คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3888/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ดวงตราของโจทก์ที่ประทับในใบแต่งทนายความมีรูปร่างลักษณะ และรายละเอียดตัวอักษรในดวงตราเหมือนกับดวงตราที่จดทะเบียนไว้ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนของกรมทะเบียนการค้าทุกประการต่างกันแต่เพียงว่ามีขนาดไม่เท่ากัน ดังนี้ เมื่อกรมทะเบียนการค้าไม่มีระเบียบข้อบังคับว่าดวงตราที่ใช้ประทับจะต้องมีขนาดเท่าดวงตราที่จดทะเบียนไว้ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้ดวงตราที่ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับประทับในใบแต่งทนายความ อีกทั้งในระหว่างสืบพยานโจทก์ โจทก์ได้ยื่นใบแต่งทนายความใหม่มีกรรมการของบริษัทลงชื่อและประทับตราถูกต้องตามข้อบังคับที่จดทะเบียนไว้ต่อศาลและให้สัตยาบันแก่กระบวนพิจารณาที่ทนายโจทก์ได้ดำเนินไปแล้วศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต การยื่นคำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัยแก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกเอาแก่จำเลยผู้ขนส่ง มิได้ฟ้องบังคับคดีตามสัญญาประกันภัยจึงไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 วรรคแรกอันจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ ฝ่ายที่ต้องรับผิดมาแสดงจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ และไม่ตกอยู่ภายในบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เพราะมิใช่กรณีมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ข้อตกลงใช้ค่าเสียหายที่ไม่ชัดเจน ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นว่า มีจำนวนเท่าใดแน่นอน จึงไม่ระงับข้อพิพาทที่จะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างผ่อนผันให้แก่กัน ไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ เครื่องจักรแม้จะมีราคาหลายล้านบาท แต่ก็เป็นสินค้าธรรมดาสามัญทั่วไปที่มีราคาสูงเท่านั้น ไม่ใช่ของมีค่าตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 620 จำเลยที่ 1 รับจ้าง ส. ขนเครื่องจักร แล้วไปติดต่อจำเลยที่ 3ให้จัดหารถบรรทุกเครื่องจักรให้ จำเลยที่ 3 ออกใบเสร็จรับเงินและใบรับของให้จำเลยที่ 1 และติดต่อหารถบรรทุกให้ ซึ่งเป็นรถที่จดทะเบียนใช้ใบอนุญาตประกอบการขนส่งและดำเนินการรับจ้างขนส่งสินค้าในนามของจำเลยที่ 5 โดยระบุในหนังสือแสดงการจดทะเบียนว่าจำเลยที่ 5 มีสิทธิครอบครองและใช้ประกอบการขนส่งไปบรรทุกเครื่องจักรให้ ส. พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5เป็นการขนส่งหลายคนหลายทอด ดังนั้นเมื่อเครื่องจักรบุบสลายระหว่างขนส่ง จะต้องร่วมกันรับผิด จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 จึงต้องร่วมรับผิดด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับขนส่งสินค้า โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 4และที่ 6 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ตามลำดับโจทก์รับประกันภัยการขนส่งเครื่องปิดฉลากอากรแสตมป์ขวดสุราของบริษัทสุราทิพย์ยุคนธร จำกัด ผู้เอาประกันภัยจำนวน 3 เครื่องจากต้นทางที่โกดังอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ไปยังปลายทางที่โรงงานของผู้เอาประกันภัยที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยสัญญาว่าหากเครื่องจักรได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่ง โจทก์จะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยไม่เกินวงเงิน 5,500,000บาท จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 7 ได้ร่วมกันรับขนเครื่องจักรดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ตกลงรับจ้างจากบริษัทสุราทิพย์ยุคนธร จำกัด แล้วจำเลยที่ 1 ว่าจ้างมอบหมายให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ร่วมรับขนอีกทอดหนึ่งและจำเลยที่ 3 ว่าจ้างมอบหมายให้จำเลยที่ 5 เป็นผู้ร่วมรับขนทอดสุดท้ายโดยจำเลยที่ 5 