คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3895/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะมิได้กล่าวในฟ้องว่ากฎหมายของเมืองฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศไทย แต่โจทก์ได้กล่าวในฟ้องแล้วว่ากฎหมายของประเทศอังกฤษซึ่งใช้บังคับไปถึงเมืองฮ่องกงซึ่งเป็นอาณานิคมให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าว ฯลฯ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยย่อมมีความหมายว่ากฎหมายของเมืองฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศไทยแล้ว ส่วนภาพยนตร์ตามฟ้องที่อ้างว่าเป็นงานสร้างสรรค์ที่เป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายเมืองฮ่องกงกำหนดไว้นั้นเป็นกฎหมายอะไร บัญญัติขึ้นเมื่อไรและประกาศใช้เมื่อใดที่ไหนนั้น ล้วนแต่เป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความต้องนำสืบในชั้นพิจารณา การไม่กล่าวไว้ในคำฟ้องถึงรายละเอียดดังกล่าวหาทำให้เป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ ฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว เอกสารสำคัญที่คู่ความจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคสาม จะต้องเป็นเอกสารที่ศาลมีเหตุอันควรสงสัยหรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นเอกสารอันแท้จริงหรือไม่จึงให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้คู่ความนั้นยื่นเอกสารตามวิธีการในวรรคสาม เมื่อศาลไม่มีเหตุอันควรสงสัยและจำเลยก็มิได้ยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรสงสัย ทั้งมิได้นำสืบปฏิเสธความเป็นนิติบุคคลของโจทก์ร่วม ประกอบกับโจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ร่วมจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของเมืองฮ่องกง และโจทก์ร่วมได้แนบเอกสารแสดงความเป็นนิติบุคคลของโจทก์ร่วมมาท้ายคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ จำเลยแถลงไม่คัดค้าน เท่ากับยอมรับว่าโจทก์ร่วมมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามคำฟ้องแล้ว หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ร่วมทำขึ้นที่เมืองฮ่องกงอันเป็นเมืองที่มีกงสุลไทยประจำอยู่ แม้กงสุลไทยมิได้รับรองความถูกต้องของเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 47 แต่โจทก์มีกรรมการบริษัทผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ร่วมเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ร่วมได้มอบอำนาจให้ฟ้องคดี โดยจำเลยมิได้นำสืบหักล้าง ศาลก็ไม่มีเหตุอันควรสงสัยและจำเลยก็มิได้ยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรสงสัยว่าเอกสารนั้นมิใช่หนังสือมอบอำนาจอันแท้จริง จึงไม่มีเหตุต้องวินิจฉัยว่าหนังสือมอบอำนาจนั้นได้ทำถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคสามหรือไม่ ฟังได้ว่า โจทก์ร่วมได้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีแล้วพระราชบัญญัติ ญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 49 เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในเงินค่าปรับที่จำเลยได้ชำระตามคำพิพากษาจำนวนกึ่งหนึ่งเพื่อบรรเทาความเสียหายและให้ถือเป็นการชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งส่วนหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นบทบัญญัติพิเศษซึ่งไม่เกี่ยวกับคำฟ้องในคดีอาญา และไม่มีกฎหมายใดบังคับให้โจทก์ต้องระบุขอเงินค่าปรับดังกล่าวมาในคำขอท้ายฟ้องคดีอาญาแต่อย่างใดโจทก์ร่วมผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าปรับที่จำเลยชำระตามคำพิพากษากึ่งหนึ่งแม้โจทก์จะมิได้ขอไว้ในคำขอท้ายฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 4, 27, 42, 44, 47 พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526 มาตรา 3, 4ให้ของกลางตกเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 27 ประกอบด้วยมาตรา 44 วรรคสองจำคุก 4 เดือน ปรับ 30,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ภาพยนตร์วีดีโอเทปของกลางตกเป็นของโจทก์ร่วม และจ่ายค่าปรับที่จำเลยชำระตามคำพิพากษาให้โจทก์ร่วมกึ่งหนึ่ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่จ่ายค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาให้โจทก์ร่วมกึ่งหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์มิได้กล่าว ในฟ้องเลยว่ากฎหมายของเมืองฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศไทยจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบนั้น ในเรื่องนี้โจทก์ได้กล่าวในฟ้องแล้วว่ากฎหมายของประเทศอังกฤษซึ่งใช้บังคับครอบคลุมไปถึงเมืองฮ่องกงซึ่งเป็นอาณานิคมให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าว ฯลฯ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย อันมีความหมายว่ากฎหมายของเมืองฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศไทยแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าภาพยนตร์ตามฟ้องที่อ้างว่าเป็นงานสร้างสรรค์ที่เป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายเมืองฮ่องกงกำหนดไว้นั้นเป็นกฎหมายอะไรบัญญัติขึ้นเมื่อไร และประกาศใช้เมื่อใดที่ไหนนั้น ล้วนแต่เป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความต้องนำสืบในชั้นพิจารณาการไม่กล่าวไว้ในคำฟ้องถึงรายละเอียดดังกล่าวหาทำให้เป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) แล้ว
