คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3894/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 และ 318ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา ให้ลงโทษตามมาตรา 318 ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก 4 ปีศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าเป็นความผิด 2 กระทง และแก้บทกฎหมายทั้ง 2 มาตรา ดังกล่าว โดยระบุวรรคเสียให้ชัดเจน แต่คงให้ลงโทษจำคุกจำเลยรวมแล้วมีกำหนด 4 ปี ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเล็กน้อย โดยยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี คดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก จำเลยมีมีดปลายแหลมเป็นอาวุธบุกรุกขึ้นไปบนเรือนของโจทก์ร่วม ผู้เสียหายซึ่งมีอายุ 17 ปี เป็นหลานของโจทก์ร่วมและอาศัยหลับนอนอยู่ที่บ้านของโจทก์ร่วม ได้กระโดดลงเรือนเพื่อหลบหนี การที่ผู้เสียหายกระโดดลงเรือหนีไปเกิดเพราะจำเลยเป็นต้นเหตุให้หนี ไม่ได้เกิดจากความสมัครใจของผู้เสียหายเองและยังหลบหนีไปไม่ไกล จึงถือว่าขณะนั้นผู้เสียหายไม่ได้อยู่ในความปกครองของโจทก์ร่วมไม่ได้ และการที่ต่อจากนั้นจำเลยเข้าไปจับผมผู้เสียหายดึงไปทั้งขู่ไม่ให้ร้อง และพาผู้เสียหายไปที่ทุ่งนาห่างบ้านเกิดเหตุประมาณ 1 เส้น เพื่อกระทำอนาจารและพยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดา หรือผู้ดูแลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276,284, 318, 362, 364, 365, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 3, 4, 9พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2525 มาตรา 4
จำเลยให้การปฎิเสธ
ระหว่างการพิจารณา นางเทียม สอนศักดิ์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้น พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276, 284, 318, 362, 364, 365, 80, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2525มาตรา 3, 4, 9 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) มาตรา 4 ความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธ และพยายามข่มขืนกระทำชำเราเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักตามมาตรา 276, 80 จำคุก 12 ปีความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร และพาหญิงไปเพื่อการอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามมาตรา 318 จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 16 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก, 80, 364, 365 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 3เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก, 80 ที่แก้ไขแล้ว ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 8 ปี กับมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 4กระทงหนึ่ง และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318วรรคสาม พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525มาตรา 9 อีกกระทงหนึ่ง สำหรับโทษทั้งสองกระทงหลังนี้ คงให้จำคุก 4 ปี ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น รวมลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 12 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว สำหรับฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 และมาตรา 