นำรถยนต์บรรทุกของตน เข้าทำการขนส่งมีจำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ขับ จำเลยที่ 7 ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวบรรทุกเครื่องปิดฉลากอากรแสตมป์ขวดสุราที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไปตามเส้นทางการขนส่งลอดใต้สะพานรถไฟในเขตอำเภอวารินชำราบจังหวัดอุบลราชธานี ด้วยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังเป็นเหตุให้เครื่องจักรดังกล่าว 2 เครื่องชนครูดไปกับสะพานรถไฟได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว จำนวน 800,000 บาท จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ตามลำดับต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1, ที่ 3, ที่ 5 และที่ 7 ใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันที่โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิเป็นต้นไป จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์ไม่ได้รับประกันภัยเครื่องปิดฉลากอากรแสตมป์ ขวดสุราและไม่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยจึงไม่ได้รับช่วงสิทธิตามฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่เคยมอบหมายให้จำเลยที่ 5 ที่ 6 ที่ 7ขนส่งสินค้าตามฟ้อง จำเลยที่ 3 ไม่เคยรับจ้างบริษัทสุราทิพย์ยุคนธร จำกัด ขนส่งเครื่องจักรตามฟ้องหรือร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 5 ที่ 7 ขนส่งเครื่องจักรดังกล่าว รถยนต์บรรทุก ไม่ใช่ของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 7 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 หรือจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 5 ที่ 6 ไม่เคยรับจ้างขนส่งหรือร่วมกับจำเลยอื่นขนส่งเครื่องจักรของบริษัทสุราทิพย์ยุคนธร จำกัด รถบรรทุกคันดังกล่าวเป็นของนายสุชาติ เทพาอภิรักษ์ จำเลยที่ 7 เป็นลูกจ้างของนายสุชาติ ซึ่งได้ประนีประนอมยอมความใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทสุราทิพย์ยุคนธร จำกัด แล้ว ผู้ว่าจ้างและผู้ส่งปกปิดไม่บอกราคาหรือสภาพสิ่งของที่ขนส่งจึงไม่ต้องรับผิด โจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันเกิดเหตุจึงขาดอายุความ ค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกิน 50,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ร่วมกันใช้เงินจำนวน 800,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ฎีกาข้อแรกว่า ทนายโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีเพราะดวงตราที่ประทับในใบแต่งทนายความไม่ใช่ดวงตราของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ เห็นว่าดวงตราที่ประทับในใบแต่งทนายความของโจทก์ มีรูปร่าง ลักษณะ และรายละเอียดตัวอักษรในดวงตราเหมือนกับดวงตราที่จดทะเบียนไว้ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.15 จ.16 ทุกประการต่างกันแต่เพียงว่ามีขนาดไม่เท่ากัน นางกฤษณา นาสิมมา นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครพยานโจทก์เบิกความว่า กรมทะเบียนการค้าไม่มีระเบียบข้อบังคับว่าดวงตราที่ใช้ประทับจะต้องมีขนาดเท่าดวงตราที่จดทะเบียนไว้ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้ดวงตราที่ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับประทับในใบแต่งทนายความข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1462/2508ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงคดีนี้อย่างไรก็ดี ในระหว่างสืบพยานโจทก์โจทก์ได้ยื่นใบแต่งทนายความใหม่มีกรรมการของบริษัทสองคนลงชื่อและประทับตราถูกต้องตามข้อบังคับที่จดทะเบียนไว้ต่อศาลและให้สัตยาบันแก่กระบวนพิจารณาที่ทนายโจทก์ได้ดำเนินไปแล้วศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต การยื่นคำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายโจทก์มีอำนาจฟ้อง ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ฎีกาข้อสองว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้รับประกันภัยเครื่องปิดฉลากอากรแสตมป์ขวดสุราจากบริษัทสุราทิพย์ยุคนธร