คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3894/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 284 และ 318 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตาม มาตรา 318 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุก 4 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าเป็นความผิด 2 กระทง และแก้บทกฎหมายทั้ง 2 มาตราดังกล่าว โดยระบุวรรคเสียให้ชัดเจน แต่คงให้ลงโทษจำคุกจำเลยรวมแล้วมีกำหนด 4 ปี ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเล็กน้อย โดยยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปีคดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก
การที่ผู้เสียหายกระโดดลงจากเรือนหนีไปเกิดเพราะจำเลยเป็นต้นเหตุให้หนี ไม่ได้เกิดจากความสมัครใจของผู้เสียหายเองและยังหลบหนีไปไม่ไกลจะถือว่าขณะนั้นผู้เสียหายไม่ได้อยู่ในความปกครองของโจทก์ร่วมไม่ได้ และการที่ต่อจากนั้น จำเลยเข้าไปจับผมผู้เสียหายดึงไปทั้งขู่ไม่ให้ร้อง และพาผู้เสียหายไปที่ทุ่งนาห่างบ้านเกิดเหตุประมาณ 1 เส้น เพื่อกระทำอนาจารและพยายามข่มขืนผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดา หรือผู้ดูแลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖, ๒๘๔, ๓๑๘, ๓๖๒, ๓๖๔, ๓๖๕, ๙๑
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖, ๒๘๔,๓๑๘, ๓๖๒, ๓๖๔, ๓๖๕, ๘๐, ๙๑ ความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธ และพยายามข่มขืนกระทำชำเราเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักตามมาตรา ๒๗๖, ๘๐ จำคุก ๑๒ ปี ความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร และพาหญิงไปเพื่อการอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา ๓๑๘ จำคุก ๔ ปี รวมจำคุก ๑๖ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖ วรรคแรก, ๘๐, ๓๖๔, ๓๖๕ เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖ วรรคแรก, ๘๐ ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้จำคุก ๘ ปี กับมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๔ วรรคแรก กระทงหนึ่ง และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๘ วรรคสาม อีกกระทงหนึ่ง สำหรับโทษทั้งสองกระทงหลังนี้ คงให้จำคุก ๔ ปี ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น รวมลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด ๑๒ ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๘ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา ๓๑๘ (ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด) จำคุก ๔ ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าเป็นความผิด ๒ กระทง และแก้บทกฎหมายทั้ง ๒ มาตราดังกล่าวโดยระบุวรรคเสียให้ชัดเจน แต่คงให้ลงโทษจำคุกจำเลยรวมแล้วมีกำหนด ๔ ปี ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเล็กน้อย โดยยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี คดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคแรก ส่วนปัญหาที่จำเลยฎีกาว่าข้อหาพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า ผู้เสียหายกระโดดลงเรือหนีไปจากโจทก์ร่วมเอง โดยจำเลยมิได้ชักชวนหรือบังคับให้ผู้เสียหายไปจากโจทก์ร่วม จึงยังถือไม่ได้ว่าในขณะนั้นผู้เสียหายอยู่ในความปกครองของโจทก์ร่วม แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายถูกบังคับไปเพื่อการอนาจารและพยายามข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำดังกล่าวก็ไม่เป็นการพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้ดูแลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๘ นั้น เห็นว่า การที่ผู้เสียหายกระโดดลงเรือนหนีไปเกิดเพราะจำเลยเป็นต้นเหตุให้หนี ไม่ได้เกิดจากความสมัครใจของผู้เสียหายเอง และยังหลบหนีไปไม่ไกล จะถือว่าขณะนั้นผู้เสียหายไม่ได้อยู่ในความปกครองของโจทก์ร่วมไม่ได้ และการที่ต่อจากนั้นจำเลยเข้าไปจับผมผู้เสียหายดึงไปทั้งขู่ไม่ให้ร้อง และหาผู้เสียหายไปที่ทุ่งนาห่างบ้านเกิดเหตุประมาณ ๑ เส้น เพื่อกระทำอนาจารและพยายามข่มขืนผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดา หรือผู้ดูแลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๘ วรรคสามแล้ว
พิพากษายืน.

Share