318 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 318 (ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุก 4 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าเป็นความผิด 2 กระทง และแก้บทกฎหมายทั้ง2 มาตรา ดังกล่าว โดยระบุวรรคเสียให้ชัดเจน แต่คงให้ลงโทษจำคุกจำเลยรวมแล้วมีกำหนด 4 ปี ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเล็กน้อย โดยยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี คดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ปัญหาแรกที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยคือ จำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกและพยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังที่โจทก์กล่าวในฟ้องมีคนร้ายซึ่งมีมีดปลายแหลมเป็นอาวุธได้บุกรุกขึ้นไปบนเรือนของโจทก์ร่วมผู้เสียหายซึ่งอายุ 17 ปี เป็นหลานของโจทก์ร่วมและอาศัยหลับนอนอยู่ที่บ้านของโจทก์ร่วมได้กระโดดลงจากเรือนเพื่อหลบหนีคนร้าย ต่อจากนั้นคนร้ายเข้าไปจับผมผู้เสียหายดึงไปทั้งขู่ไม่ให้ร้อง และพาผู้เสียหายไปที่ทุ่งนาห่างบ้านเกิดเหตุประมาณ1 เส้น เพื่อกระทำอนาจารและพยานข่มขืนผู้เสียหาย สำหรับในฐานความผิดบุกรุกนั้นฝ่ายโจทก์มีนางสาวสว่างจิตร พรมรินทร์ผู้เสียหาย และนางเทียม สอนศักดิ์ โจทก์ร่วม เบิกความสอดคล้องกันในสาระสำคัญว่า คืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 2 นาฬิกาฝนตกฟ้าแลบและฟ้าร้อง ขณะที่ผู้เสียหายและโจทก์ร่วมนอนอยู่บนเรือนโดยแยกกันนอนในมุ้งคนละหลังก็เห็นมีคนร้ายขึ้นไปบนเรือน ใช้ไฟฉายส่องไปมา ผู้เสียหายร้องเรียกโจทก์ร่วมคนร้ายตรงไปที่มุ้งผู้เสียหายใช้ไฟฉายตลบมุ้งขึ้นและเข้าไปในมุ้งผู้เสียหายแล้วใช้มือตบปากผู้เสียหายกับใช้มีดจี้คอผู้เสียหายขู่ว่าอย่าร้องถ้าร้องตาย ในเวลาเดียวกันนั้นโจทก์ร่วมก็ร้องขอความช่วยเหลือขึ้น คนร้ายผละจากผู้เสียหายไปที่โจทก์ร่วมพูดขู่โจทก์ร่วมมิให้ร้องถ้าร้องตาย ผู้เสียหายจึงถือโอกาสในตอนนั้นกระโดดลงจากเรือนและวิ่งหนีคนร้ายวิ่งตามผู้เสียหายยืนยันว่าจำคนร้ายที่ขึ้นเรือนได้คือจำเลยนี้ โดยเห็นจำเลยจากแสงไฟฉายของจำเลยเองที่ฉายขึ้นลงและส่ายไปส่ายมาและร้อยตำรวจเอกอนันต์ สืบโมรา พนักงานสอบสวนเบิกความว่าพยานสอบถามผู้เสียหายและโจทก์ร่วมคนทั้งสองบอกว่าจำหน้าคนร้ายได้เพราะจำเลยฉายไฟฉายไปกระทบมุ้ง และโจทก์ร่วมเบิกความว่านอกจากเห็นและจำจำเลยได้โดยแสงไฟฉายดังกล่าวแล้วยังจำเสียงจำเลยได้ด้วย ได้ความตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่า ผู้เสียหายและโจทก์ร่วมเป็นคนหมู่บ้านเดียวกันบ้านอยู่ห่างกันประมาณครึ่งเส้นถึงหนึ่งเส้น รู้จักคุ้นเคยกันดีดังนั้น การที่ประจักษ์พยานของโจทก์สามารถมองเห็นและจำจำเลยได้โดยแสงไฟฉายที่จำเลยส่องส่ายไปมาหรือส่องขึ้นลงซึ่งอาจจะมีบางตอนที่แสงไฟฉายผ่านหรือเฉียดใบหน้าจำเลย หรือเห็นจำเลยจากแสงสะท้อนของแสงไฟฉายที่ไปกระทบมุ้ง รวมทั้งที่โจทก์ร่วมว่าจำเลยเสียงของจำเลยได้ด้วยจึงเป็นเรื่องที่น่าเชื่ออยู่มาก และโดยเฉพาะผู้เสียหายเห็นจำเลยในระยะใกล้ชิดตอนที่จำเลยเปิดมุ้งเข้าไปใช้มือตบปากและใช้มีดจี้คอผู้เสียหายในข้อที่ว่าผู้เสียหายถูกจำเลยใช้มือตบปากนั้น ปรากฎตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ เอกสารหมาย จ.8 ว่าผู้เสียหายมีแผลที่ริมฝีปากบนซ้ายจริง โดยอยู่ตรงกับฟันซี่ที่ 2 จากกลางกว้าง 2 มิลลิเมตร ยาว 2 