แหล่งที่มา :
ย่อสั้น
เมื่อรูปลักษณะภายนอกเครื่องหมายการค้าพิพาทของจำเลยที่ 1 เน้นที่รูปกระทิงประดิษฐ์เป็นสำคัญ และรูปลักษณะที่เป็นคำก็เป็นอักษรโรมันหรืออักษรจีน ประชาชนจึงอาจเรียกขานเครื่องหมายการค้าพิพาทของจำเลยที่ 1 ตามรูปกระทิงประดิษฐ์ว่า “ตรากระทิง” เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์
โจทก์ได้โฆษณาสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ผ่านสื่อมวลชนต่าง ๆ จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายของสาธารณชน เมื่อเครื่องหมายการค้าพิพาทของจำเลยที่ 1 กับเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีรูปลักษณะและสำเนียงเรียกขานที่คล้ายคลึงกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดได้ แม้เครื่องหมายการค้าพิพาทของจำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใช้กับสินค้าต่างจำพวกกับของโจทก์ก็ตาม แต่ก็ใช้กับสินค้าประเภทบริโภคเช่นเดียวกัน เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบที่จะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนรวมใจความขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ให้ดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ตามคำขอเลขที่ 364995 และ 364996 ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ให้ดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ตามคำขอเลขที่ 364995 และ 364996 ให้จำเลยที่ 1 เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ตามคำขอเลขที่ 364995 และ 364996 ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยที่ 1 เลิกผลิตสินค้า โดยใช้เครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 364995 และ 364996 และเก็บสินค้าจากร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 ทั้งหมด และห้ามจำเลยที่ 1 ใช้ หรือยอมให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 364995 และ 364996 กำกับสินค้าของจำเลยที่ 1 หรือของบุคคลอื่นต่อไป
จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ทั้งสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่สั่งให้ดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 364995 และ 364996 และให้จำเลยที่ 1 เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ตามคำขอเลขที่ 364995 และ 364996 ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 1 กับให้จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 11 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ส่วนคำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสิบเอ็ดทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าพิพาทของจำเลยที่ 1 มีรูปลักษณะภายนอกที่เป็นส่วนคำมีคำว่า “Gold Cow” และรูปวัวประดิษฐ์ ซึ่งรูปลักษณะภายนอกเครื่องหมายการค้าพิพาทของจำเลยที่ 1 เมื่อพิจารณาแล้วเน้นรูปวัวประดิษฐ์หรือรูปกระทิงประดิษฐ์เป็นสำคัญ ผู้ใดเห็นรูปเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ก็รู้ว่าเป็นรูปวัวหรือกระทิงที่มีอิริยาบทคล้ายกันกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ สำหรับรูปลักษณะในส่วนของคำนั้นไม่ใช่ส่วนอันเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าพิพาท เพราะปรากฏว่าในการนำเครื่องหมายการค้าไปใช้โฆษณา หรือเผยแพร่ จำเลยที่ 1 ใช้คำว่า GOLD COW BRAND กับอักษรภาษาจีนประกอบด้วย มิได้ใช้คำว่า “Gold Cow” ตามที่จดทะเบียนไว้เท่านั้น ซึ่งในประเด็นนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้พิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าพิพาทแล้ว เห็นว่า การที่กระทิงของโจทก์หัวตกมากกว่า เขาลากดิน ขาหน้างอมากกว่า มีลายสีขาวแทรกตรงส่วนขา หางตกลงก่อนจะชี้ขึ้น มีลักษณะคล้ายคันศร และลำตัวมีสีขาวแทรก ส่วนวัวของจำเลยที่ 1 หัวเชิดมากกว่า เขาเล็กกว่าและหางชี้ขึ้นก่อนจะโค้งลงนั้น เป็นรายละเอียดปลีกย่อยไม่ถือเป็นข้อสาระสำคัญที่จะทำให้รูปเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 แตกต่างจากของโจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย เมื่อรูปลักษณะภายนอกเครื่องหมายการค้าพิพาทของจำเลยที่ 1 เน้นที่รูปกระทิงประดิษฐ์เป็นสำคัญ และรูปลักษณะที่เป็นคำก็เป็นอักษรโรมันหรืออักษรจีน ประชาชนจึงอาจเรียกขานเครื่องหมายการค้าพิพาทของจำเลยที่ 1 ตามรูปกระทิงประดิษฐ์ว่า “ตรากระทิง” เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และเครื่องหมายการค้าพิพาทของจำเลยที่ 1 กับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่างก็จดทะเบียนใช้กับรายการสินค้าประเภทบริโภคเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะต่างจำพวกกัน แต่ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบที่มิได้มีการอุทธรณ์โต้แย้งได้ความตามคำวินิจฉัยของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่า จำเลยที่ 1 เคยผลิตสินค้าเครื่องดื่มบำรุงกำลังโดยใช้เครื่องหมายการค้า “Gold Cow” ตามที่ปรากฏในภาพถ่าย (ซึ่งใช้รูปกระทิงเป็นสีแดง) และตัวแทนโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 ให้ยุติการผลิตเครื่องดื่มบำรุงกำลังดังกล่าว เพราะเป็นการหลอกลวงด้วยรูปร่างลักษณะของเครื่องดื่มบำรุงกำลัง “กระทิงแดง” ปรากฏตามหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 8 มกราคม 2540 และมีหนังสือจากสำนักงานเท แอนด์ พาร์ทเนอร์ (Tay and Partners) ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2540 แจ้งว่าได้มีการเลิกขายและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลังของจำเลยที่ 1 ในประเทศมาเลเซียแล้ว แต่ต่อมากลับปรากฏว่าเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปกระทิงและอักษรโรมันคำว่า “Gold Cow” เพื่อจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากับสินค้าจำพวก 32 รายการ สินค้าเครื่องดื่มบำรุงร่างกายในประเทศไทย ปรากฏตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 353666 อันเป็นการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าก่อนการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทในคดีนี้ ซึ่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 900/2545 วินิจฉัยสรุปว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 กับเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีเสียงเรียกขานว่า ตรากระทิงคล้ายกัน เพราะมีรูปกระทิงอยู่ในท่ากระโดดเป็นสาระสำคัญ และไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวข้างต้นเป็นการตอบโต้โจทก์ที่เคยห้ามจำเลยที่ 1 ให้ยุติการจำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลัง และมุ่งที่จะใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับเครื่องดื่มบำรุงกำลังร่างกายเป็นสำคัญยิ่งกว่าสินค้าอื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ดังกล่าวอาจถือได้ว่า จำเลยที่ 1 เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ทั้งนี้ จากการนำสืบของโจทก์ โจทก์นำพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเชื่อได้ว่าโจทก์ได้โฆษณาสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ผ่านสื่อมวลชนต่าง ๆ จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายของสาธารณชน ปรากฏตามภาพถ่ายสินค้าและพยานวัตถุ โปสเตอร์ แผ่นพับ และโปสเตอร์ขนาดเล็ก นิตยสาร หนังสือรายงานประจำปีของกรมทรัพย์สินทางปัญญา และแถบบันทึกภาพรายการจับกระแสโลก ดังนั้น เมื่อเครื่องหมายการค้าพิพาทของจำเลยที่ 1 กับเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีรูปลักษณะและสำเนียงเรียกขานที่คล้ายคลึงกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดได้ เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบที่จะรับจดทะเบียนให้ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาประการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 899/2545 และที่ 901/2545 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.