จำกัดตามฟ้อง เพราะผู้ลงชื่อในกรมธรรม์ประกันภัยไม่ใช่กรรมการของโจทก์และดวงตราที่ประทับไม่ถูกต้องตามข้อบังคับที่จดทะเบียนไว้ เท่ากับว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยนั้นเห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยในการรับขนเครื่องจักรของบริษัทสุราทิพย์ยุคนธร จำกัด ผู้เอาประกันภัยซึ่งได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ขนส่งเครื่องจักร 2 เครื่อง และได้เสียหายในระหว่างการขนส่งอันจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จะต้องร่วมกันรับผิดโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัยแก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว จึงได้รับช่วงสิทธิตามกฎหมายมาฟ้องเรียกเอาแก่จำเลยผู้ขนส่ง ไม่ใช่กรณีที่ฟ้องร้องให้บังคับคดีตามสัญญาประกันภัยจึงไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 วรรคแรกอันจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดมาแสดงจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ และไม่ตกอยู่ภายในบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เพราะมิใช่กรณีมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง คำพยานบุคคลของโจทก์ก็ฟังได้โดยไม่ต้องอาศัยเอกสาร คดีนี้โจทก์มีนายพิพัฒน์ พูนพัฒน์ปรีชารักษาการรองผู้จัดการสำนักจัดหากลุ่มบริษัทสุราทิพย์ จำกัดและนายสมชาย ศุภปิโยดมศิริ ผู้จัดการแผนกอัคคีภัยของโจทก์มาเบิกความว่า บริษัทสุราทิพย์ยุคนธร จำกัด ได้เอาประกันภัยในการขนส่งเครื่องปิดฉลากอากรแสตมป์ขวดสุราที่จะส่งไปยังโรงงานของบริษัทที่จังหวัดอุบลราชธานีไว้กับโจทก์ โดยบริษัทได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่ง เมื่อเครื่องจักรดังกล่าวได้รับความเสียหายในระหว่างขนส่งโจทก์ได้ใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทแล้วตามหลักฐานการรับช่วงสิทธิ เอกสารหมาย จ.28 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยในการรับขนเครื่องจักรดังกล่าวไว้จากบริษัทสุราทิพย์ยุคนธร จำกัด ตามฟ้อง ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ฎีกาข้อสามว่า หลังเกิดเหตุ ตัวแทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 7 ได้ทำความตกลงยอมรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่ตัวแทนของบริษัทสุราทิพย์ยุคนธร จำกัด ตามบันทึกประจำวันเอกสารหมาย จ.24 แล้ว สิทธิตามสัญญารับขนของบริษัทสุราทิพย์ยุคนธรจำกัด จึงระงับไปตามผลของสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวโจทก์ไม่อาจรับช่วงสิทธิจากบริษัทดังกล่าวได้อีกต่อไป เห็นว่าข้อตกลงใช้ค่าเสียหายดังกล่าวไม่ชัดเจนไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นว่ามีจำนวนเท่าใดแน่นอน จึงไม่อาจระงับข้อพิพาทที่จะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างผ่อนผันให้แก่กัน ไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ สิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายของบริษัทสุราทิพย์ยุคนธร จำกัด ผู้ส่งจากจำเลยผู้ขนส่งจึงไม่ระงับโจทก์มีอำนาจรับช่วงสิทธิจากบริษัทดังกล่าวมาฟ้องเรียกเอาแก่จำเลยได้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ฎีกาข้อสี่ว่า เครื่องปิดฉลากอากรแสตมป์ขวดสุราที่จำเลยขนส่งเป็นของมีค่า บริษัทสุราทิพย์ยุคนธร จำกัดผู้ส่งมิได้บอกราคาหรือสภาพให้จำเลยทราบในขณะส่งมอบ จำเลยผู้ขนส่งจึงไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 620เห็นว่า เครื่องจักรดังกล่าวแม้จะมีราคาหลายล้านบาท แต่ก็เป็นสินค้าธรรมดาสามัญทั่วไปที่มีราคาสูงเท่านั้น ไม่ใช่ของมีค่าพิเศษตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 620 จำเลยจึงไม่อาจยกมาตราดังกล่าวขึ้นปฏิเสธความรับผิด ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ฎีกาข้อหาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ไม่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์นั้น พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบได้ความว่าการขนส่งเครื่องปิดฉลากอากรแสตมป์ขวดสุราของบริษัทสุราทิพย์ยุคนธรจำกัด จากกรุงเทพมหานครไปยังโรงงานที่จังหวัดอุบลราชธานีมีผู้ขนส่งหลายคนคือจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดที่มีวัตถุประสงค์รับขนส่ง จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการนำสืบรับว่าได้รับจ้างบริษัทสุราทิพย์ยุคนธร จำกัดขนส่งเครื่องจักรดังกล่าวจริง โดยได้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ให้เป็นผู้รับขนส่งช่วง จำเลยที่ 4 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 3เบิกความรับว่า จำเลยที่ 2 เคยขอให้พยานช่วยจัดหารถบรรทุกไปขนส่งเครื่องจักรตามฟ้องโดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินและใบรับของให้จำเลยที่ 1 แต่อ้างว่าเป็นแผ่นเหล็กไม่ใช่เครื่องจักรจึงคิดค่าขนส่งจากจำเลยที่ 1 ในราคาถูก พยานได้ติดต่อนายสุชาติน้องชายส่งรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปบรรทุกของที่ห้างจำเลยที่ 1เมื่อเกิดเหตุแล้ว จึงทราบว่าของที่รับขนส่งเป็นเครื่องปิดฉลากอากรแสตมป์ขวดสุรา เห็นว่าข้ออ้างดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนส่งด้วยกัน ไม่เกี่ยวกับบริษัทสุราทิพย์ยุคนธร จำกัด ผู้ว่าจ้างและโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับขนส่งช่วงในการขนส่งหลายคนดังกล่าวปัญหาต่อไปมีว่าจำเลยที่ 5 เป็นผู้ขนส่งในการขนส่งของรายนี้ด้วยหรือไม่ ทางพิจารณาได้ความว่า นายประยูร บุตรน้อย จำเลยที่ 7เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ศ.ก.80-0080 คันเกิดเหตุโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้เครื่องปิดฉลากอากรแสตมป์ขวดสุรา 2 เครื่อง ชนราวสะพานรถไฟที่อำเภอวารินชำราบจังหวัดอุบลราชธานีจนชำรุดใช้การไม่ได้ จำเลยที่ 5 ประกอบธุรกิจโรงสี และได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการขนส่งมีรถใช้ในกิจการประมาณ20 คัน โดยมีจำเลยที่ 6 เป็น หุ้นส่วนผู้จัดการ นายสมชัยเอื้อประเสริฐ เบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 5 ว่าเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุโดยเช่าซื้อจากผู้มีชื่อ แล้วนำไปจดทะเบียนมีชื่อร่วมในใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งกับจำเลยที่ 5 แต่นายสมชัยดำเนินกิจการรับขนส่งของเป็นส่วนตัว ต่อมานายสมชัยได้ขายรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุแก่นายสุชาติ เทพาอภิรักษ์น้องชายจำเลยที่ 4 และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 3 สาขาศรีสะเกษ จำเลยที่ 5 ที่ 6 จึงไม่ได้ร่วมในการขนส่งของรายนี้กับจำเลยที่ 3 ที่ 4 แต่จำเลยฎีกาว่า เมื่อนายสุชาติได้เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุแล้ว จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นเพื่อนกับนายสุชาติ ยังคงยินยอมให้นายสุชาติ มีชื่อร่วมในใบอนุญาตประกอบการขนส่งกับจำเลยที่ 5 ต่อไป ดังนั้นถึงแม้จะฟังดังที่จำเลยที่ 5 นำสืบ ข้อเท็จจริงก็ยังต้องฟังว่าขณะเกิดเหตุรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุได้จดทะเบียนใช้ใบอนุญาตประกอบการขนส่งของจำเลยที่ 5 ตามเอกสารหมาย ป.จ.4 ของศาลจังหวัดศรีสะเกษ ดำเนินการรับจ้างขนส่งสินค้าในนามของจำเลยที่ 5 โดยระบุในหนังสือแสดงการจดทะเบียนเอกสารหมาย ป.จ.3 ว่าจำเลยที่ 5 มีสิทธิครอบครองและใช้รถประกอบการขนส่ง จำเลยที่ 5 จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามิได้เป็นผู้ขนส่งเครื่องจักรรายนี้ เมื่อของที่ขนส่งโดยมีผู้ขนส่งหลายคนบุบสลายเสียหายในระหว่างการขนส่งจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ผู้ขนส่งทั้งนั้นจึงต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 จึงต้องร่วมรับผิดด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share