คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3898/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

บุคคลที่จะร้องขอขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสที่ฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1458 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 นั้น ได้แก่ คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรส หรืออัยการ เมื่อผู้คัดค้านเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตายจึงไม่ใช่บุคคลที่อาจขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ตายกับผู้ร้องเป็นโมฆะได้
ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกับผู้ตาย ผู้ร้องย่อมเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แม้หากการสมรสจะไม่ถูกต้องตามกฎหมายดังที่ผู้คัดค้านอ้างก็ตาม แต่คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา 1496 เมื่อยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องและศาลยังไม่มีคำพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายเป็นโมฆะ การสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายจึงยังคงมีอยู่ ผู้ร้องยังคงเป็นคู่สมรสของผู้ตาย เป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 วรรคสอง

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสินชัย นิลรัตน์ ซึ่งถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรมและตั้งผู้จัดการมรดกไว้ การจัดการมรดกมีเหตุขัดข้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ผู้ร้องกับผู้ตายจดทะเบียนสมรสกันหลอกๆ เพื่อผู้ร้องจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ เป็นการแสดงเจตนาลวง การจดทะเบียนสมรสจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกคำร้องและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอ และตั้งนายกุมภา ไทรเอี่ยมชัย ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายสินชัย นิลรัตน์ ผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ (ที่ถูก พิพากษากลับ) เป็นว่า ให้ตั้งนางภัทรวดี นิลรัตน์ ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายสินชัย นิลรัตน์ ผู้ตาย ให้ผู้ร้องมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ยกคำร้องคัดค้าน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า นางภัทรวดี นิลรัตน์ ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับนายสินชัย นิลรัตน์ ผู้ตาย ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2541 โดยมิได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้จัดการมรดกไว้ ก่อนตายผู้ตายมีทรัพย์มรดกเป็นเงินฝากในธนาคารกับที่ดินและกรณีมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ตายไม่มีผู้สืบสันดานและบิดามารดาได้ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ส่วนนายกุมภา ไทรเอี่ยมชัย ผู้คัดค้านเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (3) และผู้ร้องกับผู้คัดค้านต่างมีคุณสมบัติไม่เป็นบุคคลที่ต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1718 ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้ร้องกับผู้ตายสมรสกันโดยมิได้ยินยอมเป็นสามีภริยากัน มิได้มีเจตนาเป็นสามีภริยากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1458 การสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายจึงเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 เมื่อผู้ร้องมิได้เป็นคู่สมรสของผู้ตายจึงไม่เป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ไม่มีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1713 ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ขอให้ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า บุคคลที่จะร้องขอขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1458 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 นั้น ได้แก่ คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสหรืออัยการ เมื่อผู้คัดค้านไม่ใช่บุคคลดังกล่าวจึงไม่อาจขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ตายกับผู้ร้องเป็นโมฆะได้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ร้องได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกับผู้ตาย ผู้ร้องย่อมเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แม้หากการสมรสจะไม่ถูกต้องตามกฎหมายดังที่ผู้คัดค้านอ้างก็ตาม แต่คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา 1496 เมื่อยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องและศาลยังไม่มีคำพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายเป็นโมฆะ การสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายจึงยังคงมีอยู่ ผู้ร้องจึงยังเป็นคู่สมรสของผู้ตาย เป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 วรรคสอง และมีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายเช่นเดียวกับผู้คัดค้าน ปัญหาว่าผู้ร้องสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้ร้องไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพราะผู้ร้องมิได้แสดงบัญชีเครือญาติของผู้ตาย และมิได้แสดงบัญชีทรัพย์มรดกโดยละเอียดครบถ้วน อันเป็นการปิดบังทรัพย์มรดกของผู้ตายนั้น เห็นว่า เป็นข้ออ้างที่ผู้คัดค้านมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำคัดค้านจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย อย่างไรก็ตาม การที่ศาลจะตั้งฝ่ายใดเป็นผู้จัดการมรดกนั้นย่อมแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์พฤติการณ์ทั่วไปแห่งคดีแล้ว เห็นว่า การจะให้ฝ่ายใดเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแต่ฝ่ายเดียวอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกของผู้ตายและเสียหายแก่อีกฝ่ายหนึ่งได้ แต่หากได้จัดการร่วมกันแล้วน่าจะเป็นประโยชน์แก่กองมรดกของผู้ตายและทายาททุกคนมากกว่า จึงสมควรให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นางภัทรวดี นิลรัตน์ ผู้ร้องและนายกุมภา ไทยเอี่ยมชัย ผู้คัดค้าน ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายสินชัย นิลรัตน์ ผู้ตาย กับให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย

Share