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์ร่วมมีสภาพเป็นนิติบุคคลหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าเอกสารที่แสดงความเป็นนิติบุคคลของโจทก์ร่วมเป็นเอกสารซึ่งทำขึ้นที่เมืองฮ่องกงต้องมีเจ้าพนักงานโนตารีปับลิก เป็นผู้รับรองความถูกต้องของเอกสารแล้วให้กงสุลไทยรับรองความถูกต้องของเอกสารไม่ จึงเป็นเอกสารที่มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ ย่อมฟังว่าโจทก์ร่วมเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเมืองฮ่องกงไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เอกสารสำคัญที่คู่ความจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคสาม นั้นจะต้องเป็นเอกสารที่ศาลมีเหตุอันควรสงสัยหรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นเอกสารอันแท้จริงหรือไม่จึงให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้คู่ความนั้นยื่นเอกสารตามวิธีการในวรรคสาม เมื่อคดีนี้ศาลไม่มีเหตุอันควรสงสัยและจำเลยก็มิได้ยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรสงสัย ทั้งมิได้นำสืบปฏิเสธความเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของเมืองฮ่องกงและขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาโจทก์ร่วมได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์โดยแนบเอกสารแสดงความเป็นนิติบุคคลของโจทก์ร่วมมาท้ายคำร้อง จำเลยแถลงไม่คัดค้าน จึงเท่ากับยอมรับว่าโจทก์ร่วมมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามคำฟ้อง ข้อฎีกาของจำเลยว่าโจทก์ร่วมไม่มีมีสภาพเป็นนิติบุคคลจึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาสุดท้ายที่จำเลยฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีตามเอกสารหมาย จ.11 และ จ.11 ของโจทก์ร่วมเป็นเอกสารซึ่งทำขึ้นที่เมืองฮ่องกงอันเป็นเมืองที่มีกงสุลไทยประจำอยู่ แต่กงสุลไทยมิได้รับรองความถูกต้องของเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 ดังกล่าว จึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมได้มอบอำนาจจริงนั้น เห็นว่า นอกจากฝ่ายโจทก์ร่วมเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ร่วมได้มอบอำนาจตามเอกสารหมายจ.10 และ จ.11 ในคดีนี้โดยจำเลยมิได้นำสืบหักล้างแล้ว ศาลก็ไม่มีเหตุอันควรสงสัยและจำเลยก็มิได้ยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรสงสัยว่าเอกสารนั้นมิใช่หนังสือมอบอำนาจอันแท้จริง คดีจึงไม่มีเหตุต้องวินิจฉัยว่าหนังสือมอบอำนาจนั้นได้ทำถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 47 วรรคสามหรือไม่ คดีฟังได้ว่าโจทก์ร่วมได้มอบอำนาจตามที่นำสืบกันในคดีนี้แล้ว
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จ่ายค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาให้โจทก์ร่วมกึ่งหนึ่ง โดยที่โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้มีคำขอมาในฟ้อง จึงเกินคำขอ สมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 49บัญญัติว่า “ค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาให้จ่ายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่ง แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการกระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งสำหรับส่วนที่เกินจำนวนค่าปรับที่เจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับแล้วนั้น” เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในเงินค่าปรับที่จำเลยได้ชำระตามคำพิพากษาจำนวนกึ่งหนึ่งเพื่อบรรเทาความเสียหายและให้ถือเป็นการชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งส่วนหนึ่งถือได้ว่าเป็นบทบัญญัติพิเศษซึ่งไม่เกี่ยวกับคำฟ้องในคดีอาญา และไม่มีกฎหมายใดบังคับให้โจทก์ต้องระบุขอเงินค่าปรับดังกล่าวมาในคำขอท้ายฟ้องคดีอาญาแต่อย่างใด ฉะนั้น โจทก์ร่วมผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าปรับที่จำเลยชำระตามคำพิพากษากึ่งหนึ่งแม้โจทก์จะมิได้ขอไว้ในคำขอท้ายฟ้อง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share