คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4676/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 ที่บัญญัติให้ผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการดังกล่าวเป็นที่สุดนั้น ต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลมีอำนาจพิจารณาถึงความชอบหรือไม่ชอบในเหตุผลของคำวินิจฉัยหรือคำสั่งว่าได้วินิจฉัยไปโดยชอบด้วยข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานและถูกต้องด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือไม่ด้วย
ตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่า คำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของนายทะเบียนเครื่องหมายค้าจำเลยที่ 11 และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 11 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ได้
การพิจารณาว่าคำสั่งของจำเลยที่ 11 หรือคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะว่าคำสั่งหรือคำวินิจฉัยดังกล่าวจะต้องเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตหรือมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์เท่านั้น และคดีนี้ไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 11 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 รับผิดเป็นการส่วนตัว แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 11 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ที่ได้กระทำไปตามหน้าที่ ทั้งโจทก์ได้อ้างเหตุผลที่ว่าคำสั่งของจำเลยที่ 11 และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเหตุใดในคำฟ้องแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำว่า NEWMAX นำมาจากส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายค้าซึ่งเครื่องหมายการค้าคำว่า NEWMAX เป็นคำภาษาอังกฤษ แม้พิจารณาแยกกัน คำว่า NEW แปลว่า ใหม่ และคำว่า MAX เป็นคำย่อมาจาก MAXIMUM แปลว่าสูงสุด แต่เมื่อเป็นคำรวมกันว่า NEWMAX ไม่มีคำแปลและไม่ได้สื่อให้เกิดความหมายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่แสดงถึงรุ่นใหม่ที่สุดหรือสมัยใหม่ที่สุด ทั้งโจทก์ได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า NEWMAX เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 26 รายการสินค้ากระดุมแป๊บ ที่ยึดแบบเลื่อน ซิป ที่ยึดซิป หัวเข็มขัดใช้กับเสื้อผ้า/รองเท้า กระดุมตะขอ ตาไก่ใช้กับเสื้อผ้า ตรา/เครื่องแสดงสัญลักษณ์ติดเสื้อผ้าที่ไม่ได้ทำด้วยโลหะ ซึ่งเป็นสินค้าเกี่ยวกับการออกแบบแฟชั่น เครื่องหมายการค้า คำว่า NEWMAX สำหรับสินค้าจำพวก 26 ที่โจทก์รับโอนสิทธิในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาจึงมีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 (1), (2) อันพึงจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 บริษัทสโกวิลล์ เจแปน คาบูชิกิ ไคชา จำกัด แห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า NEWMAX เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 26 ตามคำขอเลขที่ 418237 และต่อมาบริษัทสโกวิลล์ เจแปน คาบูชิกิ ไคชา จำกัด ได้โอนสิทธิในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 11 มีคำสั่งไม่รับจดทะเบียน เนื่องจากเห็นว่า “NEW” แปลว่า ใหม่ สมัยใหม่ “MAX” มาจากคำว่า “MAXIMUM” แปลว่าขีดสูงสุด รวมกันอาจแปลว่า ความใหม่มาก ๆ จึงเป็นการเล็งถึงคุณสมบัติของสินค้า ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ โจทก์จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า พร้อมอ้างส่งสำเนาทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “NEWMAX” ที่ได้รับจดทะเบียนในประเทศสหราชอาณาจักรฝรั่งเศส เยอรมัน ออสเตรเลีย ฮ่องกง และไต้หวัน เพื่อประกอบการพิจารณา แต่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการและมีจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 เป็นกรรมการ มีคำวินิจฉัยยืนตามคำปฏิเสธของจำเลยที่ 11 โดยฟังว่า คำว่า “NEWMAX” หมายถึง แบบใหม่สุด รุ่นใหม่สุด สมัยใหม่ที่สุด เมื่อนำมาใช้กับสินค้าตามที่ยื่นขอจดทะเบียน ทำให้เข้าใจได้ว่า เป็นกระดุมแป๊บแบบใหม่ล่าสุด รุ่นใหม่ล่าสุด นับว่าเป็นคำที่เล็งถึงคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ จึงไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียน อย่างไรก็ตามคำสั่งของจำเลยที่ 11 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำว่า “NEWMAX” เป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ไม่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าตามที่ขอจดทะเบียนอันจะต้องห้ามรับจดทะเบียน โดยคำว่า “NEWMAX” เป็นคำที่โจทก์คิดประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นเครื่องหมายการค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้า คำว่า “NEWMAX” นี้ แตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นและเป็นคำประดิษฐ์ที่ไม่มีความหมายหรือคำแปล คำนี้จึงไม่มีความหมายหรือสื่อความหมายไม่ได้ดังที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 วินิจฉัยอันเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 11 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 11 รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 418237
จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากเมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียน ผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายค้าและให้ถือว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นที่สุด จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและมีคำสั่งคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เลขที่ 418237 คงเป็นอำนาจของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่จะมีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีอำนาจบังคับบัญชานายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า นอกจากนี้จำเลยที่ 2 หาได้เข้าร่วมประชุมเป็นประธานวินิจฉัยอุทธรณ์ตามฟ้องด้วยไม่ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 11 ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายค้าของบริษัทสโกวิลล์ เจแปน คาบูชิกิ ไคชา จำกัด รูปเครื่องหมาย “NEWMAX” ใช้กับสินค้าจำพวก 26 เนื่องจากเป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะอันจะพึงรับจดทะเบียนเพราะไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ บริษัทสโกวิลล์ เจแปน คาบูชิกิ ไคชา จำกัด จึงอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 11 ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 ว่า เครื่องหมายการค้า คำว่า NEWMAX เป็นคำประดิษฐ์ที่บริษัทคิดขึ้นเพื่อใช้เป็นชื่อภาคส่วนประกอบของชื่อบริษัทที่ควบกิจการกับ YKK Newmax Co., Ltd. เพื่อขอรับความคุ้มครองตามกฎหมาย หาได้นำมาใช้เพื่อบรรยายหรือทำให้สาธารณชนเล็งเห็นถึงคุณสมบัติหรือประเภทของสินค้า คำประดิษฐ์ “NEWMAX” เป็นเพียงคำเดียว มิได้เป็นคำ NEW และ MAXIMUM ดังที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าสื่อความหมายว่า “ความใหม่มาก ๆ ” เพราะไวยากรณ์ภาษาอังกฤษคำวิเศษณ์จะต้องอยู่ด้านหน้า MAX ไม่ใช่คำวิเศษณ์ของ NEW และ MAX ใช้เพื่อแสดงจำนวนหรือปริมาณ หากจะหมายถึงความใหม่ที่สุดแล้วจะใช้คำว่า “NEWWEST” พร้อมหลักฐานแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า NEWMAX ในต่างประเทศ และการโอนสิทธิในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่โจทก์ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 พิจารณาอุทธรณ์เห็นว่า คำว่า NEWMAX หมายถึงแบบใหม่ที่สุด รุ่นใหม่ที่สุด สมัยใหม่ที่สุด เมื่อนำมาใช้กับสินค้าตามที่ยื่นขอจดทะเบียน ทำให้เข้าใจว่าเป็นกระดุมแป๊บแบบใหม่ล่าสุด รุ่นใหม่ล่าสุด นับว่าเล็งถึงคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เครื่องหมายการค้าของผู้อุทธรณ์จึงไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีมติยืนตามคำปฏิเสธของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและให้ยกอุทธรณ์ อย่างไรก็ตามคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 11 ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบและขั้นตอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 11 จึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 11 และเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ตามคำขอเลขที่ 418237 และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 11 ดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 418237 กับให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 2,000 บาท
จำเลยทั้งสิบเอ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบเอ็ดในประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 11 และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสิบเอ็ดอ้างในอุทธรณ์ว่า นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 11 ได้มีคำวินิจฉัยไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ได้ยื่นขอจดทะเบียนไว้โดยสุจริต มีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอ และไม่มีเจตนาจงใจทำให้โจทก์เสียหายเช่นเดียวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ที่พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามกฎหมาย จึงได้มีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 11 คำสั่งของจำเลยที่ 11 และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 จึงเป็นคำสั่งหรือคำวินิจฉัยทางปกครองซึ่งการตรวจสอบควรจำกัดอยู่แต่เฉพาะว่า ฝ่ายปกครองได้กระทำการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่ เป็นการกระทำเกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่ คำวินิจฉัยนั้นมีเหตุผลและมีพยานหลักฐานสนับสนุนหรือไม่ และได้ดำเนินการตามกระบวนพิจารณาที่เป็นธรรมและใช้ดุลพินิจที่ถูกต้องหรือไม่ โดยศาลยุติธรรมไม่ควรเข้าไปวินิจฉัยปัญหาที่ต้องการความรู้ความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านดังเช่นกรณีของคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ประกอบด้วยกรรมการซึ่งมีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์และทรงคุณวุฒิที่ได้มีคำวินิจฉัยในคดีนี้นั้น เห็นว่า คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 11 ก็ดี คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ก็ดี เป็นคำวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร แม้ว่าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 จะบัญญัติให้ผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการดังกล่าวเป็นที่สุดก็ตาม แต่คำวินิจฉัยที่จะเป็นที่สุดดังกล่าวต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ได้หมายความว่า แม้คำวินิจฉัยดังกล่าวจะไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นเป็นที่สุด ซึ่งในการพิจารณาความถูกต้องตามกฎหมายหรือความไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ ศาลย่อมต้องมีอำนาจพิจารณาถึงความชอบหรือไม่ในเหตุผลของคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของจำเลยที่ 11 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ว่าได้วินิจฉัยไปโดยชอบด้วยข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานและถูกต้องด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือไม่ด้วย ซึ่งปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่า คำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 11 และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 2 ถึงที่ 10 ที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 11 