แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ข้อความที่จำเลยขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเป็นเรื่องจำเลยยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่เป็นข้อแก้ข้อหาเดิม เปลี่ยนแปลงข้ออ้างข้อเถียงเพื่อสนับสนุนข้อหา หรือเพื่อหักล้างข้อหาของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179(3)ไม่ใช่เป็นการแก้ไขข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดเล็กน้อยในรายละเอียดจำเลยจึงต้องขอแก้ไขเสียก่อนวันชี้สองสถาน เมื่อจำเลยได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การหลังจากวันชี้สองสถาน โดยไม่ปรากฏว่ามิอาจยื่นคำร้องขอแก้ไขก่อนวันชี้สองสถานและมิใช่เรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 180 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยเรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำเลยให้การว่าไม่เคยบอกเลิกจ้างโจทก์หรือกระทำการที่ไม่เป็นธรรมในการเลิกจ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยและค่าเสียหาย ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า เป็นคำร้องขอแก้ไขคำให้การที่ยื่นภายหลังวันชี้สองสถานแล้ว ประกอบกับโจทก์คัดค้าน ยังไม่มีเหตุสมควรอนุญาต จึงยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การนั้น แม้เป็นการยื่นภายหลังมีการชี้สองสถาน แต่คำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยเป็นเพียงแก้ไขข้อความที่ไม่ตรงกับความจริงบางข้อเพียงเล็กน้อยเป็นการแก้ไขในรายละเอียดที่จำเลยต่อสู้เป็นประเด็นไว้แล้ว ไม่ได้แก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงให้มีประเด็นขึ้นมาใหม่ หรือทำให้โจทก์เสียเปรียบ พิเคราะห์แล้วตามคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2534 มีข้อความว่า ข้อ 1.1 จำเลยขอยกเลิกคำให้การในแผ่นที่ 2 บรรทัดที่ 1 ถึง 6 ทั้งหมด และใช้ข้อความใหม่แทนว่า ระดับตำแหน่งสูงขึ้นและมีความก้าวหน้ากว่าตำแหน่งที่โจทก์ดำรงอยู่ในปัจจุบัน เป็นตำแหน่งเหมาะสมกับความรู้ความชำนาญของโจทก์ เมื่อโจทก์ตกลงแล้วจำเลยก็มิได้ย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งใหม่ทันที ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ที่ว่าจำเลยประกาศย้ายโจทก์ไม่เป็นความจริง ความจริงประกาศดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์จะย้ายไปยังบริษัทอุตสาหกรรมโพลียูรีเทนไทยจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่มีกรรมการบริหารชุดเดียวกันพนักงานบริษัทจำเลยกับบริษัทในเครือปกติมีการโอนสับเปลี่ยนตำแหน่งกันอยู่ตลอดเวลา เพื่อความก้าวหน้าของพนักงานและเหมาะสมกับความรู้ความสามารถ การโอนย้ายพนักงานระหว่างบริษัทจำเลยกับบริษัทในเครือก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขการจ้างเดิมนับอายุงานต่อเนื่องโดยอัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าเดิม ทั้งนี้ โดยความสมัครใจและยินยอมของพนักงานด้วย
ข้อ 1.2 จำเลยขอยกเลิกข้อความเดิมในข้อ 2 บรรทัด 11 และเพิ่มเติมข้อความใหม่ว่า ต้องระดม เจ้าหน้าที่ผู้มีความชำนาญฝ่ายขายเมื่อใด โจทก์ยินยอมไปทำงานกับบริษัทในเครือของจำเลยตามที่จำเลยมอบหมายโดยปราศจากเงื่อนไข และตามที่โจทก์ตกลงกับจำเลยเมื่อตอนเข้าทำงาน
ข้อ 2. จำเลยขอแก้ไขในข้อ 3.1 บรรทัด 2 โดยยกเลิกข้อความเดิมทั้งหมด และแก้ไขว่า โจทก์ยังไม่มีสิทธิได้รับโบนัส เพราะตามระเบียบจำเลยต้องจ่ายโบนัสให้ลูกจ้างเมื่อลูกจ้างทำงานครบ 1 ปีแล้ว แต่โจทก์ทำงานยังไม่ครบ 1 ปี
ข้อ 3. จำเลยขอยกเลิกข้อความในข้อ 3.2 ทั้งหมดและใช้ข้อความใหม่แทนว่า การที่โจทก์เรียกค่าเสียหายกรณีจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทำให้โจทก์ตกงาน ขาดรายได้นำไปเลี้ยงครอบครัวเท่ากับอัตราค่าจ้าง 12 เดือน เป็นเงิน 822,600 บาท ไม่เป็นความจริงเพราะจำเลยไม่เคยเลิกจ้างโจทก์ มีแต่จะส่งเสริมให้โจทก์ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น แต่โจทก์ไม่ทำงานให้จำเลย ค่าเสียหายจึงไม่เกิดขึ้นและโจทก์ไม่ตกงานบริษัทในเครือจำเลยหลายบริษัทพร้อมจะรับโจทก์เข้าทำงาน
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความที่จำเลยขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การนี้ เป็นเรื่องจำเลยยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่เป็นข้อแก้ข้อหาเดิมเปลี่ยนแปลงข้ออ้าง ข้อเถียงเพื่อสนับสนุนข้อหา หรือเพื่อหักล้างข้อหาของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 179(3) จึงไม่ใช่เป็นการแก้ไขข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดเล็กน้อยในรายละเอียดดังจำเลยอ้าง จำเลยจึงต้องขอแก้ไขเสียก่อนวันชี้สองสถาน เมื่อจำเลยได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การดังกล่าวหลังจากวันชี้สองสถาน โดยไม่ปรากฏว่ามิอาจยื่นคำร้องขอแก้ไขก่อนวันชี้สองสถาน และมิใช่เรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31”
พิพากษายืน