน โจทก์ชอบที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ก่อน ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยที่ ๑ และ ที่ ๒ ยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์จำนวน ๓,๓๖๗,๙๖๗.๒๗ บาท ให้เสร็จสิ้นภายใน ๖ เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที โดยให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบ ส่วนจำเลยที่ ๓ ไม้ได้ตกลงด้วย ศาลชั้นต้นจึงพิจารณาพิพากษาเฉพาะจำเลยที่ ๓ ต่อไป
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมชำระเงินจำนวน ๓,๓๖๗,๙๖๒.๒๗ บาท พร้อม ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๙.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๒,๙๘๑,๙๘๔.๖๗ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จภายใน ๖ เดือน นับแต่วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดในจำนวน ๔๙๒,๓๘๕.๔๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา ร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๔๘๕,๕๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๐ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลย ทั้งสามออกขายทอดตลาดบังคับชำระหนี้จนครบ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ สำหรับค่าทนายความให้เฉพาะจำเลยที่ ๓ รับผิดโดยกำหนดให้ ๒,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๓ ให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดในต้นเงิน ๔๘๕,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๐ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ออกขายทอดตลาดบังคับชำระหนี้จนครบ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียม ชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยที่ ๓ ที่ฎีกาว่า ก่อน สืบพยานโจทก์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับโจทก์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ต่อศาลชั้นต้น โดยจำเลยที่ ๓ มิได้รู้เห็นหรือเข้าร่วมผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ ๓ จึงไม่มีภาระผูกพันกับสัญญาประนีประนอมนั้น และย่อมแสดง ให้เห็นว่าโจทก์สละสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ ๓ ชำระหนี้ จึงไม่ให้จำเลยที่ ๓ ร่วมทำสัญญาประนีประนอม ยอมความด้วยนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลชั้นต้นขอให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ รับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ในมูลหนี้ที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันกู้ยืมและทำสัญญาจำนองแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๓ โจทก์ขอให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ ๓ ทำไว้แก่โจทก์ หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จะระงับไปก็ต่อเมื่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้กระทำตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๒ ลักษณะ ๑ หมวด ๕ ที่ว่าด้วยความระงับแห่งหนี้ตั้งแต่ส่วนที่ ๑ ถึงส่วนที่ ๕ เท่านั้น แต่การทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่จำเลยที่ ๓ ฎีกานี้เป็นการที่ ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๓๘ ซึ่งเป็น บทบัญญัติให้ศาลพิจารณาพิพากษาไปตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความกันตามที่คู่ความได้นำเสนอ ต่อศาลชั้นต้น การตกลงหรือการประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ นี้นอกจากจะไม่ต้องด้วยกรณีดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๒ ลักษณะ ๑ หมวด ๕ ตั้งแต่ส่วนที่ ๑ ถึงส่วนที่ ๕ ดังกล่าวมาแล้ว และยังไม่ต้องด้วยบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ เอกเทศสัญญา ลักษณะ ๑๗ อันว่าด้วยสัญญาประนีประนอมยอมความแต่อย่างใดอีกด้วย เพราะการทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ต่อศาลชั้นต้นมิได้ตกลงให้หนี้กู้ยืมและจำนองตามฟ้องนั้นระงับไปแต่อย่างใดไม่ ในความเป็นจริงนั้น เป็นผลแต่เพียงว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ตกลงต่อโจทก์ในศาลว่า จะชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นภายใน ๖ เดือน หากจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ทำการตามที่ตกลงไว้ก็ยอมให้โจทก์บังคับคดีไปตามที่ตกลงทำยอมกันนั้นได้ การกระทำดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์สละสิทธิไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้ค้ำประกันแต่ประการใด ดังนั้นแม้จำเลยที่ ๓ จะไม่ได้มีส่วนผูกพันตามการประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ก็ตาม เมื่อหนี้ตามฟ้องคือหนี้กู้ยืมยังไม่ระงับไปจำเลยที่ ๓ ย่อมต้องผูกพันรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ตามสัญญาค้ำประกันที่ตนทำไว้ต่อโจทก์ ในทำนองเดียวกันเมื่อหนี้กู้ยืมยังหลุดพ้นไป ความรับผิดของจำเลยที่ ๓ ก็หาหลุดพ้นไปตามมาตรา ๖๙๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ ๓ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share