มิลลิเมตร และลึก 1 มิลลิเมตร จึงเป็นข้อสนับสนุนว่าผู้เสียหายเห็นจำเลยในระยะใกล้ชิดจริงและผู้เสียหายเบิกความว่าเมื่อผู้เสียหายกระโดดลงจากเรือนและวิ่งหนีแล้ว ผู้เสียหายเห็นจำเลยถือไฟฉายวิ่งตามลงมาจากบ้าน ผู้เสียหายวิ่งเสียหลักล้มลงที่รั้ว จำเลยก็วิ่งมาทันดับไฟฉายแล้วดึงผมผู้เสียหายไปทางทุ่งนา ซึ่งตามคำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวเป็นการยืนยันว่าคนร้ายที่ขึ้นเรือนและลงจากเรือนวิ่งตามมาทันผู้เสียหาย กับคนที่ดึงผมผู้เสียหายไปทางทุ่งนาเป็นคนเดียวกัน จึงรับกับข้อเท็จจริงที่ฟังได้ยุติแล้วว่าคนร้ายที่ดึงผมผู้เสียหายพาไปทางทุ่งนานั้นเป็นจำเลย กรณีย่อมฟังได้ว่าจำเลยบุกรุกขึ้นไปบนบ้านโจทก์ร่วมดังที่โจทก์ฟ้องจริง ส่วนในฐานความผิดพยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายนั้น ฝ่ายโจทก์มีผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่า เมื่อจำเลยพาผู้เสียหายไปถึงชายทุ่งนาจำเลยจี้ให้ผู้เสียหายนอนลงกับพื้นดินซึ่งยังชื้นแฉะอยู่ บอกให้ผู้เสียหายถลกผ้าถุงขึ้นมา จำเลยขณะนั้นใส่กางเกงในตัวเดียว ผู้เสียหายกลัวมาก จำเลยบอกให้ผู้เสียหายดึงเสื้อชั้นในออกด้วย ผู้เสียหายไม่ได้ใส่กางเกงชั้นในจำเลยคุกเข่าอยู่ที่ดินพยายามจูบผู้เสียหายโดยถือไฟฉายด้วยมือซ้ายและใช้มือขวาดึงกางเกงในของจำเลยลงไปไว้ที่ขา จำเลยพยายามเอาของลับของจำเลยมาใส่ของลับผู้เสียหายเอาขามาทับขาผู้เสียหาย ผู้เสียหายขอร้องมิให้จำเลยทำ บอกว่าจำเลยมีบุตรมีภรรยาอยู่แล้วอย่าทำอย่างนี้และภรรยากำลังตั้งครรภ์ และในตอนนี้มีรายละเอียดตามคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายเอกสารหมาย จ.1 ด้วยว่า ผู้เสียหายดิ้นรนอย่างแรงจำเลยจึงข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายไม่สำเร็จจำเลยก็ลุกขึ้นแล้วดึงกางเกงในขึ้นมา บอกว่าอย่าไปพูดเรื่องนี้ให้ใครฟัง ถ้าพูดแล้วจะฆ่า ระหว่างที่ผู้เสียหายนอนอยู่ที่พื้นดินนั้นได้ยินเสียงชาวบ้าน โดยโจทก์ร่วมตะโกนเรียกชาวบ้านให้ช่วยเหลือ จำเลยบอกให้ผู้เสียหายกลับบ้าน ผู้เสียหายก็เดินกลับบ้าน ส่วนจำเลยก็เดินเร็ว ๆ ลัดไปทางบ้านของจำเลยซึ่งการที่จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายไม่สำเร็จนั้นนอกจากผู้เสียหายดิ้นรนอย่างแรงและขอร้องจำเลยโดยบอกถึงความควรมิควรแล้ว จำเลยยังพะวงถึงชาวบ้านซึ่งจะติดตามมาช่วยเหลือผู้เสียหายด้วย ศาลฎีกาพิเคราะห์คำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวแล้ว เห็นว่า ผู้เสียหายอายุเพียง 17 ปี เป็นคนชนบทและได้ความตามคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.1 ว่ามีความรู้แค่จบชั้นประถมปีที่ 4 ถือว่ายังซื่อและไร้เดียงสา มากกว่าที่จะระแวงว่ามีเล่ห์กระเท่ห์ที่จะกลั่นแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษทางอาญา และเมื่อพิจารณาถึงสถานภาพของผู้เสียหาย ซึ่งยังเป็นสาวโสด ก็ยังไม่น่าเชื่อว่าจะเสกสรรปั้นเรื่องที่น่าอับอายและเป็นมลทินใส่ตนขึ้น คำเบิกความของผู้เสียหายจึงควรแก่การเชื่อถือ และฝ่ายโจทก์มีโจทก์ร่วมและนายบัวทอง พรมรินทร์ เบิกความว่าตอนผู้เสียหายกลับมานั้นตามเนื้อตามตัวและเสื้อผ้าเปื้อนโคลนเป็นการสมกับคำของผู้เสียหายที่ว่าจำเลยบังคับให้ผู้เสียหายนอนลงกับพื้นดินซึ่งยังชื้นแฉะอยู่ และนายบาน พรมรินทร์ ผู้ใหญ่บ้านเบิกความว่าในวันเกิดเหตุนั้นเองเวลาประมาณ 6 นาฬิกา