คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3880/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์จำนองที่ดินเป็นประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยต่อธนาคาร เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์ได้ชำระหนี้แทนจำเลยไปตามจำนวนที่จำเลยเป็นหนี้ธนาคาร โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยให้จำเลยใช้เงินคืนตามจำนวนที่โจทก์ได้ชำระให้แก่ธนาคารไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 724 แต่โจทก์มิได้ใช้สิทธิไล่เบี้ย กลับตกลงกับจำเลยทำหนังสือสัญญาไว้ต่อกัน มีข้อความสรุปว่า จำเลยเป็นหนี้เงินกู้ ศ.และโจทก์เป็นเงิน 300,000 บาทจำเลยได้มอบเช็คจำนวน 6 ฉบับ ฉบับละ 50,000 บาท ไว้เป็นประกันเงินกู้และจำเลยจะต้องผ่อนชำระเงินกู้ให้โจทก์เดือนละ 3,000 บาทจนกว่าจะครบ กรณีดังกล่าวถือได้ว่ามีหนี้ใหม่เกิดขึ้น เป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่มีผลให้หนี้เดิมระงับไป ดังนั้นโจทก์ชอบที่จะฟ้องบังคับจำเลยตามมูลหนี้ใหม่ตามหนังสือสัญญาดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด จำนวน 300,000 บาท โดยโจทก์จำนองที่ดินเป็นประกัน ต่อมาจำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัดโจทก์ได้ชำระแทนแล้วเรียกเงินดังกล่าวจากจำเลย จำเลยได้ชำระให้โจทก์เพียง 9,000 บาท ยังคงค้างชำระรวมต้นเงินและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 298,275 บาท ขอให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้จำนองที่ดินเพื่อประกันเงินกู้ให้แก่จำเลยจริง จำเลยไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่ธนาคารที่จำเลยกู้ได้โจทก์จึงให้จำเลยทำสัญญากู้ไว้โดยโจทก์ยืนยันว่าจะไม่ใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยเกี่ยวกับการค้ำประกัน แต่จะให้ผูกพันตามสัญญากู้ซึ่งจำเลยชำระให้แก่โจทก์แล้ว 9,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยไม่สามารถชำระได้โจทก์จึงนำคดีเกี่ยวกับการค้ำประกันมาฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด โดยโจทก์นำที่ดินของโจทก์มาจำนองเพื่อเป็นประกันการกู้ไว้ต่อธนาคารดังกล่าว ต่อมาจำเลยไม่ชำระหนี้แก่ธนาคาร โจทก์จึงชำระหนี้แทนจำเลยเป็นเงิน300,000 บาท และโจทก์จำเลยได้ร่วมกันทำเอกสารหมาย ล.1 โดยโจทก์ยอมให้จำเลยผ่อนชำระเงินเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งจำเลยได้ชำระแก่โจทก์แล้ว 3 งวด เป็นเงิน 9,000 บาท คงค้างอีก 291,000 บาท แล้วจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2530 ปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกามีเพียงว่า เอกสารหมาย ล.1 ที่โจทก์จำเลยทำไว้ต่อกันเป็นหลักฐานเกี่ยวกับการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ชำระหนี้ให้ธนาคารแทนจำเลยไปจำนวน 300,000 บาท ครบถ้วนตามจำนวนที่จำเลยเป็นลูกหนี้ธนาคาร โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยให้จำเลยใช้เงินคืนตามจำนวนที่โจทก์ได้ชำระให้แก่ธนาคารไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 724 แต่โจทก์มิได้ใช้สิทธิไล่เบี้ยดังกล่าว กลับตกลงกับจำเลยทำหนังสือสัญญาไว้ต่อกันตามเอกสารหมาย ล.1 มีข้อความสรุปว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้นายเศรษฐวาล จงสถิตย์ไพบูลย์ และโจทก์เป็นเงิน 300,000 บาท จำเลยจะต้องผ่อนชำระเงินกู้ให้โจทก์เดือนละ3,000 บาท จนกว่าจะครบ กรณีดังกล่าวถือได้ว่ามีหนี้ใหม่เกิดขึ้นตามเอกสารหมาย ล.1 เป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นในสาระสำคัญแห่งหนี้จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ มีผลทำให้หนี้เดิมระงับไป ดังนั้นโจทก์ชอบที่จะฟ้องบังคับจำเลยตามมูลหนี้ใหม่ในเอกสารหมาย ล.1ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share