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ได้ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบเอ็ดข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบเอ็ดมีว่าโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 11 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเหตุใด และไม่ได้กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 11 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ได้มีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยโดยมีเจตนาไม่สุจริตหรือมีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสิบเอ็ดนั้น เห็นว่า การพิจารณาว่าคำสั่งของจำเลยที่ 11 หรือคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะว่าคำสั่งหรือคำวินิจฉัยดังกล่าวจะต้องเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตหรือมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์เท่านั้น และคดีนี้ไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 11 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 รับผิดเป็นการส่วนตัว แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 11 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ที่ได้กระทำไปตามหน้าที่ ทั้งโจทก์ได้อ้างเหตุผลที่ว่าคำสั่งของจำเลยที่ 11 และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเหตุใดในคำฟ้องแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสิบเอ็ดที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า เครื่องหมายการค้า คำว่า NEWMAX ของโจทก์ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 418237 เป็นเครื่องหมายการค้าที่ชอบจะจดทะเบียนได้หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสิบเอ็ดอุทธรณ์โต้แย้งว่า เครื่องหมายการค้า คำว่า NEWMAX ของโจทก์เป็นคำที่เล็งถึงคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันจะพึงรับจดทะเบียนได้ คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 11 ที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ที่มีมติยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 11 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ในปัญหานี้ โจทก์นำสืบว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า คำว่า NEWMAX ซึ่งได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในหลายประเทศ และโจทก์ได้ผลิตจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า คำว่า NEWMAX แพร่หลายในหลายประเทศรวมทั้งในประเทศไทยการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเพื่อแสดงให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นของโจทก์ เครื่องหมายการค้า คำว่า NEWMAX มาจากส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลโจทก์ (YKK Newmax Co., Ltd.) โดยการควบบริษัทกับบริษัทสโกวิลล์ เจแปน คาบูชิกิ ไคชา จำกัด ได้โอนสิทธิในคำขอจดทะเบียนให้แก่โจทก์ก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะมีมติยืนตามคำปฏิเสธของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและให้ยกอุทธรณ์ โจทก์เห็นว่า คำว่า NEWMAX เขียนติดกันไม่มีคำแปล ไม่มีความหมาย แต่เป็นคำประดิษฐ์ หากพิจารณาแยกกัน คำว่า NEW หมายความว่า ใหม่ และคำว่า MAX ย่อมาจากคำว่า MAXIMUM ที่มีความหมายว่า มีจำนวนหรือปริมาณสูงสุด เมื่อรวมกันคำว่า NEWMAX ไม่มีความหมายเกี่ยวข้องใด ๆ กับสินค้าที่ขอจดทะเบียน คำว่า “แบบใหม่ที่สุด” “รุ่นใหม่ที่สุด” ภาษาอังกฤษใช้ “(the) lastest pattern/model” คำว่า “สมัยใหม่ที่สุด” ภาษาอังกฤษใช้ “(the) newest age/generation” ส่วนจำเลยทั้งสิบเอ็ดนำสืบว่า คำว่า NEWMAX ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เพราะคำว่า NEW แปลว่า ความใหม่มาก ๆ จึงเป็นคำที่มีความหมายเล็งถึงคุณสมบัติของสินค้า เมื่อนำไปใช้กับสินค้าตามที่ขอจดทะเบียนทำให้เข้าได้ว่า เป็นสินค้าแบบใหม่ล่าสุด รุ่นใหม่ที่สุด สมัยใหม่ที่สุด จึงเป็นคำที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ เห็นว่า โจทก์นำสืบได้ว่า คำว่า NEWMAX นำมาจากส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งเครื่องหมายการค้า คำว่า NEWMAX เป็นคำภาษาอังกฤษ แม้พิจารณาแยกกัน คำว่า NEW แปลว่า ใหม่ และคำว่า MAX เป็นคำย่อมาจาก MAXIMUM แปลว่าสูงสุด แต่เมื่อเป็นคำรวมกันว่า NEWMAX คำนี้ไม่มีคำแปลและไม่ได้สื่อให้เกิดความหมายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่แสดงถึงรุ่นใหม่ที่สุดหรือสมัยใหม่ที่สุด ทั้งโจทก์ได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า NEWMAX เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 26 รายการสินค้า กระดุมแป๊บ ที่ยึดแบบเลื่อน ซิ ป ที่ยึดซิป หัวเข็มขัดใช้กับเสื้อผ้า/รองเท้า กระดุมตะขอ ตาไก่ใช้กับเสื้อผ้า ตรา/เครื่องแสดงสัญลักษณ์ติดเสื้อผ้าที่ไม่ได้ทำด้วยโลหะ ซึ่งเป็นสินค้าเกี่ยวกับการออกแบบแฟชั่น จึงถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นคำประดิษฐ์ที่มีลักษณะพิเศษหรือเฉพาะและไม่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงตามที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดอ้างในอุทธรณ์แต่ประการใด พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลยทั้งสิบเอ็ด ฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้า คำว่า NEWMAX สำหรับสินค้าจำพวก 26 ที่โจทก์รับโอนสิทธิในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามามีลักษณะบ่งเฉพาะตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 (1), (2) อันพึงจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 11 และเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ตามคำขอเลขที่ 418237 และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 11 ดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ตามคำขอเลขที่ 418237 ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบเอ็ดทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share