โจทก์ร่วมและผู้เสียหายได้ไปแจ้งต่อพยานว่าจำเลยขึ้นไปงัดแงะบ้านพักและนำผู้เสียหายไปข่มขืนกระทำชำเรา พยานจึงแนะนำให้ไปแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจที่อำเภอเซกา และร้อยตำรวจเอกอนันต์เบิกความรับว่าวันที่ 26 มิถุนายน 2528 ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพยานกล่าวหาว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในที่พักและพยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย คำเบิกความของพยานเหล่านี้เป็นการสนับสนุนคำเบิกความของผู้เสียหายให้มีน้ำหนักมั่นคงยิ่งขึ้น ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ฟังได้โดยแจ้งชัดว่าจำเลยพยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายดังที่โจทก์ฟ้องจริงที่จำเลยนำสืบอ้างฐานที่อยู่ว่า ตามวันและเวลาที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดจำเลยอยู่ที่บ้านเรือนของจำเลยนั้น พยานจำเลยก็มีจำเลยและนายเสน ไกรรัตน์ นางสาวสุริยัน ไกรรัตน์ กับนางบานเย็น ไกรรัตน์ ซึ่งเป็นบิดาน้องสาวและภริยาของจำเลยตามลำดับ คำเบิกความของพยานเหล่านี้ย่อมมีน้ำหนักน้อย นอกจากนั้นตามที่จำเลยนำสืบว่า ในคืนเกิดเหตุที่จำเลยต้องอยู่กับบ้านเพราะต้องเฝ้าคนป่วยถึง 3 คน คือพี่ชายป่วยเกี่ยวกับโรคไขสันหลัง ภริยาก็เจ็บท้องจะคลอดบุตรและบุตรชายป่วยเป็นไข้มาลาเรีย แต่ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การตามเอกสารหมาย จ.6 ว่าในตอนเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน 2528จำเลยนำบุตรชายไปให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจรักษาเพราะสงสัยว่าจะเป็นไข้มาลาเรีย เมื่อตรวจเสร็จก็พากันกลับบ้านพอตอนเย็นรับประทานอาหารเสร็จจำเลยกับภริยาก็เข้านอนตามปกติซึ่งไม่อาจฟังได้ว่าเหตุที่จำเลยต้องอยู่บ้านในคืนนั้นเพราะต้องเฝ้าไข้ถึง 3 ราย ดังที่จำเลยนำสืบในชั้นพิจารณา ข้อต่อสู้ของจำเลยจึงไม่อยู่แก่ร่องแก่รอยส่อพิรุธ พยานฐานที่อยู่ของจำเลยไม่พอฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ปัญหาต่อมาคือที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า เฉพาะข้อหาพรากผู้เยาว์ไปไปเพื่อการอนาจารนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าผู้เสียหายกระโดดลงเรือนหนีไปจากโจทก์ร่วมเอง โดยจำเลยมิได้ชักชวนหรือบังคับให้ผู้เสียหายไปจากโจทก์ร่วมจึงยังถือไม่ได้ว่าในขณะนั้นผู้เสียหายอยู่ในความปกครองของโจทก์ร่วมแม้จะปรากฎข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายถูกบังคับไปเพื่อการอนาจารและพยายามข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำดังกล่าวก็ไม่เป็นการพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้ดูแลตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 318 นั้น เห็นว่า การที่ผู้เสียหายกระโดดลงเรือนหนีไปเกิดเพราะจำเลยเป็นต้นเหตุให้หนี ไม่ได้เกิดจากความสมัครใจของผู้เสียหายเอง และยังหลบหนีไปไม่ไกล จะถือว่าขณะนั้นผู้เสียหายไม่ได้อยู่ในความปกครองของโจทก์ร่วมไม่ได้และการที่ต่อจากนั้นจำเลยเข้าไปจับผมผู้เสียหายดึงไปทั้งขู่ไม่ให้ร้อง และพาผู้เสียหายไปที่ทุ่งนาห่างบ้านเกิดเหตุประมาณ1 เส้น เพื่อกระทำอนาจารและพยายามข่มขืนผู้เสียหายการกระทำของจำเลยจึงเป็นการพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้ดูแลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสามแล้ว”
พิพากษายืน

Share